นิ้วกลม | หากศีลธรรม เป็นอุปสรรคของชีวิตที่ดี

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

หากศีลธรรม

เป็นอุปสรรคของชีวิตที่ดี

 

เมื่อครั้งโสเครติสถูกฟ้องร้องต่อสภาประชาชนด้วยสองข้อหาคือ ลบหลู่เทพเจ้าและทำให้เด็กหนุ่มเสื่อมศรัทธาในศาสนา

เขาถูกตัดสินว่าผิดจริงทั้งสองข้อ โทษคือประหารชีวิต

เหตุการณ์นี้มักถูกเล่าว่าเป็นเกมการเมืองของบรรดาผู้ปกครองเอเธนส์ที่ไม่ชอบหน้านักปรัชญาผู้ชอบตั้งคำถามท่านนี้อยู่เป็นทุนเดิม บวกกับต้องการหาแพะให้กับความพ่ายแพ้ในสงครามโดยโยงเหตุผลว่าที่เอเธนส์เสื่อมลงเพราะผู้คนเสื่อมศรัทธาในเทพเจ้า และนักคิดเครายาวก็เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญ

สิ่งน่าสนใจคือช่วงเวลาหลังพิพากษาไปจนถึงการลงโทษนั้นยาวนาน เขามีโอกาสหลายครั้งที่จะรับสารภาพและขอลดโทษจากการประหาร หรือกระทั่งหลบหนี

แต่ก็ไม่ทำเช่นนั้น เลือกยืนยันว่าตนไม่ผิดทั้งสองข้อหา แล้วลงเอยด้วยการประหารชีวิตด้วยยาพิษเฮมล็อกในที่สุด

วีรกรรมปราชญ์กรีกโบราณอันลือเลื่องมักถูกบอกเล่าเพื่อขับเน้นความกล้าหาญและการยึดหลักจริยธรรมของเขา ด้วยการที่เขาเชื่ออย่างยิ่งว่ากฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ผู้คนในสังคมต้องเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อพบกับกฎหมายที่เลวหรืออยุติธรรม วิญญูชนต้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เลว แต่ต้องยอมรับโทษทัณฑ์ของกฎหมายที่ชั่วร้ายนั้นเพื่อรักษาจิตวิญญาณของกฎหมาย (spirit of law) ไว้

โสเครติสสละชีพเพื่อรักษาศีลธรรม

 

ในหนังสือ Straw Dog จอห์น เกรย์ ตั้งคำถามกับโสเครติสไว้น่าสนใจและชวนตี โดยบอกว่า ภายใต้อิทธิพลของโสเครติส จริยศาสตร์กลายเป็นการค้นหาสิ่งดีเยี่ยมที่ไม่มีอะไรทำลายได้ เป็นคุณค่าไร้เทียมทาน สามารถเอาชนะคุณค่าอื่นได้ทั้งหมด และเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ปฏิบัติตามว่าจะไม่ประสบกับโศกนาฏกรรม

พูดอีกอย่างคือ เมื่อผู้ใดทำตามศีลธรรมที่ตนยึดถือไว้นั่นคือสุดยอด จะไม่มีสิ่งใดมาทำลายคุณค่าของการกระทำนั้น แม้ต้องแลกมาด้วยความเจ็บช้ำหรือกระทั่งแลกด้วยชีวิต

จอห์น เกรย์ พาเราย้อนกลับไปในโลกกรีกโบราณว่าในตอนนั้นชีวิตของทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับชะตากรรมและความบังเอิญ แม้โฮเมอร์ก็ยังเห็นว่า ชีวิตมนุษย์เป็นการสืบเนื่องกันของความไม่แน่นอนต่างๆ

แต่โสเครติสไม่ยอมรับทัศนะโศกนาฏกรรมโบราณนี้ได้

เขาเชื่อว่าคุณธรรมกับความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน

เขาจึงสร้างภาพของ ‘ความดี’ ขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้ถูกทำลายลงได้

ซึ่งในปรัชญาของเพลโตมีความคิดนี้ปรากฏในชื่อ ‘รูปแบบของความดี’ (the Form of the Good) ซึ่งความคิดนี้ต่อมาได้ถูกซึมซับเข้าไปในมโนทัศน์ว่าด้วยพระเจ้าของคริสต์ศาสนา โดยมีรากจากจริยศาสตร์แบบโสเครติสนั่นคือ มนุษย์สามารถเอาชนะความสูญเสียหรือโชคร้ายทุกชนิดได้ด้วยการยึดมั่นในความดี

จากนั้นศีลธรรมก็ถูกคิดถึงในฐานะของชุดกฎหมายหรือกติกาที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เป็นคุณค่าพิเศษที่สำคัญเหนือคุณค่าอื่น

ก็ฟังดูดีนี่นา แล้วมันมีปัญหาตรงไหน

 

จอห์น เกรย์ อธิบายว่า ศีลธรรมที่เรารับมาประกอบด้วย ‘อคติ’ ต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมา ในโลกของโฮเมอร์ ศีลธรรมไม่มีอยู่ ความคิดผิด-ถูกย่อมมี แต่ไม่มีความคิดว่ามีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต้องทำตาม หรือมีคุณค่าพิเศษเหนือคุณค่าอื่น และต่อให้เป็นผู้กล้าและทรงปัญญาก็ยังอาจประสบกับความพ่ายแพ้และหายนะ

เกรย์ยังท้าทายไปถึงเบื้องลึกในตัวเราว่า

“เราชอบที่จะปักหลักชีวิตอยู่บนการเสแสร้งว่า ‘ศีลธรรม’ ย่อมมีชัยในที่สุด ทว่าเราไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริงๆ หรอก ที่ก้นบึ้งของจิตใจ เรารู้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะป้องกันให้เราแคล้วคลาดจากชะตากรรมและความบังเอิญได้”

แล้วความเชื่อในศีลธรรมว่ามีสิ่งดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรยึดมั่นนั้นมีปัญหากับสังคมยังไง ไม่ใช่เรื่องดีหรอกหรือที่สังคมจะต้องมี ‘ความดี’ ไว้ยึดเหนี่ยวร่วมกัน

เกรย์พยายามจะบอกว่า มันดีแหละ แต่ใช้ได้แค่ในสภาวะปกติเท่านั้น เขาเล่าเรื่องจริงของชีวิตให้ฟัง เป็นเรื่องในค่ายกักกันของนาซี มีนักโทษอายุสิบหกปีถูกข่มขืนโดยผู้คุม และผู้คุมขโมยหมวกของเขาไปแล้วออกกฎว่านักโทษคนใดไม่สวมหมวกในการเดินแถวตอนเช้าจะต้องถูกยิงทันทีเพื่อปิดปากนั่นเอง

นักโทษผู้ถูกข่มขืนรู้ดีว่าถ้าเขาอยากมีชีวิตรอดต้องหาหมวกมาใส่ จึงไปขโมยหมวกจากผู้ต้องขังในอีกค่ายหนึ่งขณะนอนหลับ เมื่อถึงเวลาเดินแถว นักโทษที่ถูกขโมยหมวกถูกปืนจ่อที่กะโหลกด้านหลัง กระสุนหนึ่งนัดเจาะสมอง เสียชีวิตทันที

เรื่องราวนี้ถูกบอกโดยโรมัน ฟริสเตอร์ นักโทษผู้ขโมยหมวกที่รอดชีวิตมาบอกเล่าเรื่องราวในที่สุด

ในสภาวะความเป็นความตาย มนุษย์เลือกศีลธรรมหรือเลือกทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น?

-นี่คือคำถามที่เกรย์พยายามกระทุ้งถามเราว่า เราเพียงฝันถึงศีลธรรมในช่วงเวลาท้องอิ่มบ้านเมืองสงบหรือเปล่า

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวิธีคิดว่ามีคุณค่าความดีชุดใดชุดหนึ่งเป็นความดีสูงสุดที่ทุกคนควรปฏิบัติ (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาเอกเทวนิยม) เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณค่านี้สมเหตุสมผลกับทุกคนด้วย

ระหว่างปี 1492 ถึง 1990 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างน้อยสามสิบหกครั้ง คร่าชีวิตผู้คนตั้งแต่หลายหมื่นไปจนถึงหลายสิบล้านคน ปี 1950 เป็นต้นมา มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกือบยี่สิบครั้ง อย่างน้อยสามเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคน คือในบังกลาเทศ กัมพูชา และรวันดา

เกรย์ตั้งคำถามว่าการฆ่าครั้งใหญ่เหล่านี้มาจากรากความคิดเรื่องศีลธรรมของฉันเป็นสิ่งดีงามที่ทุกคนควรทำตามด้วยหรือไม่ ใช่หรือไม่ว่าฮิตเลอร์ก็มีความดีงามในใจที่อยากให้มนุษยชาติเป็นแบบเดียวกันกับความดีงามในใจเขา

ศตวรรษที่ 20 จึงเกลื่อนไปด้วยการสังหารหมู่ เมื่อมนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีและอาวุธก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อการฆ่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ถูกนำไปรับใช้ความหวังที่จะมีโลกที่ดีกว่าเดิม ซึ่งคือโลกที่ผู้นำทั้งหลายยึดถือในความดีงามบางอย่างของตนอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

“เมื่อความหวังที่จะมีโลกที่ดีกว่าเดิมมีมากขึ้นเท่าไร ฆาตกรรมหมู่ก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น” เกรย์เขียนถึงความย้อนแย้งนี้ไว้อย่างน่าคิด

แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ‘ความดี’ ที่เรายึดถือนั้นดีจริงและดีไปตลอดกาล ในเมื่อประวัติศาสตร์ก็บอกกับเราว่าความดีแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

เมื่อศตวรรษที่แล้วทุกคนรู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด

มาถึงวันนี้ทุกคนรู้ว่าความไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งผิด

แล้วศตวรรษถัดไปหน้าตาของ ‘ความดี’ จะเป็นแบบไหน

 

เกรย์พยายามอธิบายว่า ถ้าเรามองชีวิตอย่างสมจริงมากขึ้นย่อมเห็นว่าบางสิ่งที่เรายกย่องอย่างความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ชัยชนะก็ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เรามองว่าชั่วร้าย เช่น ความโลภ ความหลงตัวเอง และความอิจฉา ฉะนั้น ถ้าบ้าศีลธรรมเข้มข้นจนเกินไปกลับกลายเป็นว่าความดีงามอันคับแคบนั้นกีดกันความเห็นอกเห็นใจของเราออกไป เพราะในความจริงไม่มีมนุษย์คนใดจะดีทั้งดุ้นหรือเลวทั้งดุ้นหรอก

เมื่อลองพิจารณามุมมองชีวิตในสังคมโบราณกับยุคปัจจุบัน เราย่อมเห็นสิ่งแตกต่างประการสำคัญอย่างหนึ่งคือแต่ก่อนมนุษย์เกิดมาพร้อมชะตากรรมบางอย่างที่ไม่อาจเลือกได้

ไม่ว่าจะมองในมุมชนชั้นวรรณะ ความเจ็บป่วย ความงามที่ไม่สามารถศัลยกรรม

ซึ่งต่างจากยุคสมัยนี้ที่เราเชื่อในการเลือก ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เราเลือกเอง ทำให้เราเผลอคิดไปว่าการตัดสินใจต่างๆ ของแต่ละคนเป็นอิสระจากชะตากรรม และถ้าใครคนนั้นไม่เลือกแบบที่เราเห็นว่าดีก็รู้สึกว่าพวกเขาผิดพลาดหรือชั่วร้าย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อุดมคติแบบโบราณว่าชีวิตเราเลือกเองไม่ได้นั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตมากกว่า เพราะเกือบทุกสิ่งที่สำคัญในชีวิตเราเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลือก เวลาและสถานที่เกิด พ่อแม่ของเรา ภาษาแรกที่พูด ล้วนเป็นเรื่องบังเอิญทั้งสิ้น

แล้วสิ่งแตกต่างเหล่านี้เองที่หล่อหลอมมาเป็นยถากรรมของเราแต่ละคน-ซึ่งไม่เหมือนกันเลย

ชีวิตของเราเป็นผลลัพธ์ของอุบัติเหตุและความบังเอิญ

จอห์น เกรย์ ใช้คำว่า “เราถูกโยนมาในเวลาหนึ่งที่ทุกสิ่งจัดวางไว้เฉพาะกาล”

หากมองเห็น ‘ชะตากรรม’ ที่แตกต่างเช่นนี้ เราย่อมเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกได้อย่างเสรีโดยปราศจากเงื่อนไข พ่อ-แม่ ศาสนา ความเชื่อ ฐานะ อาจกำหนดให้เขาไม่อาจมีศีลธรรมหรือความดีงามแบบที่เราชอบและเชื่อได้ เช่นกันกับเราที่อาจไม่ถูกใจใครบางคน

นี่คือความจริงของชีวิต ซึ่งถ้ามองเห็นก็อาจผ่อนคลายทางศีลธรรมที่ยึดมั่นต่อกันได้บ้างไม่มากก็น้อย และความเห็นอกเห็นใจกันนี่เองที่เป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดี

 

จอห์น เกรย์ พูดถึงวิธีคิดแบบเต๋าของจีนโบราณ ที่ไม่ได้ระบุว่าการกระทำที่ถูกต้องคืออะไรอย่างแน่ชัด หากคืออะไรก็ตามที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ชีวิตที่ดีไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะใดๆ ไม่พยายามบรรลุอุดมคติอะไร ถ้าทำได้ดีก็ไม่ได้หมายความเราตั้งเป้าไว้แล้วทำได้ แต่เกิดขึ้นเพราะเราทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

ชีวิตที่ดีหมายถึงชีวิตที่บรรสานกับธรรมชาติของเราและสถานการณ์ต่างๆ ไม่มีการพูดว่าทุกคนจะใช้ชีวิตเหมือนกัน หรือต้องปฏิบัติตาม ‘ศีลธรรม’

เพราะแต่ละคนมี ‘เต๋า’ ของตัวเอง

แต่ละคนมี ‘ทาง’ ของตัวเอง-แตกต่างกันไป

ชีวิตที่ดีนั้นเป็นไปเอง

นักศีลธรรมตะวันตกถามว่าการกระทำนั้นมีเป้าประสงค์อะไร แต่เต๋าบอกว่าชีวิตที่ดีไม่มีเป้าประสงค์ มันเพียงสนองตอบต่อกระแสในช่วงเวลานั้น

“ข้าเข้าสู่วังวนกับกระแสที่ไหลเข้า แล้วก็ออกไปกับกระแสที่ไหลออกไป ไปตามเส้นทางของน้ำ โดยไม่เอาความเห็นแก่ตัวของข้าไปครอบงำมัน นี่คือวิธีที่ข้าลอยตัวอยู่ได้” จวงจื่อกล่าว

ไม่เพียงสถานการณ์แต่ยังรวมถึงผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์ด้วย มันคือการอยู่กับคนนั้นโดยไม่ยึดตัวเองเป็นหลัก มิได้ตัดสินบนมาตรฐานความดีความชั่วที่ตั้งไว้ในใจ เป็นชีวิตที่ปราศจากความพยายามใดๆ เพียงเป็นไปตามธรรมชาติ และปล่อยให้ผู้อื่นเป็นไปตามธรรมชาติของเขา

มนุษย์ที่อิสระมิใช่คนที่กระทำตามเหตุผลที่เลือกด้วยตนเอง แต่คือคนที่ไม่เคยต้องเลือกเลยต่างหาก แทนที่จะเดือดเนื้อร้อนใจกับการเลือกต่างๆ เขาจะตอบโต้อย่างไร้ความพยายามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

เมื่ออ่าน Straw Dogs เรื่องศีลธรรมจบ ผมครุ่นคิดเกี่ยวกับศีลธรรมภายในใจตนเองใหม่

สำหรับตัวเองแล้วผมคิดว่าเราอาจมีคุณธรรมความดีบางอย่างทดไว้ในใจเพื่อเป็นธงในการดำเนินชีวิต

กระนั้นก็ตระหนักเสมอว่าธงนี้ไม่ใช่สัจธรรมหนึ่งเดียวในโลก มันเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ความรู้ใหม่ ยุคสมัย ฯลฯ

นอกจากนั้น เราควรให้เกียรติธงของผู้อื่นด้วย เพราะเมื่อปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งสำคัญยิ่งกว่าธงในใจของแต่ละคนว่าของใครดีงามกว่าคือความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันว่าเราต่างมีชะตากรรมที่แตกต่าง มีโจทย์ส่วนตัวคนละแบบ และต่างเป็นผลลัพธ์ของความคิดความเชื่อที่สืบทอดมาจากที่ใดที่หนึ่ง-จึงยากที่เราจะมี ‘ศีลธรรม’ เดียวกันเป๊ะ!

ชีวิตที่ดีอาจไม่ใช่ชีวิตที่ยึดมั่นศีลธรรมไว้แบบยอมถวายชีวิต

ตรงกันข้าม, ชีวิตที่ดีอาจเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถวางศีลธรรมของตัวเองลงบ้าง