การประชุม COP 26 โลกร่วมมือยืดเวลาวันสิ้นโลก/บทความต่างประเทศ

World Leaders pose for a group photo during an evening reception to mark the opening day of the COP26 U.N. Climate Summit, in Glasgow, Scotland, Monday, Nov. 1, 2021. The U.N. climate summit in Glasgow gathers leaders from around the world, in Scotland's biggest city, to lay out their vision for addressing the common challenge of global warming. (AP Photo/Alberto Pezzali, Pool)

บทความต่างประเทศ

 

การประชุม COP 26

โลกร่วมมือยืดเวลาวันสิ้นโลก

 

ปัจจุบันโลกประสบปัญหามากมาย แต่หนึ่งในนั้นมีปัญหาใหญ่ที่เร่งด่วนและเป็นเรื่องที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของมนุษยชาติ ปัญหาที่ว่าก็คือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ไคลเมจเชนจ์”

จึงเกิดเป็นการประชุมที่ผู้นำโลกมารวมตัวกันเพื่อหาวิธีการยืดเวลาวิกฤตที่อาจนำไปสู่ “วันสิ้นโลก” นั่นก็คือ “คอป 26” (COP 26) ซึ่งได้เริ่มต้นไปแล้วที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ หลังจากการประชุมต้องเลื่อนมาจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

จุดเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อนานาชาติร่วมลงนามในภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีจี) ในปี 1982 นับเป็นครั้งแรกที่โลกเริ่มหาแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

และเป็นครั้งแรกที่โลกยอมรับว่าจำเป็นจะต้องควบคุมการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา “ไคลเมจเชนจ์” ตามมา

ยูเอ็นเอฟซีซีจี มีการพัฒนารายละเอียดมาโดยตลอด รวมไปถึงการร่วมลงนามใน “ข้อตกลงปารีส” เมื่อปี 2015 ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนหน้าการปฏิรูปอุตสาหกรรม

และถ้าจะให้ดีต้องคุมให้ไม่สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากไคลเมจเชนจ์

 

สําหรับการประชุม “คอป 26” เป็นชื่อการประชุมที่ย่อมาจาก 26th Conference of Parties to the UNFCCC หรือการประชุมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในยูเอ็นเอฟซีซีจี ครั้งที่ 26 นั่นเอง

“ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ประกอบไปด้วย 196 ประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันในอนุสัญญา และจะเข้าร่วมประชุมคอป 26 ในปีนี้ซึ่งมีสหราชอาณาจักรและอิตาลีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

การประชุมในปีนี้สำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รายงานด้านสภาพอากาศจากทีมงานนักวิทยาศาสตร์นานาชาติของยูเอ็น หรือไอพีซีซี เพิ่งจะรายงานถึงผลกระทบจากไคลเมจเชนจ์ไว้อย่างชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยระบุว่า “กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นอย่างชัดเจน” และ “ปัญหาไคลเมจเชนจ์นั้นแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”

ไอพีซีซีอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ไคลเมจเชนจ์จะทำให้เกิดอากาศแปรปรวนรุนแรง น้ำท่วม คลื่นความร้อน ภาวะภัยแล้ง เกิดการสูญพันธุ์ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงด้วย ขณะที่นายอันโตนิโอ กูร์แตเรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นถึงกับระบุว่า รายงานของไอพีซีซีเป็น “สัญญาณเตือนระดับสีแดง” สำหรับมนุษยชาติ

ยิ่งกว่านั้น ไอพีซีซียังระบุด้วยว่า ก๊าซเรือนกระจกในเวลานี้ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศมีอยู่มากพอ และนานพอที่จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างน้อย 50 ปี แม้ว่าโลกร่วมมือกันทำได้ตามเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังเล็กๆ โดยไอพีซีซีระบุว่า หากนานาชาติสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น “ศูนย์” ภายในปี 2050 จะทำให้ครึ่งหลังของศตวรรษนี้โลกมีอุณหภูมิกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้อีกครั้ง

แต่หากไม่ทำอะไรเลยโลกจะไปสู่อุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะที่คาดเดาไม่ได้เลยทีเดียว

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในคอป 26 วันแรกก็คือ บรรดาผู้นำประเทศราว 120 ประเทศ “ให้คำมั่นทางการเมือง” ที่เป็นแนวทางเพื่อชะลอไคลเมจเชนจ์

หลังจากผู้นำประเทศเดินทางกลับ จะเป็นหน้าที่ของตัวแทนแต่ละประเทศที่ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม จะร่วมหารือ ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อประกาศจุดยืน ให้คำมั่นและเข้าร่วมกับแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ

การประชุมคอป 26 จะสิ้นสุดลงด้วย “ถ้อยแถลง” ที่ทุกๆ ชาติเห็นพ้องต้องกันซึ่งอาจเป็นเรื่องที่น่าพอใจ หรืออาจน่าผิดหวัง

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในการประชุมคอป 25 ซึ่งนายกูร์แตเรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ออกมาแสดงความผิดหวังกับผลการประชุม ซึ่งนั่นอาจเกิดขึ้นอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้ก็เป็นได้

ตามข้อตกลงปารีส ทุกๆ ประเทศจะต้องรายงานแผนการระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาไคลเมจเชนจ์ทุกๆ 5 ปี เช่นเดียวกับในคอป 26 นี้ด้วย โดยเป้าหมายดังกล่าวในปีนี้หลายประเทศคาดหมายว่าจะตั้งเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นไปจนถึงปี 2030 โดยเป้าหมายเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า “เอ็นดีซีส์”

ตามข้อตกลงปารีส ทุกๆ ประเทศจะต้องรายงานเอ็นดีซีส์ รวมถึงเปิดทางให้แต่ละประเทศประกาศวิธีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงก็ได้

 

หนึ่งในเป้าหมายหลักของคอป 26 ในครั้งนี้นอกเหนือไปจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” ในปี 2050 แล้ว ยังมีเป้าหมายเรื่องการเพิ่มงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศ “กำลังพัฒนา” กลุ่มประเทศที่ประชากรต้องรับกรรมจากไคลเมจเชนจ์มากที่สุดทั้งๆ ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ให้สามารถ เปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดและปรับตัวอยู่กับไคลเมจเชนจ์ได้

นอกเหนือจากนั้นแล้วยังมีเป้าหมายอื่นๆ ด้วย เช่น การ “เลิกใช้ถ่านหิน” การกำหนดกลไกและกฎเกณฑ์ของ “ตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ” ที่คุยกันมาหลายปีก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเสียที

สำหรับท่าทีของประเทศผู้ก่อให้เกิดไคลเมจเชนจ์มากที่สุดนั้นดูจะไม่ได้ทำให้มีความหวังมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจีนผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกที่เพิ่งรายงานเอ็นดีซีส์ไปเมื่อเดือนตุลาคม มีแผนเปลี่ยนไปเล็กน้อยเท่านั้น ด้านรัสเซียและออสเตรเลีย สองประเทศผู้ผลิตพลังงานจากฟอสซิลรายใหญ่ของโลกเองก็มีทีท่าว่าจะไม่ต้องการปรับเป้าหมายให้ท้าทายยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับซาอุดีอาระบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่แม้จะตั้งเป้าให้สูงขึ้น แต่ก็ยังยืนยันจะผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไป ส่วนอินเดีย ประเทศที่บริโภค ผลิต และนำเข้าถ่านหินอันดับ 2 ของโลก ก็ยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ในเวลานี้

จากนี้คงต้องรอดูว่า คอป 26 จะมีผลการหารืออกมาเป็นเช่นไร นานาชาติจะรวมมือกันตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ยืดเวลาหายนะที่อาจนำไปสู่ “วันสิ้นโลก” ได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตาม