ขันโตก : ล้านนาคำเมือง

ขันโตก

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ขันโตก”

ขันโตก หรือ โตก หรือ สะโตก เป็นภาชนะสำหรับวางสำรับอาหารของคนล้านนา

ทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ไม้จริง ไม้ไผ่สานแล้วลงรัก หรือหวาย สำหรับจัดสำรับใช้ในครัวเรือน ถวายพระ หรือเจ้านาย เป็นภูมิปัญญาที่สวยงามประณีตได้สัดส่วน ทั้งขนาด รูปทรงและการตกแต่งรายละเอียด

โดยหลักแล้วขันโตกมีองค์ประกอบอยู่สามส่วนคือ

ส่วนบน มีลักษณะเป็นถาดทรงกลมยกขอบสูงลักษณะผายออกเล็กน้อย มักจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 30 ซ.ม.ขึ้นไป ที่กว้างมากๆ อาจจะถึงกว่า 100 ซ.ม.

ส่วนกลาง เรียกว่า “เอวขัน” ทำจากซี่ไม้จริงกลึงเป็นชิ้นๆ เรียงรายรองรับส่วนบนของขันอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งอาจจะเรียกว่า “ซี่” ขันโตก ทำหน้าที่ยึดส่วนโตกเข้ากับฐานของโตกที่เรียกว่าตีนขัน และยกขันโตกให้สูงขึ้นจากพื้นซึ่งจะสูงประมาณ 30-40 ซ.ม. อยู่ในระดับสูงพอเหมาะกับท่านั่งของคน

ส่วนล่าง เรียกว่า ตีนขัน

ขันโตกทั่วไปของชาวบ้านอาจจะเป็นไม้เปลือยสีธรรมชาติ หรือทารักสีดำ

สำหรับพระสงฆ์และเจ้านายแล้วขันโตกจะทาชาดสีแดง บางครั้งมีการจัดทำฝาชีสานโปร่งๆ ทารักและชาดเข้าชุดกันอีกด้วย

ขันโตกส่วนที่เป็นถาดใช้วางถ้วยอาหารใส่กับข้าว เวลาทำกับข้าวเสร็จเแล้ว คนล้านนาจะยกมาตั้งให้สมาชิกในครอบครัวหรือแขกที่มาเยี่ยม ทุกคนจะนั่งกับพื้นล้อมวงกินข้าวกัน

สำรับในขันโตกจะสูงพอดีทำให้สะดวกในการกินอาหาร ไม่ต้องก้มลงไปกินกับพื้น

นับว่าขันโตกคือภูมิปัญญาล้านนาแบบหนึ่ง

นอกจากจะใช้ขันโตกแล้ว คนล้านนาท้องถิ่นอาจจะใช้กระด้งหรือถาดแบนแทน เช่นเดียวกับทางอีสาน แบบหลังนี้คนล้านนาเรียกว่าขันข้าว

ในบางพื้นที่ใช้คำว่า “โตก” เฉยๆ เรียกภาชนะชนิดนี้หากยังไม่ได้วางถ้วยอาหารลงไป ในบางที่พอวางสำรับอาหารแล้วก็มักจะเรียกว่าขันข้าว เช่นเดียวกัน

แต่หากใช้โตกมาวางดอกไม้ จะเรียกว่าขันดอก

โดยทั่วไปขนาดของขันโตกจะกำหนดกันเป็นขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อสะดวกในการเลือกใช้ คือ

1. ขันโตกหลวง หรือ สะโตกหลวง ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ ตัดท่อนมากลึงหรือเคี่ยนเป็นขันโตก มีความกว้างประมาณ 60-120 ซ.ม. หรือกว่านั้น ตามขนาดของไม้ที่หามาได้ ลงรักและทาหางสีแดง นิยมใช้กันในคุ้มในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือ รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามทั่วไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับยศศักดิ์ และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นสูงเพื่อใช้เลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง

ส่วนวัดนั้นต้องใช้ขันโตกหลวงเพราะพระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบนอบ ประกอบกับมีประชาชนนำอาหารไปถวายพระปริมาณมากและหลากหลายกว่าอาหารในบ้าน ดังนั้น ประชาชนจึงนิยมทำขันโตกหลวงไปถวายวัด

2. ขันโตกฮาม หรือ สะโตกทะราม แปลว่า ขันโตกขนาดกลาง จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-60 ซ.ม. ใช้ไม้ขนาดกลางมาตัด แล้วเคี่ยนหรือกลึงเช่นเดียวกับขันโตกหลวง ลงรักทาหาง

ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้ มักได้แก่ครอบครัวขนาดใหญ่ เช่น คหบดี เศรษฐีผู้มีอันจะกิน

หรือถ้าเป็นวัด ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้คือพระภิกษุ ในระดับอาวุโส

3. ขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 25-37 ซ.ม. มีวิธีทำลักษณะเดียวกับขันโตกหลวงและขันโตกฮาม ใช้ในครอบครัวเล็ก เช่น หญิง-ชายที่เพิ่งแต่งงานใหม่ หรือผู้ที่รับประทานอาหารลำพังคนเดียว อาหารที่ใส่ก็จะมีจำนวนน้อยกว่า

ในระยะหลังคนล้านนามักจะใช้ขันโตกใส่สำรับอาหารเลี้ยงรับรองอาคันตุกะ เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิต อาหารการกิน และวิถีล้านนาที่มีมาช้านาน

สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว “ขันโตกดินเนอร์” น่าจะเป็นประสบการณ์ของวัฒนธรรมล้านนาแบบหนึ่งที่เขาจะสัมผัสได้