อีกยุค ธนาคารกรุงเทพ (1)/วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

อีกยุค ธนาคารกรุงเทพ (1)

 

เวลากล่าวถึงธนาคารไทยพาณิชย์ มักจะเทียบเคียงกับธนาคารกสิกรไทย และอาจจะเลยไปถึงธนาคารกรุงเทพด้วย ในฐานะธนาคารใหญ่ในสังคมไทย

มักจะมีบทสรุปในทำนอง “ที่สำคัญทั้งสองที่ว่าข้างต้น ธนาคารแสดงบทบาทผู้นำธุรกิจในสังคมไทย ด้วยแผนการปรับตัว ปรับโครงสร้างอย่างคึกคัก ขณะธนาคารอีกแห่งดูเฉื่อยเนือยไปบ้าง” อย่างที่ว่าในตอนที่แล้ว

อย่างไรได้ทิ้งท้ายไว้ “ส่วนธนาคารที่สาม ดูเงียบๆ จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างน่าติดตามอีกแบบเช่นกัน ก็ย่อมได้”

สำหรับธนาคารกรุงเทพจะมองด้วยสายตาแบบเดียวกัน และมองแค่สังคมไทย คงไม่ได้

 

ในรายงานนำเสนอล่าสุด (Bangkok Bank Investor Presentation For 2Q21) ได้ย้ำถึงเครือข่ายธุรกิจใน 14 ประเทศซึ่งมีความเป็นมายาวนาน (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) นับเป็นธนาคารไทยที่มีเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุด และเป็นมาอย่างต่อเนื่อง (โดยเน้นว่า “Long-standing international presence in 14 economies”) โดยสะท้อนภาพให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนกับเอเชียใต้ ว่าไปแล้ว เพิ่งเป็นจังหวะก้าวสำคัญเมื่อไม่นานมานี้

โดยเปิดฉากขึ้นที่ประเทศจีน

“ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวที่มีรากฐานมั่นคงในประเทศจีน โดยเริ่มเปิดสาขาในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2529 และในเดือนธันวาคม 2552 ธนาคารได้เปลี่ยนสถานะจากสาขาขึ้นเป็นธนาคารท้องถิ่น โดยใช้ชื่อว่าธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) เริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 28 ธันวาคม 2552 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีสาขาตั้งอยู่ในเมืองหลักๆ ของประเทศจีน ซึ่งประกอบด้วยเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซี่ยเหมิน เสิ่นเจิ้น ฉงชิ่ง และสาขาย่อยในเขตการค้าเสรีนำร่องเมืองเซี่ยงไฮ้…” ข้อมูลทางการของธนาคารเองว่าไว้

อันที่จริงแผนการนั้น เป็นไปเป็นขั้นๆ จากสำนักงานตัวแทนธนาคารที่ปักกิ่ง (ปี 2529) ใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเปิดเป็นสาขาแห่งแรกที่ซัวเถา (ปี 2535) และสาขาที่สองที่เซี่ยงไฮ้ (ปี 2536)

แผนการใหญ่จริงๆ เริ่มขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารกรุงเทพไม่เพียงสามารถพยุงตัวอยู่รอดท่ามกลางช่วงเวลาธนาคารต่างชาติขยายเครือข่ายกันคึกคักเข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ของระบบธนาคารไทย ขณะธนาคารไทยที่เหลือกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหา ธนาคารกรุงเทพกลับมีแผนการที่แตกต่าง

ปฏิบัติการมุ่งมั่นในประเทศจีนในปี 2541 เปิดสาขาเพิ่มเติมที่เซี่ยเหมิน ตามด้วยเปิดสาขาปักกิ่ง (ปี 2548) ต่อด้วยการย้ายสาขาจากซัวเถามายังเสิ่นเจิ้น (ปี 2550) และแล้วปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญข้างต้น

ในจังหวะเดียวกันนั้น มีแผนขยับขยายครั้งสำคัญที่ประเทศมาเลเซียด้วย

 

ที่จริง ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์มาตั้งแต่ปี 2502 ถือเป็นหนึ่งเครือข่ายภูมิภาครุ่นบุกเบิก ตามสายสัมพันธ์ “พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล” ในยุคชิน โสภณพนิช ปักหลักอยู่ฮ่องกง (2501-2506)

“นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการงานด้านต่างประเทศ…ทุ่มเทความพยายามเต็มที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ” (หนังสือ “ชิน โสภณพนิช (2453-2531)” จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ)

ผ่านมาอีกช่วง จึงได้โอกาส จากจังหวะเป็นไปตามนโยบายทางการมาเลเซีย สาขากัวลาลัมเปอร์ได้ยกสถานะเป็นธนาคารท้องถิ่น-Bangkok Bank Berhad (1 กันยายน 2537) จะถือเป็นเครือข่ายต่างประเทศแห่งแรกซึ่งยกระดับขึ้นอย่างที่ควรเป็นของธนาคารกรุงเทพเอง และธนาคารไทยทั้งระบบก็ได้

ผ่านมานานพอสมควร จนถึงจังหวะในยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นไปไล่หลังกรณีประเทศจีนไม่กี่เดือน (ช่วงต้นปี 2553) ธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) อนุมัติให้ Bangkok Bank Berhad เปิดสาขาใหม่ 4 สาขา ในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอร์ (Selangor) 1 สาขา จนถึงวันนี้ “บางกอก แบงก์ เบอร์ฮาด เป็นบริษัทในเครือที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้นเต็มจำนวน 100% โดยมีสำนักงานอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และสาขารวมทั้งหมด 5 แห่ง”

ข้อมูลของธนาคารเองระบุไว้ แสดงว่าการขยายสาขาเป็นไปครบถ้วน

 

กรณีครึกโครมที่สุด เป็นกรณีที่ประเทศอินโดนีเชีย ด้วยบทสรุปจากข้อมูลที่ธนาคารเองระบุไว้

“ในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพได้รับโอนกรรมสิทธิ์การถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านดิจิตอลแบงกิ้งและระบบเทคโนโลยีการชำระเงินในประเทศอินโดนีเชีย โดยธนาคารกรุงเทพได้ทำการควบรวมสาขาของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา จนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในประเทศอินโดนีเชีย…”

เรื่องราวค่อนข้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 “ธนาคารกรุงเทพ…ประกาศซื้อกิจการ PT Bank Permata Tbk ในอินโดนีเซีย จาก Standard Chartered Bank และ PT Astra International Tbk…” หัวข้อข่าวใหญ่จากธนาคารกรุงเทพ (12 ธันวาคม 2562) เป็นดีลมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90,000 ล้านบาท กับสัดส่วนถือหุ้นมากถึง 98.71% เมื่อรวมกับการเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วยในช่วงต่อมา (ตุลาคม 2563) ปิดกระบวนการด้วยการควบรวมสาขาธนาคารกรุงเทพเดิม (สาขาจาการ์ตากับสาขาย่อย-เมดานและสุราบายา) เข้ามาอยู่ใน Bank Permata อย่างสมบูรณ์ เพิ่งผ่านมาไม่นานมานี้เอง (ธันวาคม 2563) ระหว่างนั้นทีมจากธนาคารกรุงเทพ นำโดย ชาติศิริ โสภณพนิช ได้เข้ามามีบทบาทบริหาร Bank Permata อย่างเต็มตัวแล้ว (ตั้งแต่พฤษภาคม 2563)

ดีลข้างต้นเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เป็นดีลใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับธนาคารไทย เป็นครั้งแรกที่ก้าวออกจากพรมแดนที่ (เคย) มั่นคงและ (เคย) ได้รับการปกป้อง สู่อาณาบริเวณที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ว่าด้วยมุมมองคลาสสิค กรณีธนาคารกรุงเทพกับ Bank Permata เป็นมิติใหม่อย่างแท้จริง

 

สําหรับธนาคารกรุงเทพ กับตระกูลโสภณพนิช ได้ก้าวอีกขั้นของแนวคิดธนาคารแห่งภูมิภาคซึ่งจุดประกายและวางรากฐานระดับหนึ่งอย่างมั่นคง โดยผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารคนสำคัญ (ชิน โสภณพนิช) บุกเบิกไว้เมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว จากการขยายเครือข่ายด้วยตนเอง สู่แผนการอันห้าวหาญในแบบฉบับใหม่ (Merger & Acquisition) พลิกโฉมหน้าธนาคารไทยไปจากที่เคยเป็น

เรื่องราว Bank Permata ในเงื้อมมือธนาคารกรุงเทพ กับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธนาคารเอง ในจังหวะไม่เป็นใจด้วยเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดระดับโลก ที่สำคัญอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจากไทย

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่จะอรรถาธิบาย ขยายความ

 

ธนาคารกรุงเทพ กับเครือข่าย

Hong Kong 67 years (2)

Japan 66 years (2)

United Kingdom 64 years (1)

Singapore 64 years (1)

Malaysia* 62 years (5)

Taiwan 56 years (3)

United States 56 years (1)

Indonesia* 53 years (3+300) China* 35 years (6)

Vietnam 29 years (2)

Laos 28 years (2)

Philippines 26 years (1)

Myanmar 26 years (1)

Cambodia 7 years (1)

ที่มา Bangkok Bank Investor Presentation For 2Q21 (ข้อมูล ณ June 2021)

หมายเหตุ–ในวงเล็บ คือจำนวนเครือข่าย หรือสาขา