คุณเป็นใคร/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

คุณเป็นใคร

 

เพียงแค่กฎหมายและระบบยุติธรรมของประเทศทำหน้าที่เป็น “หลักประกัน” ว่าจะไม่ปล่อยให้มีการใช้กำลังอาวุธเข้าหักหาญปล้นชิงกัน ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็จะปลอดภัย สุจริตชนทั้งหลายสามารถดำเนินกิจกรรมได้เสมอหน้า

ถ้าจะมีข้อพิพาทอันใดขึ้นก็ไม่ต้องตัดสินกันเอง ไม่มีการเอาคืนหรือล้างแค้นกันเอง เช่นนั้น ความเป็นปกติก็จะคืนกลับสู่สังคม

ในด้านการเมืองก็เหมือนกัน

การเมืองต้องมีกติกา ถ้าไม่ปล่อยให้มีการใช้กำลังคนและกำลังอาวุธเข้าแย่งยึดช่วงชิงอำนาจ “การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ” จากมือหนึ่งไปสู่มือหนึ่ง หรือจากคณะบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคณะบุคคลหนึ่งดำเนินไปอย่าง “สันติวิธี” กฎหมายและระบบยุติธรรมของประเทศก็จะได้ชื่อว่า เข้มแข็ง เป็นหลักประกันความมีอารยะ ผู้คนจะเรียนรู้ที่จะต้องมีความอดทนข่มกลั้น รู้แพ้รู้ชนะในเกม ไม่ใช่พ่ายแล้วพาล ชักชวนกันก่อการปล้นชิงเฉกเช่นรัฐนับพันปีก่อน

ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย การใช้กำลังทหารและอาวุธของกองทัพเข้ายึดอำนาจจากฝ่ายบริหารนั้นผิดกฎหมายร้ายแรงและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

แต่ในสังคมไทย การปล้นชิงอำนาจรัฐด้วยกำลังคนและอาวุธดำเนินสืบต่อกันมากว่าครึ่งศตวรรษ ไม่เคยถูกเอาความหรือดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

ในทางตรงกันข้าม เมื่อมี “คนธรรมดา” ผู้หนึ่งลุกขึ้นมาเปิดตัวอย่างสง่าผ่าเผยเพื่อประกาศแนวทางการเมือง เขาหรือเธอเหล่านั้นมักจะได้รับการ “รับน้อง” ชนิด “กระทืบให้จมดิน”

ดังเช่นที่มีบางคนทำมึนย้อนถาม “อุ๊งอิ๊ง คือใคร” พร้อมๆ กับมีความพยายามสร้างความแปดเปื้อนให้ในทันทีทันใด

 

“แพทองธาร” จึงต้องเล่าความว่า เมื่ออายุได้ 8 ขวบ พ่อเธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พออายุได้ 9 ขวบ พ่อเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ตอนที่อายุ 12 ขวบ พ่อเธอก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ซึ่งเป็นชื่อที่อยู่ในใจเสมอมา

ล่วงผ่านถึงวันนี้ “อุ๊งอิ๊ง” อายุ 35 ปีแล้ว ทั้งกำลังเปิดตัวสู่ถนนการเมืองในฐานะ “ประธานที่ปรึกษาพรรค ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม” อันเป็นครรลองของคนปกติที่พึงทำในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่อุ๊งอิ๊งเดินเข้ามาบนถนนการเมืองโดยที่ในมือไม่มีปืน ไม่มีพวกหน้าตาบูดบึ้งขึงขังในมือถือถุงดำที่ใช้คลุมหัวนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่มีทางที่จะสั่งให้อุ้มใครไปกักตัวไว้ในค่ายทหารได้ แต่ทำไม? ถึงได้มากไปด้วยแรงริษยาอาฆาตจากฝ่ายตรงข้าม

การเมืองในวิถีประชาธิปไตยนั้นต้องเล่นกันภายในกรอบกฎหมาย

เล่นในเกมด้วยความสามารถและสติปัญญา แพ้ให้เป็น เย็นให้ได้ และรู้จักรอคอย รู้จักคิดใหม่ ขายฝันใหม่ ลงมือทำใหม่ เพื่อเอาชนะใจเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ใช่ “เสียง” ที่เกิดจากการใช้อำนาจฉ้อฉลสถาปนาขึ้นมา

 

ขยับจากเรื่องอุ๊งอิ๊ง ไปที่ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในสัปดาห์ที่แล้วการเมืองไทยเกิดความคึกคักอักโขขึ้นจากคำประกาศของ “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ลงนามวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ความโดยสรุปว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมจะนำทุกข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศ

คุณเป็นใคร!

นักการเมืองต้องเปิดใบหน้า พรรคการเมืองต้องเปิดนโยบาย แสดงแนวทางด้านต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร ทำได้หรือไม่ได้

หัวใจสำคัญ ไม่ใช่ใครคุมกำลัง ใครมีปืน หรือมีใครกำลังจดๆ จ้องๆ จะปล้นประชาธิปไตย!

คนไทยควรจะได้รับ “ความปลอดภัย” ในชีวิตและทรัพย์สิน กับการเมืองไทยควร “ปลอดจาก” การใช้กำลังทหารและอาวุธยึดอำนาจรัฐ

ถ้าทุกคนที่อยู่ในระบบการเมืองและระบบยุติธรรมรู้จักตัวเองว่า “คุณเป็นใคร” มีหน้าที่อะไร ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าสู่ความเป็นอารยะ

 

“ความเห็นต่าง” ของพรรคการเมืองกับประเด็นปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และกฎหมายอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องแสนธรรมดา อย่าได้ปลุกผีขึ้นมาทำลายกัน

พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล แสดงท่าทีชัดเจนว่ามีจุดยืนขอแก้ “ม.112” ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนผ่าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค และผ่าน “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคว่าเลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม

“ราเมศ” มั่นใจถึงกับประกาศว่า “ถ้ายื่นเข้าสภาเมื่อใดก็ต้องสู้กัน ประชาธิปัตย์สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าคิดและทำดี ก็ไม่ควรกลัวกฎหมาย”

การใช้ตรรกะอธิบายแบบนี้ ทำให้ต้องนึกทบทวนถึงพื้นฐานด้านกฎหมายระหว่าง “ราเมศ รัตนะเชวง” กับ “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุด

ต่างชั้นกันเกินไป!

กฎหมายอาศัยอยู่ในกาลเวลา ทุกกฎเกิดจากน้ำมือมนุษย์เพื่อประโยชน์สูงสุดแห่งผู้คนในชุมชน

ไม่มีกฎหมายใดในโลกที่แก้ไขไม่ได้

“ชัยเกษม” กำลังนำเสนอแนวทางสร้างความมั่นคงแก่ระบบยุติธรรมและการเมืองของประเทศ

เมื่อระบบยุติธรรมตั้งมั่น ไม่ปล่อยให้มีการปล้นชิงกันตามอำเภอใจก็จะเกิดการปกครองด้วยเหตุผล มีการใช้อำนาจด้วยเมตตา ไม่ใช่ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน

ถึงเวลานั้นความเคารพและศรัทธาจะเกิดขึ้นโดยมิพักต้องบังคับ!?!!!