บีอาร์ไอ วัสดุเหล็ก/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ วัสดุเหล็ก

 

เมื่อเราพูดถึง ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ของจีน หากมองภาพใหญ่ในเชิงมหภาค เราเห็นมหายุทธศาสตร์การเชื่อมต่อเส้นทาง ถนน ท่าเรือ เส้นทางรถไฟ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย

น้อยคนนักที่จะดูมหายุทธศาสตร์นี้ในเชิงจุลภาค อย่างดีก็มองเป็นรายประเทศ มองเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

แต่หากมองไประดับจุลภาค ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ซีเมนต์ เหล็ก เป็นต้น วัสดุก่อสร้างโครงการต่างๆ ของข้อริเริ่มนี้ก็บอกอะไรหลายอย่างแก่เรา

ลองดูที่วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ที่ปากีสถาน

 

เหล็กในปากีสถาน

ก่อนอื่นควรเข้าใจว่า ความร่วมมือสำคัญระหว่างจีน-ปากีสถานอันเป็น หลัก ของบีอาร์ไอ คือ China Pakistan Economic Corridor-CPEC ซึ่งมีหลายกิจกรรมมาก โดยที่วัสดุเหล็กนำเข้าจากจีนที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ เหล่านี้ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แล้วส่งผลต่อผู้ผลิตเหล็กภายในปากีสถานโดยตรง

ปรากฏว่า Pakistan Association of Large Steel Producer-PALSP ได้ส่งหลักฐานข้อโต้แย้งไปยังประธานาธิบดี Imran Khan เพื่อให้ยกเลิกมาตรการปลอดภาษีนำเข้าจากจีน สมาคมผู้ผลิตเหล็กปากีสถานอ้างว่า เหล็กนำเข้าจากจีนคุณภาพไม่ได้ดีกว่าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ หรือมีสเป๊กแตกต่างจากเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ เหล็กนำเข้าจากจีนเอาไปใช้ใน CPEC มูลค่า 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำไปใช้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งท่าเรือ ถนน และโรงผลิตไฟฟ้า

รัฐบาลปากีสถานต้องยอมรับในสถานการณ์และสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศที่เป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจประเทศ ถ้ายังคงพึ่งพาการนำเข้าเหล็กต่อไป ผลต่อตลาดภายในถูกครอบครองโดยต่างประเทศ และเหนืออื่นใดจะเพิ่มหนี้สินของประเทศ

มีการกล่าวหาว่า เหล็กปลอดภาษีจากจีนมาจากผู้นำนโยบายของรัฐบาลปากีสถานเองด้วย

พวกเขาเห็นว่า การไม่มีการแข่งขัน เป็นสิ่งขัดแย้งกับหลักการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ มีการกีดกันบางฝ่ายออกจากการประมูล หรือมีการวางข้อจำกัดต่อพวกเขาที่เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ค้านานาชาติ ต้องเข้ากับมาตรฐานของผู้ยื่นการประมูลใน CPEC แต่บริษัทก่อสร้างจีนไม่ต้องมีการแข่งขัน

พวกเขาอ้างการศึกษาของ International Journal of Social Sciences, Humanities and Education-IJSSHE ปี 2019 ที่ว่า บริษัทก่อสร้างปากีสถานสูญเสียงานให้แก่บริษัทก่อสร้างจีนมาต่อเนื่อง ในหลายกรณี มีการว่าจ้างเพียงบริษัทก่อสร้างจีนที่ได้รับเชิญให้เข้าประมูลหลายๆ โครงการใน CPEC ในเวลาเดียวกันทางการปากีสถาน ยกเว้นเป็นพิเศษ แก่บริษัทก่อสร้างจีน ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีขาย ภาษีนำเข้าวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ บริษัทก่อสร้างจีนยังได้รับอนุญาตให้นำเข้าเครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ จากจีนโดยไม่ต้องจ่ายภาษี

ทำไมพวกเขาไม่อนุญาต ยกเว้นภาษีผู้ผลิตท้องถิ่น ซึ่งสามารถผลิตเหล็กได้มาตรฐานระดับเดียวกันกับบริษัทผลิตเหล็กจีน อันเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้เฟื่องฟู

ในแง่พวกเขา ผู้ผลิตเหล็กปากีสถานเตรียมการอย่างดีเพื่อนำเข้าวัสดุผลิตเหล็กภายใต้กฎ Duty and Tax Remission for Exporter และได้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปให้แก่ CPEC แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถขายเหล็กให้กับโครงการของรัฐบาลได้

 

เหล็กจีนในปากีสถาน

จีนส่งออกเหล็กหลายล้านตันมายังปากีสถาน การส่งเหล็กทางเรือได้ช่วยพยุงอุตสาหกรรมเหล็กภายในของจีน ซึ่งก่อนหน้านั้น เผชิญกับการผลิตล้นเกิน (over supply) อย่างมากหากใช้เพื่อตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว

ในเวลาเดียวกัน โครงการโครงสร้างพื้นฐานใน CPEC จะร่วมประกันเส้นทางการค้าโลกของจีน ซึ่งสามารถถูกคุกคามในทะเลจากความขัดแย้งใดๆ กับสหรัฐอเมริกา ท่าเรือน้ำลึก Gwadar ที่ลงทุนโดยจีนจะช่วย ย่นย่อ เส้นทางการค้าโลกของจีน จากเดิมใช้เส้นทางเดินเรือยาว 12,000 กิโลเมตร เหลือเพียง 3,000 กิโลเมตร รวมทั้งนำเข้าน้ำมันดิบด้วย

ด้วยผลของสัญญา ผูกพัน ปากีสถานให้ใช้เพียง ผลิตภัณฑ์ ของจีนในโครงการต่างๆ ใน CPEC ปลอดภาษีนำเข้าเหล็กหลายหมื่นตัน รวมทั้งปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง วัสดุที่ใช้สร้างบ้านที่อยู่อาศัยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุ เหล็ก ในการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ Gwadar เขตแปรรูปเพื่อส่งออก (Export Processing Zone) เขตเศรษฐกิจพิเศษ Gwadar (Gwadar Free Economic Zone) โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างการเคหะแห่งชาติของปากีสถานด้วย

ด้วยเหตุเหล่านี้ ส่งผลเสียหายต่อพ่อค้าและผู้ผลิตวัสดุและเหล็กท้องถิ่น และกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ในเมื่อวัตถุดิบเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ได้นำมาใช้ในโครงการก่อสร้างเหล่านี้อยู่แล้ว

รัฐบาลปากีสถานควรควบคุมเรื่องปลอดภาษีนำเข้าโดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งกำลังเผชิญกับการผลิตล้นเหลือเกินความต้องการอยู่ จีนส่งออกเหล็กมากกว่า 100 ล้านตันระหว่างปี 2015-2016 มายังปากีสถาน อันนับเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกเหล็กทั้งหมดของจีน คิดเป็นมูลค่า 646.7 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

จากรายงานของ UN Com Trade database on IT 2014-2018 ปากีสถานนำเข้าเหล็กจากจีนอยู่ระหว่าง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

การนำเข้าเหล็ก ขึ้นๆ ลงๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับข้อริเริ่มบีอาร์ไอ ที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลพวงช่วงระยะแรกๆ ในโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือในกรอบ CPEC

ปากีสถานมีการขาดดุลการค้าตามกรอบความร่วมมือ CPEC สูง จากการนำเข้าวัสดุและเครื่องจักรเพื่อใช้ก่อสร้าง ข้อมูลทางการจีน จีนส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกระหว่างปี 2020-2021 จีนส่งออกมายังปากีสถานมูลค่า 12.56 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปากีสถานส่งออกไปยังจีนเพียง 1.73.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้กรอบความร่วมมือ CPEC ใช้จ่ายเงินมูลค่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐไปกับการขนส่งสินค้าและบริการ และโยงกับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดย 15% ของต้นทุนก่อสร้างคือ ปูนซีเมนต์

เมื่อเจาะลึกศึกษาวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูนซีเมนต์ในปากีสถานแล้ว

ข้อริเริ่มบีอาร์ไอ บอกแก่เราว่า ข้อริเริ่มที่โด่งดังของจีนไม่เพียงให้ภาพท่าเรือน้ำลึกและการเชื่อมต่อเส้นทางการค้าโลก รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกทางยุทธศาสตร์ทางทหาร

และน่าจะให้ภาพเชิงลึกกว่า หนี้และกับดักที่ดักดานของประเทศคู่หูจีนอย่างปากีสถาน ปฏิสัมพันธ์ลึกลับระหว่างนักการเมืองผู้คุมนโยบายอุตสาหกรรมภายในประเทศ เหล็กและปูนซีเมนต์ของปากีสถาน ผู้ที่ตาบอดหูหนวกไม่ได้ยินข้อร้องเรียนของผู้ผลิตเหล็กและปูนซีเมนต์ภายในประเทศปากีสถานเสียเลย การยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็ก ปูนซีเมนต์ จากจีนสู่ปากีสถาน การกำหนดมาตรฐานบริษัทก่อสร้างที่ดูเหมือนว่าบริษัทก่อสร้างจีนเท่านั้นสามารถเข้ามาประมูลงานก่อสร้างท่าเรือ ถนน โครงสร้างพื้นฐาน โครงการเคหะแห่งชาติ ปากีสถาน

แต่บริษัทก่อสร้างท้องถิ่นกลับไม่สามารถ ย่อมช่วยให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้าง อุตสาหกรรมภายในประเทศทั้งเหล็ก ปูนซีเมนต์ ย่อมล้มละลาย ล้มตายไปกับการเจริญเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือน้ำลึกอันทันสมัย เมืองและตึกรามสูงอันทันสมัย ที่ก่อสร้าง ดำเนินการและให้กู้จากจีน

การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการโน้มน้าวยุทธศาสตร์ปากีสถานโดยต่างชาติมิใช่เรื่องบังเอิญ ไม่สนุกเลยสำหรับคนปากีสถาน