ปม ‘พปชร.’ ขัดแย้ง-ไร้เอกภาพ พ่นพิษ ‘การชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.’ ‘ธรรมนัส’ รุก – ‘บิ๊กแป๊ะ’ ถอย/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ปม ‘พปชร.’ ขัดแย้ง-ไร้เอกภาพ

พ่นพิษ ‘การชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.’

‘ธรรมนัส’ รุก – ‘บิ๊กแป๊ะ’ ถอย

 

พื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในเชิงยุทธศาสตร์สำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องช่วงชิงฐานเสียง ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งคานอำนาจกับรัฐบาลกลาง และรักษาฐานเสียงของพรรคการเมืองในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศ

ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งพรรคใหม่ พรรคเก่า จึงต้องเฟ้นบุคคลระดับ “บิ๊กเนม” ที่มีคะแนนนิยมในตัวเองมาเป็นตัวเลือกให้กับชาวกรุงเทพฯ ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบมียุทธศาสตร์ทางการเมือง

ยิ่งการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ละพรรคที่มีฐานเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องเจอกับกติกาอย่างรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามพรรคการเมืองออกหน้าสนับสนุนบุคคลลงรับเลือกตั้งท้องถิ่น

การจะส่งใครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จึงต้องวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่รอบคอบมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับพื้นที่ กทม. มีจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 30 เสียง แบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี ส.ส.กทม. 12 เสียง พรรคเพื่อไทย (พท.) มี ส.ส. 9 เสียง และพรรคก้าวไกล 9 เสียง

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละพรรคนอกจากจะต้องอาศัยฐานเสียงของ ส.ส.มาสนับสนุนแล้ว ยังต้องมีทีมสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขตกรุงเทพ (ส.ข.) เป็นกลไกระดับพื้นที่สนับสนุนด้วย

ซึ่งพรรคใหญ่อย่างพรรค พปชร.ระดับแกนนำยังมีปัญหาภายใน ไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้แคนดิเดตชิงผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่มีความชัดเจน

จากเดิมที่มีชื่อของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศตัวพร้อมชิงผู้ว่าฯ กทม. โดยมีการลงพื้นที่พบปะประชาชน สร้างคะแนนนิยม พร้อมกับเซ็ตทีมผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขตไว้แล้ว

โดยชูสโลแกน “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้าง สะอาด ปลอดภัย แก้ปัญหาฉับไว” ที่อาคารปานศรี ถนนรัชดาภิเษก อาคารที่ทำการพรรค พปชร.ที่แรก ใช้เป็นสถานที่ทำการเตรียมความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ชื่อของ “บิ๊กแป๊ะ” ที่ประกาศชิงผู้ว่าฯ กทม. เจ้าตัวได้ยอมรับและเปิดเผยกับสื่อว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เคยพูดกับ “บิ๊กแป๊ะ” ไว้ว่า ถ้าไม่มีอะไรทำ ก็น่าจะไปลงผู้ว่าฯ กทม.

ย่อมถือเป็นสัญญาณอย่างมีนัยยะสำคัญว่า “บิ๊กป้อม” พร้อมหนุน “บิ๊กแป๊ะ” ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แต่จะในนามอิสระ โดยมีพรรค พปชร.หนุนหลัง หรือลงในนามพรรค พปชร. ตรงนี้ยังไม่การคอนเฟิร์มที่ชัดเจน

 

แต่เมื่อการเมืองระดับนำของพรรค พปชร.กับแกนนำรัฐบาลมีปัญหาขัดแย้งกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ของ “บิ๊กแป๊ะ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ประกาศต่อการประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ที่ “บิ๊กแป๊ะ” เซ็ตทีมไว้ว่า จะถอนตัวจากการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ที่เคารพต้องลำบากใจ จึงขอยุติการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.”

ผู้ใหญ่ของ “บิ๊กแป๊ะ” ที่ว่านี้ หลายฝ่ายระบุตรงกันว่า คือ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องลำบากใจในการเลือกสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้เพียงหนึ่งชื่อ เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวจาก “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ได้ฟอร์มทีมผู้สมัคร ส.ก.ไว้ลงรับเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งหน้าด้วย

ด้วยปัจจัยนี้ ทำให้ “บิ๊กแป๊ะ” ย่อมไม่อยากสร้างความลำบากถึงขึ้นสร้างความขัดแย้งกับอดีตผู้บังคับบัญชา สมัยที่ “บิ๊กวิน” ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน

หาก พล.ต.อ.อัศวินอยากจะลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และ “บิ๊กแป๊ะ” ไม่หลีกทาง ลงสมัครแข่งอีกคน ย่อมเป็นการตัดคะแนนกันเองของฐานเสียงคนที่สนับสนุนพรรค พปชร.

 

รวมทั้งยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ “บิ๊กแป๊ะ” เกิดความลำบากใจถึงขั้นขอถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากคนสนิท มือทำงานของ “บิ๊กป้อม”

อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค พปชร. กับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ที่ลงพื้นที่ใน กทม.อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งเคยลั่นวาจาไว้ด้วยว่าจะดูแลพื้นที่ กทม.ทุกพื้นที่ และยังระบุด้วยว่า ได้รับนโยบายจากหัวหน้าพรรคว่าจะส่ง ส.ส.ให้ครบทุกเขต

ส่วนการส่งผู้สมัคร ส.ก. จะให้ ส.ส.แต่ละเขตไปดูแล นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณว่า ผู้บริหารพรรค พปชร.ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรคนหนึ่งได้เรียก ส.ส.และผู้สมัคร ส.ก.ไปหารือ พร้อมกับพูดในลักษณะไม่สนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์แล้ว โดยยกเหตุผลว่า ถ้าช่วย พล.ต.อ.จักรทิพย์เต็มตัวแล้วไม่ชนะ เกรงว่าพรรค พปชร.จะอยู่ใน กทม.ลำบาก จึงต้องสื่อสารกับ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ก.ว่าไม่สนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์แล้ว

จน “บิ๊กป้อม” ต้องออกมาสยบข่าวความขัดแย้งในพื้นที่ กทม.ว่า จะดูแล กทม.และพื้นที่ทั่วประเทศเอง ไม่ได้มอบหมายให้ใคร หรือคนที่มีชื่อตามที่มีกระแสข่าวมาดูแลพื้นที่ กทม.แต่อย่างใด

อีกทั้งการที่พรรค พปชร.จะสนับสนุนใครลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจทำไม่ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขในข้อกฎหมาย และพรรค พปชร.จึงไม่คิดจะส่งใครลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

แม้การออกมาสยบความขัดแย้งในพื้นที่ กทม.และการสนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค พปชร.ของ “บิ๊กป้อม” เพื่อลดแรงเสียดทานและแรงกระเพื่อมของกลุ่มสนับสนุนพรรค พปชร.และ “บิ๊กแป๊ะ” ให้ลดดีกรีความร้อนแรงลง

ตามมาด้วยละครฉากใหญ่ เมื่อ ร.อ.ธรรมนัสออกมาระบุอย่างเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับพี่แป๊ะ ผมกับพี่แป๊ะเหมือนกับคอหอยกับลูกกระเดือก” แม้คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัสจะเปรียบเปรยว่า ไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกัน ยังรักและดูกันเหมือนเดิม

แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับดูสวนทาง เพราะไร้ซึ่งสัญญาณที่จะยื้อให้ “บิ๊กแป๊ะ” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค พปชร.ต่อ

อีกทั้ง ร.อ.ธรรมนัสพร้อมด้วยนางนฤมลและ ส.ส.บางส่วน ยังได้หารือลับกับ พล.อ.ประวิตร โดยมีการหยิบยกเรื่องการถอนตัวของ “บิ๊กแป๊ะ” ขึ้นมาพูดคุย และมีบางคนในวงหารือออกตัวว่าไม่มีการบีบหรือกดดันใดๆ ให้ “บิ๊กแป๊ะ” ถอนตัวแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ในการหารือมีการเสนอชื่อ 3 คนที่พรรค พปชร.จะสนับสนุนลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วย แต่ยังไร้สัญญาณสนับสนุนที่ชัดเจนจาก “บิ๊กป้อม”

ส่วน “บิ๊กเนม” คนใดจะฝ่าด่านความขัดแย้งภายในพรรค พปชร. เข้าชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค หรือในนามอิสระแต่มีพรรค พปชร.สนับสนุน คงต้องจับตาดูกันต่อไป