กรองกระแส/ลักษณะ 2 ด้าน กระบวนการรัฐประหาร รายรับ รายจ่าย

กรองกระแส

ลักษณะ 2 ด้าน กระบวนการรัฐประหาร รายรับ รายจ่าย

การออกมายอมรับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “วันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับไทยเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ผมเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว”

เป็นการสะท้อนลักษณะ 2 ด้านของ “การเมือง การทหาร”

ที่ต่างชาติดำเนินการมาตรการเช่นนั้นมิได้กระทำกับ “รองนายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี” หากแต่มุ่งไปยัง “หัวหน้า คสช.”

และบังเอิญที่ “หัวหน้า คสช.” ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

บทบาทของ “หัวหน้า คสช.” อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ขณะเดียวกัน บทบาทของ “หัวหน้า คสช.” นั่นเองทำให้ “นายกรัฐมนตรี” ถูกต่อต้าน

รูปธรรมในทางการเมือง คือ การไม่เชิญให้ไปเยือนอย่างเป็นทางการ แม้จะยังมีการติดต่อค้าขายกันอยู่อย่างเป็นปกติก็ตาม

ท่าทีเช่นนี้มิได้เป็นการปฏิเสธ “ตัวบุคคล” หากเป็นการปฏิบัติ “บทบาท”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในการตัดสินใจใช้วิธีการ “รัฐประหาร” โดยหวังจะให้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในทาง “การเมือง”

ลักษณะ 2 ด้าน

จาก “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการใดๆ ในทางการทหาร หรือในทางการเมือง มักจะปรากฏลักษณะ 2 ด้านติดตามมาเสมอ

ขอให้ศึกษาจาก “รัฐประหาร”

ตัวอย่างจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผลอย่างฉับพลันก็คือ สามารถตัดวงจรแห่งอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และเป็นการสะดวกที่จะอาศัยผลจากรัฐประหารในการจัดการกับพรรคเพื่อไทยและ นปช. อันเป็นพันธมิตร

เห็นได้จากการถอดถอน ไล่ตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยไปจนถึง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

เห็นได้จากการนำคนของพรรคเพื่อไทย คนของ นปช. ไปขัง ณ คุก

ขณะเดียวกัน จากการรัฐประหารก็ประสบกับการคัดค้านต่อต้านจากนานาอารยประเทศ เห็นได้จากท่าทีของสหภาพยุโรป เห็นได้จากท่าทีของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นั่นก็คือ การลดความสัมพันธ์ลงและดำเนินความสัมพันธ์อย่างไม่ปกติ

โดยตั้งเป้าว่าจะคืนสู่ความเป็นปกติก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ผลสะเทือน การเมือง

ผลสะเทือน เศรษฐกิจ

ต้องยอมรับว่าท่าทีและปฏิกิริยาจากนานาอารยประเทศที่มีต่อรัฐประหารและต่อรัฐบาลทหาร มีแรงกระทบกลายเป็นผลสะเทือน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยืนยันว่าการติดต่อยังเป็นปกติ

กระนั้นภายในสภาพที่เรียกว่าเป็นปกติเมื่อมีนานาอารยประเทศตัดสินใจไม่เชิญนายกรัฐมนตรีที่มาจากหัวหน้า คสช. ไปเยือนอย่างเป็นทางการ กรอบแห่งความสัมพันธ์ก็มีความจำกัด

และที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ปมแห่ง “ความเชื่อมั่น”

ในทางการเมือง จะถูกทวงถามในเรื่อง “โรดแม็ป” จะถูกทวงถามในเรื่อง “การเลือกตั้ง” อยู่ตลอดเวลา มิใช่ว่าจะมาจากหลายประเทศในนามสหภาพยุโรป มิใช่ว่าจะมาจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร

หากแม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศไทย นายชินโสะ อาเบะ ก็เคยสอบถามตรงๆ กับนายกรัฐมนตรีของไทยมาแล้ว

ข้อน่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อขาด “ความเชื่อมั่น” ผลสะเทือนต่อ “เศรษฐกิจ” จะตกกระทบอย่างสูง

อย่างน้อยการเจรจาระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในเรื่องเขตการค้าเสรีก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ถูกแช่แข็งนับแต่บัดนี้ ไม่มีอะไรคืบหน้า หรือเรื่องที่ควรจะถ้อยทีถ้อยอาศัย อย่างเช่น ประเด็นการค้ามนุษย์ก็ทำให้ถูกเฝ้ามองผ่านการค้าระหว่างประเทศ การประมงและการบิน

ความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ลักษณะ 2 ด้าน

รายรับ รายจ่าย

รัฐประหารอาจทำให้ คสช. สามารถจำกัดกรอบ ขอบเขตของฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมืองได้ รัฐประหารอาจทำให้อำนาจมาอยู่ในมือ

เหล่านี้ถือว่าเป็น “รายรับ”

ขณะเดียวกัน รัฐประหารก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิดภายในสังคมประเทศไทย เป้าหมายปรองดองสมานฉันท์ยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้น นานาอารยประเทศก็ตั้งข้อรังเกียจ ด้วยการไม่ยอมเชิญนายกรัฐมนตรีให้ไปเยือน

เหล่านี้ถือว่าเป็น “รายจ่าย”

ไม่ว่าการดำเนินมาตรการใดในทางการทหาร ในทางการเมือง ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถรอดพ้นไปจากผลได้ ผลเสีย รายรับ รายจ่ายได้

ไม่มีอะไรที่ได้อย่างเดียว ไม่มีอะไรที่เสียอย่างเดียว