ร่วมชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา เรียบง่าย มีพลัง ที่แอลเอ, อเมริกา/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

ร่วมชุมนุมรำลึกเหตุการณ์

14 ตุลา / 6 ตุลา

เรียบง่าย มีพลัง

ที่แอลเอ, อเมริกา

 

เดือนตุลาคมของปีนี้หมุนเวียนมาถึงอีกครั้ง เป็นอีกปีที่มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนิสิตนักศึกษา เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อันนำมาสู่การถูกล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

การรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา ในปีนี้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง เข้มข้น ท่ามกลางกระแสการชุมนุมต่อต้านเผด็จการของกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน การรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา ก็ปรากฏในหมู่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

แห่งหนึ่งที่จะขอบันทึกไว้ คือการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา ที่แอลเอ-ลอสแองเจลิส, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา (LA – Los Angelis, CA, USA.)

เป็นการชุมนุมที่ไทยทาวน์ (Thai Town) แห่งเมืองลอสแองเจลิส (Los Angeles) เริ่มการชุมนุมในตอนย่ำค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2021

การชุมนุมในอเมริกา ในทุกเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรื่องอะไร จากกลุ่มไหน รวมทั้งการจัดงานเทศกาลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น จะต้องชุมนุมกันเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะทุกคนต้องทำงาน หากชุมนุมในวันธรรมดา จะไม่มีคนว่างมาร่วมชุมนุม

การชุมนุมจะต้องขออนุญาตจาก City อย่างถูกต้อง

มีการติดตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ฉายภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม

แสง สี เสียงพร้อม, ผู้ร่วมชุนุมพร้อม

ผมพำนักอยู่ทางภาคตะวันออกของอเมริกา ไม่มีโอกาสมาร่วมชุมนุมด้วย แต่ได้รับรู้การร่วมชุมนุมจากการถ่ายทอดสดของ Sunai TV ทีวีไทยจากช่องยูทูบในอเมริกา โดยคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นพิธีกรพาผู้ชมเข้าร่วมชุมนุมผ่านหน้าจอทีวี

เริ่มการชุมนุมโดยพิธีกรชายกล่าวต้อนรับ เล่าถึงความเป็นมา การเตรียมความพร้อมในการชุมนุม พิธีกรหญิงเล่าถึงการประสานตัวแทนจากอีก 3 ชาติเข้าร่วมชุมนุมคือ ฮ่องกง ไต้หวันและพม่า

เหตุผลคือ ทั้ง 3 ประเทศต่างก็มีปัญหาภายในทั้งสิ้น รวมทั้งไทยด้วย การมาร่วมชุมนุมพร้อมกัน 4 ประเทศจะมีผลให้เกิดกระแสเป็นที่จับตามองของชาวโลกได้รับรู้ปัญหามากขึ้น

การชุมนุมใช้ภาษาอังกฤษในการปราศรัย

ตัวแทนประเทศไทยหลายคนช่วยกันเล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา รวมถึงสภาพเผด็จการรวบอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานตราบจนปัจจุบัน

ตัวแทนฮ่องกงเล่าถึงการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาต่อการปราบปรามจากจีนแผ่นดินใหญ่ ขอให้ส่งกำลังใจช่วยปลดปล่อยฮ่องกง เขาถือธงภาษาจีนมาด้วย

ตัวแทนไต้หวันพูดถึงแรงกดดันที่จะยึดไต้หวันจากจีนแผ่นดินใหญ่

จีน คือปัญหาคุกคามของทั้งฮ่องกงและไต้หวัน

ตัวแทนพม่าพูดถึงการปฏิวัติของมิน อ่อง ลาย การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยพม่า

ตัวแทนไทยใหญ่เรียกร้องเสรีภาพ

ผมเป็นคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 ถึงแม้ว่าในช่วงการชุมนุมครั้งนั้นผมจะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก็มาร่วมชุมนุมบางวัน บริจาคเงินช่วยเหลือการชุมนุม พร้อมทั้งมีส่วนในแผนหนี หาก 14 ตุลาพ่ายแพ้

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมเข้าร่วมชุมนุมก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งวัน รับรู้ความตึงเครียดจากการปลุกเร้าของฝ่ายขวาจัด ทั้ง น.ส.พ.ดาวสยามและสถานีวิทยุยานเกราะ กลิ่นอายความรุนแรงปกคลุมทั่ว ผมมีส่วนร่วมแค่บริจาคเงินช่วยการชุมนุม

ผมยังจำภาพข่าวนายตำรวจส่องปืนยิงผู้ชุมนุมผ่านช่องรั้วหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ได้ติดตา ไม่รู้ว่ามีกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยคมกระสุน มีนักศึกษาหญิงกี่คนที่หลบซ่อนตามตึกเรียนต้องถูกข่มขืนจากการบุกกวาดล้าง

การทำลายร้างคราวนั้นยังไม่เคยปรากฏรายงานข้อเท็จจริงต่อชาวโลก

เหนืออื่นใด ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ผมสูญเสียเพื่อนรัก สุเมธ คล้ายสุบรรณ เขาเป็นพื่อนร่วมรุนสวนกุหลาบฯ (OSK 80) จบวารสารศาสตร์ มธ. ในช่วงก่อน 14 ตุลา เขาเป็นผู้จัดการบริษัท หนังสือ จำกัด และสำนักพิมพ์พระจันทร์เสี้ยว เป็นผู้วางแผนหนีหาก 14 ตุลาพ่ายแพ้ โดยจะมาลงเรือประมงของผมที่ท่าเรืออ่างศิลา

ลุล่วงมาถึงช่วงก่อน 6 ตุลา สุเมธผันตัวเองไปเป็นเลขานุการของนักธุรกิจขวาจัดแนวหน้าคนหนึ่ง เขาบอกผมว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่จะรู้ความเป็นไปของ “ฝ่ายตรงข้าม”

แล้วสุเมธก็หายสาบสูญไปกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

ผู้นำหญิงในการชุมนุมที่ไทยทาวน์ แอลเอ ให้สัมภาษณ์ Sunai TV ว่า เตรียมการชุมนุมวันนี้มานานหนึ่งปี โดยได้แนวคิดว่าถ้าร่วมชุมนุมกันหลายชาติ จะเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกได้มากกว่าการชุมนุมเพียงชาติเดียว

ดังนั้น จึงติดต่อแกนนำชุมชนฮ่องกงในแอลเอ ที่กำลังมีปัญหาถูกปราบปรามจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้ส่งตัวแทนมาร่วมแสดงความคิดเห็น

ไต้หวันก็เป็นอีกแห่งที่กำลังมีปัญหาถูกบีบจากจีน เมื่อไม่นานนี้จีนส่งเครื่องบินรบร้อยกว่าลำบินล่วงล้ำน่านฟ้าไต้หวันเพื่อแสดงแสนยานุภาพ

นอกจากนี้ ในช่วงพรรคก๊กมินตั๋งบุกยึดไต้หวันในปี 1949 ก็มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองไต้หวันจำนวนมาก เป็นจุดด่างที่ยังไม่ได้ชำระในประวัติศาสตร์ไต้หวัน

ส่วนพม่านั้น การปฏิวัติของทหารพม่าโดยการนำของนายพลมิน อ่อง ลาย ได้เข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนหลายพันคน จับนักศึกษาเข้าคุกอีกหลายพันคน จึงต้องเชิญผู้นำชุมชนพม่าในแคลิฟอร์เนียมาร่วมชุมนุม ให้ชาวโลกรับรู้ความโหดร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า

เธอบอก Sunai TV ว่า หวังว่าการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา คราวนี้ จะเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างไปจนถึง UN ในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

 

ในระหว่างการปราศรัยจากตัวแทน 4 ชาติ จอโปรเจ็กเตอร์ฉายภาพความรุนแรงของการปราบปรามประชาชนในประเทศนั้นๆ

สุดท้ายของการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์ แล้ววางเทียนเบื้องหน้าการชุมนุม

แกนนำกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมชุมนุน เป็นการสิ้นสุดการชุมนุม 2 ช.ม.ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังครั้งหนึ่ง

ผู้นำการชุมนุมหญิงคนเดิมให้สัมภาษณ์ทีวีท้องถิ่นของแอลเอ

ขอคารวะคนหนุ่ม-สาวที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลา / 6 ตุลา แต่มีจิตวิญญาณรับรู้เหตุการณ์อัปยศครั้งนั้น ร่วมชุมนุมในหลายมุมโลก

เราจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เลือนหายไปกับกาลเวลา