ธงทอง จันทรางศุ | ‘ทอดกฐิน’ ความไม่เข้าใจที่น่าห่วง

ธงทอง จันทรางศุ

วันนี้ผมจะสวมวิญญาณเป็นคนแก่เต็มตัวหนึ่งวัน ขออนุญาตนะครับ

เรื่องของเรื่องคือว่า ในระหว่างที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้อยู่นั้นเป็นห้วงเวลาเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2564 กำลังเป็นเทศกาลกฐินของเมืองไทย

ผมเองได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินที่เป็นงานพระราชพิธีงานหนึ่ง จะไปร่วมงานกฐินพระราชทานอีกงานหนึ่ง นอกจากนั้น ก็ใส่ซองร่วมทำบุญสร้างกุศลกับญาติมิตรเพื่อนฝูงทั้งหลายในงานกฐินทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ทั้งที่เป็นพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ต่างๆ

ผมพบว่าความเข้าใจในเหตุผลหรือที่มาที่ไปของคนรุ่นน้องหรือคนรุ่นลูกรุ่นหลานของผมเกี่ยวกับเรื่องธรรมเนียมวัฒนธรรมการทอดกฐินซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของบ้านเมืองกำลังลดน้อยถอยลง ในอัตราเร่งเร็วอย่างน่าสนใจแกมน่ากังวลใจ

พูดแบบเปิดอกคุยกัน คือคนจำนวนไม่น้อยทำไปตามตามกันโดยไม่ทราบที่มาที่ไป อะไรคือพระอารามหลวง อะไรคือวัดราษฎร์ อะไรคือกฐิน ก็งงกันไปหมดแล้ว

เรามาสรุปความเล่าสู่กันฟังสักครั้งหนึ่งดีไหมครับ

ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาของเรายังดำรงพระชนม์อยู่ ทุกคนคงพอจำได้ว่ามีเหตุที่พระภิกษุเดินไปประกาศพระศาสนาในเวลาฤดูฝนและไปเหยียบย่ำข้าวกล้าตามท้องไร่ท้องนาต่างๆ ทำให้ชาวนาเขาเดือดร้อนแล้วมาร้องทุกข์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดพุทธบัญญัติให้ระหว่างเวลาฤดูฝน พระภิกษุทั้งหลายต้องไม่เที่ยวไปต่างถิ่น ต้องพำนักอยู่ประจำในวัดวาอารามของตน

นึกออกไหมครับว่านี่คือที่มาของเทศกาลเข้าพรรษา

ทีนี้เวลาก็ผ่านไปชั่วพริบตาสามเดือน จากเข้าพรรษาก็ออกพรรษาเสียแล้ว

เวลาสามเดือนนี้เอง ที่พระภิกษุบางรูปอาจมีจีวรเก่าคร่ำคร่ายิ่งกว่าของผู้อื่น เป็นเวลาที่ควรจะได้มีใครมีจิตศรัทธานำไตรจีวรของใหม่มาถวายเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้ใช้สอยต่อไป

ประกอบกับในครั้งนั้นยังไม่มีโรงงานทอผ้าแบบทุกวันนี้ กว่าจะได้ไตรจีวรมาหนึ่งผืนหนึ่งไตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ได้มาไตรหนึ่งก็ดีมากแล้ว

จึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้บรรดาผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายนำผ้าไตรหนึ่งไตรนั้นมาน้อมถวายพระภิกษุที่ได้จำพรรษามาครบสามเดือนในวัดวาอารามต่างๆ เพื่อที่พระภิกษุจะได้ประชุมปรึกษากันว่าพระภิกษุรูปใดควรจะได้รับไตรจีวรนั้นไว้ใช้สอย โดยให้พระทั้งวัดประชุมกันลงมติ

ธรรมเนียมนี้ก็สืบเนื่องกันมา 2,600 ปี และเดินทางจากเมืองอินเดียมาถึงเมืองไทย กลายเป็นงานบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งหลาย

ดังจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกคนจะขวนขวายในเรื่องการทอดกฐินในแต่ละปีเป็นพิเศษ เพราะเป็น “กาลทาน” คือการบุญที่ทำได้เฉพาะห้วงเวลาพิเศษ

วัดหนึ่งก็รับผ้ากฐินได้เพียงไตรเดียว

พระที่จะได้รับผ้ากฐินก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติชอบจนกระทั่งหมู่สงฆ์เห็นว่าควรเป็นผู้ได้รับผ้ากฐินไว้ครอง

เห็นไหมครับว่าอะไรก็ดีงามไปหมด

นี่ยังไม่นับผลพลอยได้อื่นๆ เช่น ได้ไปทำบุญและไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาต่างสถานที่ ต่างจังหวัด บางทีอาจจะเป็นโอกาสได้พบคนถูกใจจนได้แต่งงานอยู่กินเป็นครอบครัวกันในที่สุด

นี่เรียกว่าทำบุญแบบหวังผลครับ ฮา!

อีกคำถามหนึ่งที่มีคนตั้งคำถามกับผมอยู่บ่อยๆ คือ วัดใดเป็นวัดราษฎร์ วัดใดเป็นพระอารามหลวง แล้วต่างกันอย่างไร

ขึ้นต้นต้องเกริ่นความเสียก่อนว่าในเมืองไทยของเรามีวัดอยู่รวมกันเป็นจำนวนประมาณ 30,000 หรือ 40,000 วัด นี่นับเฉพาะวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์พำนักอาศัยอยู่นะครับ วัดร้างที่มีเหลือแต่พระเจดีย์โดดเดี่ยวองค์เดียวอยู่นั้นไม่นับ

วัดจำนวนนับหมื่นเหล่านี้ อาจจำแนกได้ว่าเป็นวัดพระอารามหลวงและวัดราษฎรหรือเรียกโดยย่อว่าวัดราษฎร์

พระอารามหลวงนั้นคือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายพระองค์สำคัญทรงสร้างขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็เป็นวัดที่ขุนน้ำขุนนางสร้างถวายเป็นพระราชกุศล จึงเป็นวัด “หลวง” คือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์บำรุงมาตั้งแต่ต้น

หรือมิเช่นนั้นก็เป็นวัดราษฎร์ ที่มีหลักฐานมั่นคงมีผู้คนเคารพเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาอันสมควรทางราชการก็ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงขึ้นในภายหลัง วัดชนิดนี้นิยมที่จะนำคำว่าพระอารามหลวงไปต่อท้ายชื่อเดิมของวัด เพื่อแสดงฐานะของวัดที่เปลี่ยนแปลงไป

ในกรุงเทพฯ นี่ก็เห็นอยู่หลายวัดครับ เช่น วัดธาตุทอง พระอารามหลวง วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง และวัดหัวลำโพง พระอารามหลวง เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นพระอารามหลวงมาแต่ดั้งเดิมเก่าก่อนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปต่อสร้อยอย่างที่ว่า เช่น ผมเป็นไวยาวัจกร วัดโสมนัสวิหาร เขียนชื่อวัดแค่นี้ก็พอครับ ไม่ต้องบอกว่าวัดโสมนัสวิหาร พระอารามหลวง เพราะรู้กันมาตั้งแต่รัชกาลที่สี่แล้วว่าเป็นวัดที่ในหลวงสร้างต้องเป็นพระอารามหลวงแน่ๆ

ส่วนวัดราษฎรนั้นคือวัดที่ประชาชนคนทั่วไปมีจิตศรัทธาสร้างขึ้น เป็นบุญเป็นกุศลในพระศาสนา ในสมัยอยุธยาใครพอมีฐานะมีโอกาสเขาก็สร้างกันทั้งนั้น วัดราษฎรจึงมีทั้งวัดเก่าและวัดสร้างใหม่และมีจำนวนมากดังที่เราเห็นกันอยู่แล้วในปัจจุบัน

มีประเพณีเกี่ยวกับวัดสองประเภทที่ผูกพันมาถึงเรื่องกฐินว่า ในเวลาเทศกาลกฐิน พระเจ้าแผ่นดินย่อมพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดในวัดที่เป็นพระอารามหลวงทุกแห่งทั่วทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนเรือนร้อย ถ้าผมจำไม่ผิดก็อยู่ในราวสามร้อย หรือไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละครับ

เมื่อเห็นจำนวนเท่านี้ย่อมเข้าใจได้อยู่แล้วโดยสภาพว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เองทุกพระอารามหลวงนั้นย่อมเป็นไม่ได้ จึงทรงเลือกสรรแต่เฉพาะพระอารามหลวงสำคัญจำนวนหนึ่งสำหรับเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือมีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แทนพระองค์เป็นประจำ มีวัดที่เข้าเกณฑ์แบบนี้อยู่จำนวนอยู่ในราว 18 วัด เรียกกฐินแบบนี้ว่า พระกฐินหลวง

ส่วนจำนวนที่เกินจากนี้ไป หน่วยราชการกระทรวงทบวงกรม ห้างร้าน มูลนิธิ หรือบุคคลธรรมดาก็สามารถขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวาย ตามพระอารามหลวงเหล่านั้นได้ เรียกว่า กฐินพระราชทาน

ปีนี้วันที่ 14 พฤศจิกายน ผมว่าจะไปร่วมงานกฐินพระราชทานที่วัดวรนาถบรรพต เมืองนครสวรรค์ งานเขากำหนดเวลาบ่าย ว่าจะแวะไปหาอะไรกินเสียก่อนเข้าวัด

มีร้านอะไรแนะนำไหมครับ แหะ แหะ

กลับมาเข้าเรื่องกฐินเสียหน่อย ขออภัยที่เลอะเทอะครับ

 

ส่วนวัดราษฎรทั้งหลายนั้น ผู้มีจิตศรัทธาก็สามารถไปจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินได้ตามความปรารถนา โดยมารยาท เมื่อวัดรับแจ้งความประสงค์จากผู้ใดขอเป็นเจ้าภาพกฐินปีนั้นแล้ว ผู้ที่มาขอเป็นเจ้าภาพภายหลังก็ต้องรอปีถัดไป หรือมิเช่นนั้นก็ไปหาวัดอื่นที่ยังว่างเจ้าภาพอยู่

หัวใจของการทำบุญถวายผ้ากฐินนั้นอยู่ตรงการถวายผ้าไตรจีวรหนึ่งไตร เพื่อเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาต ไม่ใช่การประมูลเงินทำบุญว่าใครให้เงินทำบุญมากกว่าจะได้เป็นเจ้าภาพ

ว่ากันโดยเนื้อแท้แล้ว มีไตรเพียงไตรเดียวก็เป็นงานกฐินครบถ้วน

เรื่องอื่นเป็นเรื่องแถมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินทำบุญ เครื่องบริขารกฐิน พิธีสมโภช มหรสพฉลอง หนังสือที่ระลึก และอื่นๆ อีกมากมาย จะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นเรื่องของศรัทธาที่เพิ่มเติมเข้ามา

เพิ่มเข้ามาจนลืมแก่นของเรื่อง เห็นแต่เปลือกไปก็มี

ดูงานทอดกฐินแล้วก็ได้แง่คิดเหมือนกันครับ ว่าอะไรที่เพิ่มเติมเข้าไปจนพะรุงพะรัง อาจเข้าไปกลบสาระที่เป็นเรื่องสำคัญมาแต่ก่อน จนกระทั่งสาระนั้นเสื่อมสลายหายไปจากความรับรู้ของคนทั้งหลายก็เป็นได้

อะไรที่เป็นของดีอยู่แล้ว จึงต้องระวังของที่เพิ่มเติมหรือกาฝากที่นำเข้าไปผูกติดไว้กับต้นไม้ต้นเก่า เพราะของที่เพิ่มเติมเข้าไปโดยไร้เหตุผลสมควรนี่แหละครับ ร้ายนัก

ทำเอาต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายมาหลายต้นแล้ว

สลดใจอ่ะนะ