เปลี่ยนความคิดที่ใช้เลือก/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

เปลี่ยนความคิดที่ใช้เลือก

 

ถ้าตัดพรรคการเมืองประเภทพร้อมเปลี่ยนสีปรับกลิ่นไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้าออกไปก่อน

จะพบว่าความเชื่อของนักการเมืองเรื่องการตัดสินใจเลือกใคร หรือพรรคไหนของประชาชน จะพบว่าส่วนใหญ่ยังคิดว่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

คือฝ่ายหนึ่ง ที่นิยมพรรคที่ยืนหยัดในหลักการอิงอำนาจประชาชน ถือว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด เรียกว่าประชาชนที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตย

กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ไม่เชื่อว่าประชาชนควรจะเป็นเจ้าของอำนาจทั้งหมด หรือเชื่อว่าอำนาจที่กลุ่มชนชั้นนำเป็นผู้ควบคุมมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศให้พัฒนาได้มากกว่า เรียกฝ่ายเลือกอำนาจนิยม

ฝ่ายแรกเลือกพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคฝ่ายที่ยืนหยัดชัดเจนกับการต่อต้านอำนาจนิยม

ฝ่ายหลังเลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ

ความคิดที่แตกต่างนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่าวิธีสร้างคะแนน หรือความนิยมชมชอบแบ่งเป็น 2 แบบ

ฝ่ายแรก เชื่อว่าจุดยืน อุดมการณ์ หรือนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเสนอให้ประชาชนเลือก

อีกฝ่ายเชื่อว่า การลงพื้นที่ สร้างเคลือข่ายดูแลสารทุกข์สุกดิบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ เพื่อดูแลประชาชน ตามนิยามของระบบอุปถัมภ์เป็นการสร้างความนิยมที่ได้ผลกว่า

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า งานภาคปฏิบัติควรเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะนำเอานโยบายของนักการเมืองไปดำเนินการให้สำเร็จ

อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในแนวทางนักการเมือลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

 

ช่วงนี้ปี่กลองการเลือกตั้งครั้งใหม่เริ่มดังขึ้น และความเข้มข้นในการหาคะแนนเสียงเริ่มลงมือกันอย่างจริงจัง

นักสำรวจความคิดประชาชน อย่าง “นิด้าโพล” เริ่มลงมือในทางความเชื่อของตัวเอง ว่าด้วยประเด็น “ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่บ่อย…จริงใจหรือไก่กา”

คำถามเน้นที่ “การลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน” เป็นหลัก

ซึ่งผลออกมาในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อนักการเมืองนัก

เช่น เมื่อถามว่า “ลงพื้นที่เพื่อดูแลประชาชนหรือเพราะกระแสยุบสภา” คำตอบส่วนใหญ่คือร้อยละ 58.89 บอกช่วยเหลือประชาชนและหาเสียงไปด้วย ร้อยละ 19.38 บอกไปเพราะกระแสยุบสภามากกว่า ร้อยละ 11.17 บอกเพื่อช่วยเหลือประชาชนจริงๆ

เมื่อถามว่า ส.ส.ในเขตเลือกตั้งลงพื้นที่บ่อยแค่ไหน ร้อยละ 38.83 บอกว่าไม่เคยลงเลย, ร้อยละ 36.93 บอกไม่ค่อยบ่อย, ร้อยละ 16.41 ตอบว่าค่อนข้างบ่อย และร้อยละ 7.45 ที่บอกว่าบ่อยมาก

เป็นคำตอบที่คล้ายกับว่า ส.ส.ช่างไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีเสียเลย

เหมือนกับว่าการตัดสินใจของประชาชนจะเลือกพรรคที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่ลงพื้นที่ดูแลประชาชนมากกว่า

 

ทว่าใน “สวนดุสิตโพล” ที่สำรวจในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเลือกพรรคการเมืองไหน ร้อยละ 32.9 เพื่อไทย, ร้อยละ 25.21 ก้าวไกล, ร้อยละ 24.61 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 6.18 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 2.28 ภูมิใจไทย

และเมื่อถามว่าเลือกตั้งครั้งหน้าอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 28.67 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 21.27 ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 19.35 สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 8.84 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ร้อยละ 6.09 พจมาน ดามาพงศ์

ถ้าจัดความคิดของประชาชนแบบ “นิด้าโพล” คือให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์ เป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคก้าวไกล ซี่งเน้นการแสดงออกเรื่องจุดยืนและนโยบาย มากกว่าการลงพื้นที่จะกวาดคะแนนนิยมได้ระดับนี้

คำตอบของ “สวนดุสิตโพล” อาจจะเป็นเครื่องชี้วัดว่า “คุณภาพการเลือกตั้งของประชาชน” เปลี่ยนไปแล้ว

ประชาชนคาดหวังบทบาทใหม่ของนักการเมือง

ประชาชนในยุคที่ภารกิจแรกที่ตื่นเช้าขึ้นมาคือดูโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเรื่องราวและพฤติกรรมของนักการเมืองอยู่ในนั้น ให้รับรู้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ