‘ฉลามเสือ’ เมื่อมนุษย์ทุกคนมีปมเอดิปัส/บทความพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

‘ฉลามเสือ’

เมื่อมนุษย์ทุกคนมีปมเอดิปัส

 

พิริยะดิศ มานิตย์ (2559 : 2-3) สรุปแนวคิดสำคัญของซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ ‘ปมเอดิปัส’ ว่าเป็นความปรารถนาทางเพศ และความก้าวร้าวต่อบุคคลร่วมสายเลือดที่มีอยู่ในใจ หรือฝังในจิตใต้สำนึกตั้งแต่เป็นทารก

ทั้งนี้ ปมเอดิปัสเป็นความปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพ่อ-ลูกสาว พ่อ-ลูกชาย แม่-ลูกสาว แม่-ลูกชาย พี่กับน้อง อาจไม่ใช่บุคคลร่วมสายเลือดโดยตรงก็ได้

อย่างการศึกษาวิจัยในหนังสือ ‘ปมเอดิปัส’ ในนิทานแปร์โรต์ ของพิริยะดิศ มานิตย์ เช่น พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง พี่น้องต่างสายเลือด หรือคู่สามี-ภรรยาที่มีอายุห่างกันราวพ่อ (แม่) ลูก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความรุนแรงในครอบครัว ผ่านความรู้สึกรัก พึงพอใจ ชิงชังรังเกียจ ยื้อแย่งแบ่งแยก ฆ่า ทำร้าย หรือกำจัดอีกฝ่ายไปให้พ้น

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “ฉลามเสือ” ของพึงเนตร อติแพทย์ ซึ่งใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่อง ผ่านมุมมองพระเจ้าแบบเล่าย้อนเรื่องราวความรุนแรงในครอบครัวชายเป็นใหญ่ เมื่อพ่อทำร้ายแม่ จนชมพูซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน เธอจึงหายหน้าไปจากครอบครัว

ครั้นพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและตาย ชมพูจึงมาร่วมงานศพ ให้อภัยและกลับบ้าน

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ชมพูเล่ารายละเอียดความผูกพันจากทรงจำแบบทั้งรักทั้งเกลียด ขณะพ่อของเธอยังมีชีวิตด้วยน้ำเสียง (ลูก) ผู้หญิง

เรื่องสั้นดังกล่าวตีพิมพ์ใน “ราหูอมจันทร์ Vol. 24 ฉลามเสือและอื่นๆ” มีวัชระ สัจจะสารสิน เป็นบรรณาธิการเล่ม

เรื่องสั้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564

โดยจะวิเคราะห์ตัวบทใน 3 ประเด็น

 

ทำไมต้องขว้างจาน

: ฉากความรุนแรง

ในครอบครัวชายเป็นใหญ่

กลางดึกที่พ่อเมากลับเข้าบ้าน เรียกแม่ให้ลงมาหาข้าวให้กิน แต่เมื่อเห็นแม่ชักสีหน้าก็อาละวาด ขว้างจาน พอชมพูจะไปจัดแจงข้าวปลาแทนแม่ พ่อก็ตะโกนไม่ให้ยุ่ง เจาะจงว่าต้องเป็นแม่เท่านั้น แม่ที่พ่อประกาศต่อหน้าลูกๆ ว่า “มึงเป็นเมียกู กูหาเลี้ยงให้มึงอยู่สุขสบาย” (น.110)

เท่ากับพ่อกำลังแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ผู้ออกคำสั่ง แม่ในฐานะภรรยาต้องทำหน้าที่หาข้าวปลามาให้สามีกิน ห้ามใครทำหน้าที่นี้แทน

นับเป็นการกำหนดบทบาทของภรรยาในครอบครัวชายเป็นใหญ่ไว้อย่างชัดเจน

การที่พ่อขว้างจานพอร์ซเลน ความหมายแรกคือ จานเป็นสิ่งของที่พ่อซื้อให้แม่ไว้ใช้ในครัว เมื่อพ่อไม่พอใจ จึงขว้างมันเพื่อตอกย้ำว่าแม่บกพร่องต่อหน้าที่แม่บ้าน

อีกทั้งการที่พ่อยกส้อมพร้อมจะพุ่งมันมาที่แม่ ส้อมจึงเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้าย เมื่อถูกแยกคู่จากช้อน และความหมายจากคำพ้องเสียงของส้อม-ซ่อม ที่ต่อมาความสัมพันธ์ในครอบครัวนี้ไม่อาจซ่อมหรือสร้างได้เหมือนเดิม มันแตกร้าวเหมือนจานพอร์ซเลนใบนั้น ใบที่ชมพูเคยเปรียบความขาวว่าเหมือนผิวของแม่

ความหมายต่อมาคือ จานที่พ่อขว้างยังเป็นการทำร้ายแม่ในเชิงสัญลักษณ์ เพราะพ่อเห็นแม่ไม่ต่างจากวัตถุตามแนวคิดชายเป็นใหญ่นั่นเอง

 

ตบหน้า ถูกไล่ออกจากบ้าน

: การบรรลุภาวะทางเพศของชมพู

หากจับคู่ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวนี้ผ่านแนวคิด “ปมเอดิปัส” จะเห็นว่า ลูกชายเป็นของแม่ ลูกสาวเป็นของพ่อ

ลูกชายเป็นของแม่ พิจารณาได้จาก หลังชมพูถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน เธอชวนแม่ไปด้วย แต่แม่ไม่ไป น้องชายจึงรับบทบาทผู้ปกป้องแม่ เขายอมถูกซ้อมแทนในวันที่พ่อเมา และเลิกยาหลังจากพ่อจับได้

เขาถูกพ่อทำร้าย ห้ามกินข้าว เอากุญแจมือล็อกไว้กับเก้าอี้ห้ามไปไหน แม่จึงขอร้องพ่อให้ปล่อย เป็นความผิดของเธอที่เลี้ยงลูกไม่ดีเอง

เมื่อพ่อคาดโทษว่าถ้าไม่เลิกยา เขาและแม่ต้องตาย เขาเลือกที่จะไม่ตอบโต้ เมื่อรู้ว่าไม่อาจต่อสู้หรือขัดขืนกับอำนาจของพ่อได้ เขาจึงยอม เพราะอ่อนแอเหมือนแม่

ส่วนลูกสาวเป็นของพ่อ เพราะพ่อสอนให้ชมพูเป็นเด็กผู้หญิงเข้มแข็ง พ่อประเคนทุกอย่างที่เธออยากได้ เธอจึงกล้าเผชิญหน้า เถียง และปกป้องแม่ แม้ต่อมาจะถูกไล่ออกจากบ้าน ต่างจากน้องชายที่ยอมให้พ่อซ้อม หรือเลือกที่จะเลิกยาตั้งแต่วันนั้นเพราะกลัวแม่ตาย น้องชายจึงตกอยู่ใต้อำนาจของพ่อ ยอมให้เขากระทำรุนแรงกับตนมากกว่าจะตัดขาดจากครอบครัวเหมือนพี่สาว

การถูกเลี้ยงแบบตามใจทุกอย่าง เพราะชมพูเป็นลูกสาวที่พ่อปรารถนา เมื่อเธอต้องการดูคอนเสิร์ตที่จัดในสถานบันเทิง ซึ่งเธอกับเพื่อนอายุไม่ถึง พ่อทั้งจ่ายค่าบัตร และเบิกทางให้ได้เข้าไปในนั้น แต่ชมพูก็ถูกพ่อตบหน้า

“ให้มาดูคอนเสิร์ต แล้ววิ่งกรี๊ดตามผู้ชายไปทำไม คอนเสิร์ตเลิกแล้วทำไมไม่ออกมา แรดนักใช่ไหม” (น.116)

ข้อความข้างต้น เป็นการแสดงความรุนแรงทางวาจาที่ตีความได้ว่า พ่อเป็นคนออกค่าบัตรให้เข้าไปดูและฟังคอนเสิร์ต เลิกแล้วต้องออกมาหาพ่อ ไม่ใช่วิ่งกรี๊ดตามผู้ชายคนอื่น มันแสดงถึงความแรดของผู้หญิง ทำให้พ่อหวงและไม่พอใจ จึงตบหน้าเพื่อตักเตือน เป็นการใช้อำนาจชายเป็นใหญ่ในที่สาธารณะ ทำให้ชมพูเจ็บและอับอาย หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามันรุนแรงกว่าการทำร้ายในบ้าน

หลังจากนั้นชมพูก็ปฏิเสธจะไปไหนกับพ่อ พัฒนาการทางเพศของเธอจึงถูกเก็บกดเอาไว้ พอถูกไล่ออกจากบ้าน ชมพูจึงไปใช้ชีวิตอย่างเต็มที่

“ชมพูในมินิเดรสเว้าหลังสีครีมกำลังเต้นอยู่ในผับกับผองเพื่อน นับแต่ออกจากบ้านมา แทบไม่มีวันไหนเลยที่เธอไม่ออกมาใช้จ่ายวันเวลาอยู่ข้างนอกยามค่ำคืน” (น.114)

ข้อความข้างต้น หลังถูกพ่อตบหน้า ชมพูเก็บกดความแรดไว้ ไม่ไปไหนกับพ่ออีก เธอเลือกที่จะเก็บตัวอยู่ในห้อง ปิดเทอมก็ไปทำงานกับแม่ ใช้เวลาทั้งวันในห้องสมุดของตึก เท่ากับว่าชมพูไม่อยากอยู่ในสายตาของพ่อ ไม่กล้าออกไปแรด เป็นการยับยั้งกระบวนการแสดงความปรารถนาทางเพศ

แต่เมื่อพ่อไล่ออกจากบ้าน ชมพูใช้ชีวิตในผับกับผองเพื่อนจน “แทบไม่มีวันไหนเลยที่เธอไม่ออกมาใช้จ่ายวันเวลาอยู่ข้างนอกยามค่ำคืน”

จึงเป็นการปลดปล่อยตนเองให้บรรลุภาวะทางเพศที่ถูกเก็บกดไว้จากพ่อและในบ้าน ซึ่งเป็นพัฒนาการจากเด็กหญิงก้าวผ่านไปเป็นวัยรุ่น

ข้อน่าสังเกตคือ ช่วงอายุ 14 ที่ออกจากบ้าน กับ 3 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก ชมพูยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย เธอเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กหญิงเป็นนางสาว แต่การเช่าคอนโดฯ เมาทุกคืน คบเพื่อนเที่ยวผับ มีรถขับ ถามว่าชมพูทำอาชีพอะไร เธอได้เงินจากไหน จุดนี้อาจเป็นความไม่สมเหตุผล ทั้งในเรื่องจริงและเรื่องแต่ง

แต่ผู้วิจารณ์คาดว่า ชมพูคงได้รับการส่งเสียจากพ่อ หมายความว่าเธอยังอยู่ภายใต้เงื้อมเงาชายเป็นใหญ่ ผู้ “หาเลี้ยงให้มึงอยู่สบาย” ไม่ต่างจากแม่ (น.114) ในฐานะ “ลูกสาวตัวเล็กๆ ที่ญาติๆ เคยบอกว่าพ่อรักดั่งแก้วตาดวงใจ” (น.117)

นอกจากนี้ อาจตีความได้อีกว่า ชมพูออกจากบ้านเพราะทำตามคำสั่งของพ่อ เธอไม่ได้หนีออกมาเอง

ตอนจบ

 

: ให้อภัย กลับบ้าน

และการทำหน้าที่แทนพ่อ

แม้จะตัดขาดจากครอบครัว แต่ชมพูยังอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของพ่อผู้เคยประเคนทุกอย่างให้ และในทางสายเลือด พ่อย่อมไม่อาจตัดขาดจากลูก และลูกก็ไม่อาจตัดขาดจากพ่อได้เช่นกัน เมื่อเธอทราบข่าวว่าพ่อตาย ก็โบกมือลาเพื่อนในผับ ขับรถเหยียบคันเร่งจนมิดกลับบ้านทันที

ฉากสุดท้ายของเรื่องสั้นนี้ จากเรื่องสมจริง ถูกสลับมาเป็นเรื่องเหนือจริง ซึ่งน่าตั้งคำถามว่า บางครั้งชีวิตตัวละครอาจอยากอยู่ในโลกเหนือจริงมากกว่าโลกสมจริง ที่เกินจะแบกรับหรือทนไหว เมื่อลูกพี่ลูกน้อง (ผู้ส่งข่าวครอบครัวให้ชมพูและโผล่มามีบทบาทสำคัญในตอนท้าย) สัมผัสสิ่งลี้ลับได้ ขณะกำลังเผาศพ แล้ว “ไฟจุดไม่ติด ยังไงก็ไม่ติด” เพราะ “คุณลุงบอกว่า อยากให้พี่ชมพูมาส่งคุณลุงเป็นครั้งสุดท้าย” (น.119) ซึ่งหมายถึง ขออโหสิกรรม

กับพ่อผู้ล่วงลับ ชมพูอโหสิกรรมให้ เพราะเป็นคนในครอบครัว อีกอย่างเขาก็ตายไปแล้ว กลายเป็นอดีตที่เคยเกลียด แต่กับผู้หญิงคนหนึ่งที่พ่อไปมีสัมพันธ์ด้วย ชมพูไม่ให้อภัย เพราะเธอทำลายครอบครัว เหมือนกับเขียงที่ถูกทุ่มลงพื้นแล้วแตกออกเป็นสองซีก ไม่มีวันผสานกลับคืนเหมือนเดิม จนเกิดความรู้สึกฝังใจ ผู้หญิงคนนั้นจึงไม่ควรมีตัวตนในงานศพ เป็นคนอื่นที่ “นั่งร้องไห้เงียบๆ ตรงเก้าอี้แถวหลังสุด… สงบเสงี่ยมอยู่ลำพัง” (น.118) ซึ่งอาจตีความได้ว่า เป็นปมความสัมพันธ์ระหว่างเมียน้อย-ลูกเมียหลวง

อีกความหมายคือ ชมพูไม่มีวันยอมรับผู้หญิงคนนี้ เพราะเธอเข้ามาทำหน้าที่เมีย (อีกคน) ของพ่อ ในขณะที่แม่ของชมพูยังมีชีวิต

“พรุ่งนี้เธอจะย้ายข้าวของกลับมาที่บ้าน นอนกอดแม่ และให้อภัยตัวเองสำหรับคืนวันที่ผ่านไป” (น.120)

ข้อความข้างต้น เป็นย่อหน้าสุดท้ายของเรื่องสั้นนี้ การย้ายข้าวของกลับบ้าน แน่นอนว่าต่อไปชมพูอาจเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะพ่อสอนให้เธอเป็นคนเข้มแข็ง เมื่อแม่และน้องชายเป็นคนอ่อนแอ ต้องได้รับการดูแลปกป้อง เธอจึงกลับไปทำหน้าที่แทนพ่อ อย่างแรกด้วยการนอนกอดแม่

และให้อภัยตัวเองคือ การได้ทบทวนความผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่อีกครั้ง

บรรณานุกรม

พิริยะดิศ มานิตย์. (2559). ‘ปมเอดิปัส’ ในนิทานแปร์โรต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พึงเนตร อติแพทย์ (นามแฝง). (2564). ราหูอมจันทร์ Vol. 24 ฉลามเสือและอื่นๆ. ปทุมธานี : นาคร, 109-120.