‘ความสิ้นไร้ไม้ตอก’ ‘คำสาปห้ามพัฒนา’ และการเดินทางไกลของ ‘ทิม พิธา’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ความสิ้นไร้ไม้ตอก’

‘คำสาปห้ามพัฒนา’

และการเดินทางไกลของ ‘ทิม พิธา’

 

รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” เพิ่งมีโอกาสพูดคุยกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทีมข่าวชวน “ทิม พิธา” สนทนาถึงประสบการณ์ที่เขาเพิ่งได้รับ จากการ “เดินทางไกล” ระหว่างช่วงปิดสภา

โดยสรุป หัวหน้าพรรคก้าวไกลเล่าว่าเขาได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนสี่ภาค รวมระยะทางเกือบๆ ห้าพันกิโลเมตร ก่อนจะพบเห็นปรากฏการณ์ร่วมบางประการ

“สิ่งที่เห็นถึงความเหมือนของประเทศไทยหลังโควิด คือ ความสิ้นไร้ไม้ตอก ความรู้สึกหมดหวังกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ รู้สึกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหลายครั้ง จนไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ อันนี้คือสิ่งที่ค่อนข้างจะเหมือนกัน ไม่ว่าจะไปที่ภาคไหน”

อย่างไรก็ตาม พิธาย้ำว่าในแต่ละพื้นที่นั้นยังมีรายละเอียดของสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไป

“แต่สิ่งที่คิดว่ามันแตกต่างกัน ก็คือต้นเหตุของความสิ้นไร้ไม้ตอก อย่างภาคใต้ก็เป็นเรื่องของการที่ทุกอย่างไปกระจุกตัวอยู่ที่การท่องเที่ยวเยอะเกินไป

“ทั้งสุราษฎร์ฯ ทั้งกระบี่ ที่ไป จีดีพีเขาประมาณเกือบสองแสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวทั้งคู่ หนึ่งแสนกว่าล้านบาททั้งคู่ สุราษฎร์ฯ เหลืออยู่ 1.7 พันล้านในปีนี้ กระบี่เหลืออยู่ 3.1 พันล้านในปีนี้ จากแสนลดเหลืออยู่ 1.7 พัน กับ 3.1 พัน มันหายไปเยอะพอสมควร…

“ในขณะที่พอขึ้นไปที่อีสานกับเหนือ ก็รู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอกเหมือนกัน แต่ของเขาเป็นเรื่องราคาสินค้าการเกษตร ก็คือข้าวที่ไม่ดีมาก ประมาณ (กิโลกรัมละ) 4.8 บาท ถูกกว่าปุ๋ย ถูกกว่ามาม่าแล้ว แล้วก็เรื่องน้ำท่วม ที่ซ้ำจากโควิดไปอีก

“เพราะฉะนั้น มันก็มีโควิดที่กระจายไปทั่วประเทศไปแล้วหนึ่งรอบ แต่เลเยอร์ที่เป็นขนมชั้นที่สองชั้นที่สามของแต่ละภาคก็มีความแตกต่างกันไป”

 

จากสภาพปัญหาข้างต้น นักการเมืองหนุ่มมองว่านิยามเรื่องความมั่นคงของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

“คุณก็จะเห็นได้เลยว่านี่ตรงกับที่ผมเคยพูดไว้ในสภาว่า นิยามความท้าทายของประเทศ ความมั่นคงของประเทศ มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ถ้าเกิดรัฐหรือคนในสังคมตามไม่ทัน มันจะมีปัญหา จะมีเรื่องของงบประมาณ งบประมาณไม่ตรง ก็จะมี (ปัญหา) เรื่องของการปฏิบัติ…

“ปลายเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละภาคมันก็จะกลับมาอยู่ตรงที่ว่า นิยามของความมั่นคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางทหารอีกต่อไป แทบจะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจเหมือนตอนที่ผมเป็นหนุ่มๆ ด้วยซ้ำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติ สาธารณสุข โรคระบาด แล้วก็สิ่งแวดล้อม

“ซึ่งตรงนี้ถ้าเรายังเห็นว่ามันไม่เป็นความท้าทาย แล้วเรายังไปอยู่ในโลกใบเดิม ที่เน้นงบประมาณในการหล่อเลี้ยงให้รัฐราชการโตขึ้นเรื่อยๆ ไปเน้นเรื่องการซื้ออาวุธ เรื่องเกี่ยวกับเรือดำน้ำ แล้วก็ไปเน้นอยู่ที่ส่วนกลางไม่ได้กระจายมาที่ท้องถิ่น ปัญหาที่เป็นปลายเหตุมันจะขึ้นๆ มาเรื่อยๆ อย่างที่เห็น”

 

จากนั้น รายการ The Politics ได้ชวนพิธาคุยเรื่องแนวทางการพัฒนาแบบ “อีสานสองเท่า” ที่พรรคก้าวไกลเพิ่งเสนอเอาไว้ ระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรคที่จังหวัดขอนแก่น

“อีสานสองเท่าเป็นการใช้ BCG matrix แบบเอกชน วิธีบริหารแบบเอกชน เข้าไปใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ในภาคอีสาน เพื่อที่จะได้หาว่ากลุ่มที่มีกระแสเงินสดที่คอยช่วยอีสานแต่ไม่มีการเจริญเติบโตคืออะไร และอะไรคืออุตสาหกรรมที่โตเร็วลืมตาอ้าปากได้

“เรามองทั้งหมดนี้ว่า จากรายได้ต่อหัวปีละแปดหมื่นบาท (ถ้าอยากเพิ่ม) ให้รายได้ต่อหัวเป็นปีละ 1.8 แสนบาท ภายในปี 2575 เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำเนี่ย มีอุตสาหกรรมไหนต้องส่งเสริม อุตสาหกรรมไหนต้องถอย อุตสาหกรรมไหนต้องย้ายออก”

ทิมชี้แจงต่อทันทีว่าคนกรุงเทพฯ เช่นเขา ไม่ได้กำลังเล่นบทคุณพ่อรู้ดี ที่จะเข้าไปบอกว่าคนอีสานควรพัฒนาอย่างไร แต่เขาต้องการเปิดโอกาสให้ภาคอีสานได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

“ผมต้องการกระจายอำนาจ กระจายการตัดสินใจ กระจายการกุมชะตาชีวิตของคนอีสาน ให้ไปอยู่ที่อีสานเอง แต่อย่างน้อย ผมสามารถที่จะมองเห็นภาพทุกจังหวัดทุกอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเก่า ทั้งอุตสากรรมที่ทำเงินและไม่ทำเงิน อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน

“แล้วตั้งเป็นตุ๊กตาให้คนอีสานยิง ว่าอันนี้เขาคิดว่าเหมาะกับเขา อย่างที่บอกว่าทำอะไรน่ะมันง่าย แต่ทำอย่างไรและแก้ที่ใครอันนี้ต้องมี ‘บิ๊กแบง’ ในการกระจายอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจ มันต้องกระจายอำนาจหนึ่ง กระจายงบประมาณสอง กระจายภารกิจสาม และกระจายความสามารถในการเก็บภาษีหรือหารายได้ของท้องถิ่นด้วยตัวเอง

“ถ้าไม่อย่างนั้นเราเหลือแค่กระจายอำนาจอย่างเดียว ภารกิจไม่ถ่ายโอน งบประมาณไม่ถ่ายโอน เก็บภาษีต้องเข้าส่วนกลางหมด การกระจายอำนาจนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อีสานได้”

 

พิธาเปิดเผยว่าเขาได้ปรึกษาหารือกับ “ดร.เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการ Think Forward Center และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย ในการจัดทำ “นโยบายเฉพาะ” สำหรับทุกภูมิภาค โดยจะมีการเปิดตัวอย่างจริงจังก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ผ่านธีมหลักที่ว่าทุกภาคต้องหลุดพ้นออกจากความเหลื่อมล้ำและความยากจน

“มีหลายจังหวัดมากที่มีศักยภาพสูง จังหวัดตราดนี่ไม่โตมาสิบปี มีทั้งทะเลอยู่ข้างหน้า มีภูเขาอยู่ข้างหลัง มีถนนสายใหญ่ตัดเส้นวิ่งเข้าสู่ชายแดน มีท่าเรือใกล้ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เป็นเกษตรกรที่มี (ผลผลิต) ราคาสูง ไม่ใช่ข้าว มัน ยาง ปาล์ม อ้อย แต่เป็นผลไม้อย่างทุเรียน เงาะ ลำไย ที่ส่งออกไปประเทศจีนเยอะๆ ยังโตไม่ได้ เพราะว่ามีคำสาปห้ามพัฒนาอยู่หลายเรื่อง”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลฟันธงว่า “นโยบายเศรษฐกิจแบบผิวเผิน” นั้นอาจไม่เพียงพอสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง แต่ต้องเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจอย่างแยกไม่ออก

 

เมื่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลดูจะมีคู่ตรงข้ามเป็นปัญหาชุดใหญ่ที่ทิม พิธา และสมาชิกพรรค เรียกขานว่า “คำสาปห้ามพัฒนา”

เราจึงขอให้เขาช่วยขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสาปดังกล่าว

“คำว่าคำสาปห้ามพัฒนาหมายความว่าพื้นที่มันมีศักยภาพ คือแต่ละพื้นที่ผมรู้สึกว่ามีศักยภาพสูงมาก ตราดก็มีของเขา กาฬสินธุ์ก็มีของเขา นครศรีธรรมราช-ตรังก็มีของเขา แล้วพอมองเห็นแล้ว มันมีทั้งศักยภาพและความท้าทาย

“คำถามก็คือว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะลดความท้าทาย แล้วก็เพิ่มศักยภาพให้เขาสามารถเติบโตได้ด้วยตัวของจังหวัดเอง โดยไม่ต้องมาพึ่งแค่ตัวหัวเมืองไม่กี่เมือง

“อย่าให้มากระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ พอกรุงเทพฯ โดนโควิดถล่มทีเดียว เศรษฐกิจครึ่งหนึ่งของประเทศพังหมด มันต้องกระจายออก ไม่มีอะไรกระจุกสักอย่าง…

“นี่รวมถึงการท่องเที่ยว การเพาะปลูกชนิดพืช การกระจายการลงทุนทางอุตสาหกรรม มันต้องใช้ศักยภาพของคนทุกคน จังหวัดทุกจังหวัด อุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม ในการพลิกฟื้นประเทศ ไม่ให้มันสิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนี้”

แม้สภาพสังคมปัจจุบันจะถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ นานา แต่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับมองว่านี่คือโอกาสดีมากๆ ครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ถ้าเกิดคิดว่าเราจะสู้กับมันสักตั้ง ก็คือตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าไม่มีแรงฉันทามติร่วมกันในสังคมมากขนาดนี้เป็นเวลานานพอสมควร ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หรือมาจากภาคไหน”