เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : คนท้องถิ่นคือคุณภาพ

มาถึงวาระที่ต้องเดินทางไปดูงานในต่างจังหวัดอีกครั้ง คราวนี้ไปที่จังหวัดเชียงราย ที่มี วันชัย จงสุทธานามณี ผู้เข้าร่วมรับการอบรม เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงราย คอยต้อนรับ

เมื่อเดินทางไปถึงเทศบาลนครเชียงราย มีโอกาสไปดูงานที่โรงเรียนเทศบาลเชียงรายของเทศบาลนครเชียงราย และในช่วงเช้านั้น ปรับกำหนดการให้เป็นการเสวนาเรื่องการบริหารการปกครองท้องถิ่นไทย

โดยนายกเทศมนตรีจากหลายเมือง

คนแรกคือ นายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ชลบุรี ว่าถึงเรื่องภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น สรุปได้ดังนี้

เริ่มต้นจากสังคมคาร์บอนต่ำ (ไม่ใช่สังคมไม่เอาถ่านนะครับ) เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นปรารถนาทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น นับแต่ปี 1960 สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด ในชั้นบรรยากาศถูกทำลายมาอย่างยาวนาน โอโซนบริสุทธิ์ถูกทำลาย จึงต้องร่วมกันรณรงค์ให้ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้ลดลง โดยมีสมาคมสันนิบาต (องค์กรของเทศบาลทั้งประเทศ) ของประเทศไทยเป็นแกนกลาง ร่วมมือกับสหภาพยุโรปนำร่อง สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ 16 เทศบาลทั่วประเทศ

ด้วยการทำ 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1. เมืองแห่งต้นไม้ ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์

2. เมืองไร้มลพิษ ต้องลดปริมาณขยะ เพื่อลดแหล่งกำเนิดก๊าซมีเทน โดยใช้วิธีแยกขยะ แจกลังเก็บขยะ กำหนดเวลาเก็บขยะ

3. เมืองลดการใช้พลังงานให้เหลือน้อยที่สุด

4. เมืองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากนั้นจึงเดินหน้ามีเป้าหมายสู่เมืองจักรยาน และไปสู่เมืองรู้สู้ภัยพิบัติในอนาคต

คนต่อมาคือ นายกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด บรรจง โฆษิตจิรนันท์ พูดเรื่องการเงินการคลัง ความว่า

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีภารกิจดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดายันเชิงตะกอน

เรื่องการเงินหรือรายได้ของ อปท. กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ แผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ว่ารัฐต้องจัดสรรเงินให้ อปท. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้แผ่นดินในระยะเวลาปีนั้นปีนี้ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรร มิหนำซ้ำรัฐบาลในยุคหนึ่งกลับแก้กฎหมายไม่ให้มีเงื่อนเวลา ทั้งเอาเงินที่เป็นภารกิจรัฐบาลกลางมาฝากไว้กับ อปท. เช่น นมเด็กนักเรียน หรือนมโรงเรียน ค่าอาหารกลางวัน เพื่อนำตัวเลขงบประมาณไปแปะไว้ว่าจัดสรรให้แล้วตามที่กฎหมายกำหนด

นายกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โดยผู้บันทึกสรุปรายได้ของท้องถิ่นว่ามีที่มา 3 ทาง คือ

1. อปท. จัดเก็บเอง เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน

2. รัฐจัดเก็บและจัดสรรให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต ค่าปรับการจราจร

3. รัฐต้องอุดหนุนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

(แต่รัฐบาลที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐกลับเล่นแร่แปรธาตุไม่จริงใจ ทำให้ท้องถิ่นทำงานไม่เต็มที่)

ต่อจากนั้น วีรวัฒน์ ภักตรนิกร นายกเทศมนตรีเมืองยโสธร ว่าถึงการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่น

คณะกรรมการกระจายอำนาจมีบ่อเกิดจากพระราชบัญญัติ แผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น พ.ศ.2542 แบบไตรภาคี มาจากข้าราชการส่วนกลาง จากองค์การปกครองท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ

มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนการกระจายอำนาจ แผนการถ่ายโอนภารกิจ กำหนดภารกิจ จากราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค มาให้ราชการส่วนท้องถิ่นทำการแทน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ปรากฏเป็นจริง

นอกจากนั้น คณะกรรมการกระจายอำนาจยังมีหน้าที่จัดสรรปันส่วนงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนของรัฐให้ท้องถิ่นทุกประเภทด้วยความเป็นธรรม

ทั้งต้องกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่ดี (Good Government) เพื่อเป็นกรอบในการประเมิน อปท. ทั่วประเทศ หาต้นแบบดีที่สุดของทุกจังหวัด

กรณีนี้ สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการกระจายอำนาจ โดยมีความเห็นจากผู้สรุปว่า ทำอย่างไรจึงจะลดจำนวน อปท. ให้เหลือน้อย แต่มีคุณภาพเหมือนญี่ปุ่น

ต่อจากนั้น เป็นความเห็นจากนายกเทศมนตรีหญิงเหล็กนครภูเก็ต สมใจ สุวรรณศุภพนา ว่าด้วยเรื่องมิติการท่องเที่ยวและการตรวจสอบ

นายกหญิงนครภูเก็ตบอกว่า หน้าที่เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่คือหน้าที่ของ อปท. ต้องสร้างคน สร้างงาน สร้างเมืองให้น่าอยู่

เกาะภูเก็ตมีเศรษฐกิจที่ดี มีความหลากหลายของเชื้อชาติ เวลาผ่านมา 120 ปียังเหลือร่องรอยความรุ่งเรืองยุคก่อนหลงเหลือ กระแสความต้องการทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางทะเล เป็นความต้องการที่หยุดไม่อยู่ สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเกือบสองแสนกว่าล้านบาทในรอบ 30 ปีจากการท่องเที่ยว

แต่งบประมาณสะท้อนกลับมาสู่ท้องถิ่นน้อยมาก เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจจัดสรรเงินอุดหนุนตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร ขณะที่เมืองต้องดูแลทุกคนโดยไม่ได้ดูฐานทะเบียนราษฎร

เทศบาลนครภูเก็ตยังมุ่งเน้นบูรณะสถาปัตยกรรมยุคก่อนเพื่อเป็นตัวเลือกคู่กับชายทะเลไว้เป็นจุดแข็งแข่งกับธรรมชาติ พ.ศ.2557 เทศบาลนครภูเก็ตได้รับรางวัลจากเมืองเฉินตูเรื่องวัฒนธรรมแห่งอาเซียน

นายกเทศบาลนครภูเก็ตยืนยันว่า เมืองภูเก็ตยังมีเสน่ห์อีกมาก รอเวลาให้พวกเราได้ค้นหาต่อไป

สุดท้ายเป็นเรื่องของเจ้าบ้าน วันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ว่าด้วยเรื่องการศึกษา ตามถนัด ถึงอำนาจของท้องถิ่นเหมือนจะมีอิสระในการทำตามหน้าที่ ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมาย

1. พระราชบัญญัติเทศบาลบวกกับพระราชบัญญัติแผน ขั้นตอน การกระจายอำนาจ

2. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบวกพระราชบัญญัติแผน ขั้นตอนการกระจายอำนาจ

3. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดบวกพระราชบัญญัติแผน ขั้นตอนการกระจายอำนาจ

ทั้งหมดถูกกำหนดจากงบประมาณที่จำกัด การศึกษาของโรงเรียนในสังกัดทำคู่ขนานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่คุณภาพสู้ได้ เพราะผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง จึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

(ผู้ที่ขึ้นเวทีอภิปรายคือผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นคนท้องถิ่นที่มีคุณภาพทั้งสิ้น)