ร้องจ๊าก…ของแพง-เงินเฟ้อพุ่ง คลื่นลูกใหม่ซัดเศรษฐกิจ สุมปัญหาปากท้องม้วนตัวสูงขึ้น/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ร้องจ๊าก…ของแพง-เงินเฟ้อพุ่ง

คลื่นลูกใหม่ซัดเศรษฐกิจ

สุมปัญหาปากท้องม้วนตัวสูงขึ้น

 

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราเห็นราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จนสร้างความกังวลให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนองค์กร ทั้งในส่วนการผลิต การขนส่ง ราคาวัตถุดิบ จนถึงสินค้าปลายทาง ถึงมือประชาชนผู้บริโภค ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการแพงขึ้น ไม่สอดคล้องกับเงินในกระเป๋าแม้เท่าเดิม ก็ถือว่าเดือดร้อน ผู้ซื้อเริ่มส่งเสียงร้องถึงรัฐบาลให้เร่งออกมาแก้ไขเพิ่มขึ้นๆ

และกำลังลามเป็นปัญหาปากท้อง ซ้ำเติมในช่วงที่ประเทศยังเผชิญกับการระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลายตัว และไม่รู้ว่าอนาคตจากนี้จะรุนแรงหรือคลี่คลายได้จริง

แม้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ยังทรงๆ ระดับบวกหรือลบ 1 หมื่นต่อวัน

 

เรื่องนี้ นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต กางผลวิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบโลกในปี 2564-2565 โดยคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2563 ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย เฉลี่ยสูงขึ้น 25% เท่ากับค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.3% ต่อจีดีพี เพิ่มต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 17,000 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่งโลจิสติกส์ ประมง เหมืองแร่เคมีภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง

หันดูผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาคครัวเรือนไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่า ภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น หรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1.6%

โดยส่วนใหญ่ภาคใต้และภาคกลาง ถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันสูง

ปัญหาทวีคูณขึ้นกว่าเดิม เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยยังเห็นหลายจังหวัดที่มีน้ำท่วมสูงและไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดระดับลง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย จนเห็นราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวขึ้นแบบพุ่งทะยาน อาทิ ผักชีกิโลกรัมละ 250-400 บาท

แม้แต่การชำระค่าบริการหรือซื้อของผ่านระบบไอโอเอส (IOS) ของสมาร์ตโฟนยี่ห้อ Apple ยังปรับอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ จากเดิม 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 29 บาท เป็น 35 บาท

ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น สวนทางกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง หรือเรากำเงินในมือเท่าเดิม แต่เงินของเราจะมีค่าน้อยลงกว่าเดิม

เมื่อสินค้าและบริการปรับราคาแพงขึ้น ทั้งที่สภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 หรือยังไม่กลับหัวดีขึ้นมา

ทำให้เกิดแรงกังวลว่า เราจะเข้าสู่สถานการณ์เงินเฟ้อหรือไม่

 

นิยามของเงินเฟ้อ คือ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือหากพิจารณาในส่วนของค่าเงิน จะพบว่าค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การซื้อของชิ้นเดิม เราต้องใช้เงินมากกว่าเดิมในการซื้อ ซึ่งหมายความถึงข้าวของเครื่องใช้มีราคาแพงขึ้น หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา สะท้อนได้แล้วจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 2 เดือน ทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการ เงินเฟ้อกำลังเข้าภาวะขาขึ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 1-3%

เหมือนภาพความกังวลภาวะเงินเฟ้อในต่างประเทศ ที่คาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

โดยเจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความกังวลถึงอัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้ ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน แต่เป็นการวัดราคาที่ผู้บริโภคต้องควักเงินจ่ายจริง อยู่ที่ 3.6% เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่กำหนดไว้ 2% ซึ่งถือว่าสูงเกินกำหนดมาก จึงเห็นการส่งสัญญาณเริ่มระงับมาตรการคิวอีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่าการที่ราคาของสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น เกิดจากภาวะการช็อกของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน เมื่อผสมเข้ากับอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นแบบผิดปกติ และภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นตาม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกับการระบาดโควิด-19

ขณะเดียวกันประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่เที่ยวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ก็มาพร้อมความกังวลว่า ขนาดเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ของยังแพงขนาดนี้ ถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นอีกครั้ง ของจะแพงขนาดไหน

รวมถึงความกังวลว่า การเปิดประเทศครั้งนี้ จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำอีกครั้งหรือไม่ สะท้อนได้จากตลาดหุ้นไทย ที่ปิดตลาดลบไปเกือบ 10 จุด มูลค่าการซื้อ-ขาย 69,662.45 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แตะหลักแสนล้านบาทมาแล้ว

 

อีกผู้เชี่ยวชาญ วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปิดร่วงจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงกดหุ้นในกลุ่มพลังงานนำ โดยเฉพาะการที่นักลงทุนไม่ตอบรับเชิงบวกต่อการเปิดประเทศ ทำให้เห็นแรงขายทั้งในหุ้นกลุ่มพลังงาน ขนส่ง และค้าปลีกออกมากดดันการปรับตัวขึ้น โดยสิ่งที่ต้องติดตามคือเงินเฟ้อสหรัฐ ที่เร่งตัวขึ้นมากน้อยเท่าใด จากเดิมที่เฟดตั้งไว้ 2% จะเชื่อมโยงต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยสำหรับดัชนีดอลลาร์แข็งค่าหรือไม่

ขณะที่รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า เงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ตลาด อาจปรับลดมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ซึ่งในช่วงนี้สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่มากเกินไป ทางด้านผลการเลือกตั้งในญี่ปุ่นบ่งชี้ความต่อเนื่องของนโยบาย สำหรับทิศทางค่าเงินเยน กรุงศรีให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยตลาดโลกเป็นสำคัญ

ส่วนสถานการณ์ในประเทศพบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยกรุงศรีคาดว่าความเชื่อมั่นจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามแนวทางเปิดประเทศ แม้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มผันผวนสูง

แม้ภาวะเงินเฟ้อจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ตามนิยามในด้านวิชาการ แต่ปัญหาราคาสินค้าและบริการที่ปรับสูงขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องจริงที่รัฐบาลต้องเร่งรีบในการแก้ไข

ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานให้น้ำหนักต่อเนื่อง “ของแพง” ที่จะส่งผลถึง “เงินเฟ้อ” ดีดตัวสูงขึ้น สู่หมวดความกังวล อีกครั้งจากนี้