ลุงสีเลี้ยวซ้าย : 3) ปล่อยให้บางคนรวยก่อนจนสุดเหลื่อมล้ำ/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเลี้ยวซ้าย

: 3) ปล่อยให้บางคนรวยก่อนจนสุดเหลื่อมล้ำ

 

การที่รัฐบาลประธานสีจิ้นผิงไม่เพียงป่ายขวาใส่พวกนายทุนขุนโจร (robber-baron capitalists) หากยังหวดซ้ายใส่กลุ่มลัทธิเหมาใหม่ (neo-Maoists) ด้วยนั้น บ่งชี้ว่าการเลี้ยวซ้ายของนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองไปในแนวทางที่สีเรียกว่า “ความไพบูลย์ร่วมกัน” (????) จะไม่ซ้ายจัดสุดโต่งอย่างอดีตประธานเหมาเจ๋อตงสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976)

ข้อไม่ควรลืมคือครอบครัวสีจิ้นผิงถูกเล่นงานอย่างหนักสมัยประธานเหมาเรืองอำนาจโดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม สีจงซุน พ่อของสีจิ้นผิงซึ่งเป็นอดีตผู้นำจรยุทธ์คอมมิวนิสต์สมัยการปฏิวัติและได้ครองตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 นั้นถูกกวาดล้างทางการเมืองในปี 1962 และติดคุกอยู่เกือบสิบปี

ส่วนสีจิ้นผิงเองซึ่งอายุแค่ 13 ปีเมื่อเหมาเปิดฉากปฏิวัติวัฒนธรรม ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นลูกของ “พวกเลวร้าย” โดนรังควาน คุมขัง และสุดท้ายส่งไปทำงานในพื้นที่ชนบทยากไร้ที่ซึ่งสีต้องอาศัยนอนในถ้ำที่เต็มไปด้วยตัวหมัด กว่าสีจิ้นผิงจะได้ฟื้นคืนฐานะอย่างเป็นทางการก็ใน ค.ศ.1978 หลังเหมาตายและการปฏิวัติวัฒนธรรมยุติลงสองปี

ในวาระโอกาสต่างๆ ประธานสีจึงประเมินทั้งเหมาเจ๋อตงและการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันเป็นภัยพิบัติทั้งเพ ซึ่งสอนให้รู้ว่าผู้คนอาจทำอะไรเลยเถิดได้บ้างหากรัฐบาลคุมไม่อยู่ เช่น :-

“การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นการแสดงออกของ ‘ประชาธิปไตยขนานใหญ่’ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม แต่กลับไปสอดคล้องกับไสยศาสตร์แทน” (ทศวรรษที่ 1980 https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Bombard-the-headquarters-Xi-Jinping-s-crackdown-keeps-growing)

“บรรดาผู้นำการปฏิวัติไม่ใช่เทพเจ้า หากเป็นมนุษย์ เราไม่อาจบูชาพวกเขาเหมือนเทพเจ้าได้ แต่เราก็ไม่ควรโละพวกเขาทิ้งและลบล้างผลงานในประวัติศาสตร์ของพวกเขาทั้งหมดเพียงเพราะพวกเขาทำผิดพลาด” (คำปราศรัยของสีจิ้นผิงในวาระครบรอบวันเกิดเหมาเจ๋อตง 120 ปี, 26 ธันวาคม 2013 https://www.ft.com/content/63a5a9b2-85cd-11e6-8897-2359a58ac7a5)

สี่สิบปีก่อน เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำจีนคนแรกที่พาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลี้ยวขวาเข้าสู่แนวทางการสร้างเศรษฐกิจตลาดทุนนิยมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ-พรรคด้วยคำขวัญ “ร่ำรวยไม่ใช่บาปกรรม”

ด้วยพลวัตของการเปิดปล่อยกิเลสโลภและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของทุนนิยมเอกชนดังกล่าว ในชั่วหนึ่งอายุคน คนจีนก็ได้เปลี่ยนผ่านจากการประคองชามข้าวไว้แน่นและหันไปถือกระเป๋าหลุยส์ วิตตองอวดกันแทน

ทว่าใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะเข้าถึงบันไดเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสังคมเดียวกันนั้นไม่ เติ้งจึงประกาศกำชับไว้แต่แรกด้วยว่า : “บุคลิกลักษณะเฉพาะของสังคมนิยมไม่ใช่ความยากไร้ แต่คือความไพบูลย์ หมายถึงความไพบูลย์ร่วมกันของคนทั้งปวง” ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าคนทั้งปวงจะมั่งคั่งไพบูลย์ขึ้นมาในเวลาเดียวกัน หากเป็นว่า ณ ที่ๆ สภาพเงื่อนไขเอื้ออำนวย “ควรปล่อยให้บางคนได้ร่ำรวยขึ้นมาก่อน” แล้วจากนั้นพวกเขาก็จะได้หันมาช่วยเหลือพวกที่ล้าหลังกว่าให้ไล่ทัน เพื่อที่ว่าเมื่อเวลาผ่านล่วงไป คนทั้งปวงจะมั่งคั่งไพบูลย์ไปด้วยกัน (http://keywords.china.org.cn/2018-10/30/content_69084823.htm)

(ซึ่งละม้ายเหมือนทฤษฎียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ ‘เติบโตอย่างไม่สมดุล’ หรือ unbalanced growth ของไทยเราที่ ดร.อำนวย วีรวรรณ รับมาจากศาสตราจารย์ Albert O. Hirschman https://www.matichon.co.th/columnists/news_142789 และคล้ายคลึงกับการเปิดปล่อยกิเลสโลภ และบริโภคนิยมของชาวรากหญ้าต่างจังหวัดของไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบไม่พอเพียงอย่างระเบิดเถิดเทิงสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ดูบทวิเคราะห์ของ Claudio Sopranzetti, “Burning Red Desires : Isan Migrants and the Politics of Desire in Contemporary Thailand”, 2012, www.jstor.org/stable/23752622)

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในจีน ค.ศ.1978-2015 ปรับการประเมินแล้ว เส้นทึบสามเหลี่ยม = พวกรายได้สูงสุด 10%; เส้นเทาสี่เหลี่ยม = พวกรายได้ปานกลาง 40%; เส้นจางวงกลม = พวกรายได้ต่ำสุด 50%

ปรากฏว่าสี่สิบปีให้หลัง จีนกลายเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำกันทางเศรษฐกิจเกือบเท่าสหรัฐอเมริกา แถมยังมีชาวจีนที่กลายเป็นเจ้าสัวพันล้านจำนวนมากกว่าบิลเลียนแนร์ชาวอเมริกันด้วยซ้ำ

คนจีนที่รวยที่สุด 10% ของประชากร 1.4 พันล้านคนถือครองส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติไว้ถึง 41% ในปี 2015 เพิ่มจากเดิมที่ 27% เมื่อปี 1978 (ดูแผนภูมิการคำนวณของ Thomas Piketty กับคณะเมื่อปี 2019 ด้านล่าง https://blogs.lse.ac.uk/businessreview/2019/04/01/income-inequality-is-growing-fast-in-china-and-making-it-look-more-like-the-us/)

และจากการศึกษาของธนาคาร Credit Suisse คนจีนที่รวยที่สุด 1% ถือครองส่วนแบ่งทรัพย์สินของชาติไว้ถึง 30.6% เพิ่มขึ้นถึง 10% จากเมื่อ 20 ปีก่อน และเจ้าสัวทั้งหลายจะไม่หยุดความโลภโมโทสันไว้แค่นี้ โดยธนาคารยังคาดการณ์ต่อไปว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนเศรษฐีเงินล้านของจีนจะเพิ่มขึ้นอีก 92% ของปัจจุบันอันนับเป็นประวัติการณ์ของโลกเลยทีเดียว

แต่ขณะเดียวกัน หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนก็ชี้ว่าทุกวันนี้ยังมีคนจีน 600 ล้านคนยังชีพอยู่ด้วยเงินไม่ถึงพันหยวนต่อเดือน (966.33 หยวนหรือราว 5,000 บาท https://www.lemonde.fr/economie/article/2021/08/31/prosperite-commune-le-nouveau-mantra-de-xi-jinping-pour-la-chine_6092818_3234.html)

ฉะนั้น เสียงเรียกร้องให้ “แบ่งเค้กกันอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น” เพื่อไปสู่ความไพบูลย์ร่วมกันเสียทีจึงดังระงม

(ต่อสัปดาห์หน้า)