วัฒนธรรมเผด็จการไทย (1)/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วัฒนธรรมเผด็จการไทย (1)

 

รัฐไทยอยู่กับระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ มานาน แม้ว่ามีความพยายามในศตวรรษที่ 20 ที่จะออกจากรูปแบบเผด็จการหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีผลอย่างยั่งยืนสักครั้ง ในที่สุดเผด็จการโดยตรงหรือซ่อนรูปก็กลับมาครอบงำรัฐใหม่อีกทุกทีไป

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คงไม่ผิดที่จะพูดอย่างที่พูดกันอยู่เสมอว่า องค์กรและสถาบันสำคัญทางสังคม-การเมืองของไทย เช่น กองทัพ, ทุน, สถาบันพระมหากษัตริย์, สถาบันและระบบการศึกษา, องค์กรทางศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ยอมขยับปรับเปลี่ยนไปสู่ระบอบปกครองอย่างอื่น นอกจากเผด็จการในรูปต่างๆ

แต่ความเหนียวแน่นคงทนของเผด็จการในรัฐ (และสังคม) ไทย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า มันน่าจะมีอะไรที่ “ลึก” กว่าปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวแล้ว อย่างน้อยก็เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นปัจจัยภายนอกความเป็นมนุษย์ของคนไทย สิ่งที่ควบคู่กันไปกับพฤติกรรมของสถาบันและองค์กรดังกล่าวแล้ว คือวัฒนธรรมไทย (โลกทัศน์และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไทย) ต่างหาก ซึ่งเป็นพื้นฐานอันเอื้ออำนวยให้ระบอบเผด็จการงอกงามอย่างไม่เสื่อมคลาย

พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ คนไทยเองหรือวัฒนธรรมไทยเองนั่นแหละ มีส่วนอยู่ไม่น้อยที่ช่วยอุดหนุนให้ระบอบเผด็จการยืนยงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากจะวิเคราะห์วัฒนธรรมไทย เท่าที่ผมมีความสามารถ แต่ก็วิเคราะห์เฉพาะในส่วนที่เกื้อหนุนให้ระบอบเผด็จการดำรงอยู่ได้อย่างคงทนในประเทศนี้

 

ทัศนคติเกี่ยวกับคนในวัฒนธรรมไทย

1.คนมีธรรมชาติที่ชั่ว

แม้คนไทยสำนึกได้ดีว่า ในฐานะมนุษย์ ย่อมแตกต่างจากเดรัจฉาน มนุษย์มีอิสรภาพในการ “เลือก” ที่จะทำชั่วหรือทำดีก็ได้ ในขณะที่สัตว์มักไม่ค่อยมีทางเลือก เพราะถูกบังคับให้ทำตามสัญชาตญาณของการเอาเผ่าพันธุ์ตัวเองให้รอด และหลายครั้งก็น่าประหลาดอยู่ที่ เรากลับยกสัญชาตญาณสัตว์เหล่านี้เป็น “ความดี” ที่มนุษย์ควรเรียนและเลียนแบบ เช่น ผึ้ง, มด, สุนัข, ช้าง ฯลฯ

ตกลงเราต้องการอิสรภาพในการ “เลือก” จริงหรือ?

พุทธศาสนาไทยเน้นด้านที่เป็นความชั่วหรือความอ่อนแอของมนุษย์ เช่น กิเลสต่างๆ ซึ่งมีติดตัวทั่วทุกคน แม้ยอมรับศักยภาพของมนุษย์เช่นกัน เป็นต้นว่า เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่สามารถบรรลุพระนิพพานได้ แต่ส่วนนี้กลับได้รับการให้ความสำคัญน้อยในพุทธไทย (เทียบกับมหายานที่ย้ำเรื่องความเป็นพุทธะในตัวของทุกคน)

เมื่อคนซึ่งประกอบด้วยความชั่วมารวมตัวกันในชุมชน, ในสังคม หรือในรัฐ คนจึงต้องถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ถูกควบคุมจากผีปู่ย่า, ผีชุมชนหรือผีสังคม, จารีตประเพณีและ “หมอ” ประเภทต่างๆ, เจ้าพ่อเจ้าแม่และตัวกลางหรือคนทรง, นักบวชในพุทธศาสนา และ “บ้านเมือง” ส่วนอำนาจในการควบคุม ก็กระจายไปยัง “ผู้ใหญ่” ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่ผู้เฒ่าในชุมชนไปจนถึงนายบ้านที่มีอำนาจบ้านเมืองอุดหนุน เจ้าเมืองไปจนถึงขุนนางที่ใกล้ชิดพระราชา และองค์พระราชาเอง

ระเบียบของสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนมีอำนาจที่คอยควบคุมมิให้คนอื่นประพฤติชั่วไปตามธรรมชาติของตนเอง อำนาจและการลงโทษ (ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอำนาจ) คือแกนกลางของระเบียบทางสังคมและการเมือง

(วิธีลดอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวของคนไทยจนถึงทุกวันนี้คือเพิ่มอำนาจและโทษ)

 

2.บุคคลในวัฒนธรรมไทยมีขึ้นได้ในความสัมพันธ์เสมอ เช่น อ้ายอั้นเป็นลูกตาอ้น เป็นหลานกำนัน บวชกับพระครูปริก เป็นผัวอีกลอย บุคคลคนหนึ่งจะเป็นใคร ไม่ได้ขึ้นกับตัวเขาเพียงคนเดียว แต่เกี่ยวโยงอยู่กับเครือญาติ, บรรพบุรุษ, ผี, สังกัด และ “เมือง” ที่เขาสังกัดอยู่เป็นต้น สำนวนไทยว่าคนต้องมี “หัวนอนปลายตีน” เพราะถ้าไม่มี คนอื่นก็ไม่รู้จะสัมพันธ์กับบุคคลนั้นอย่างไร นอกจากสัมพันธ์เหมือนกับเป็นวัตถุ (เช่น วัตถุทางเพศ, ทางแรงงาน,ไพร่ส่วย หรือ ฯลฯ)

จะพูดว่าลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมโบราณทั่วไปก็ได้ เพราะสำนึกว่าบุคคลย่อมเป็นปัจเจกที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่นี้เอง และเป็นผลให้ทัศนคติต่อคนในสังคมที่หันมาสมาทานแนวคิดนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน จะพูดว่าไม่มีความคิดเรื่องปัจเจกเลย ก็คงไม่น่าเป็นไปได้ในทุกสังคมรวมทั้งในสังคมโบราณด้วย แต่คนถูกนิยามด้วยความสัมพันธ์มากกว่าด้วยลักษณะปัจเจกของเขา

ความสัมพันธ์นี่แหละที่ทำให้เกิดสิทธิที่แตกต่างกัน, สถานภาพที่แตกต่างกัน และเข้าถึงทรัพยากรทุกชนิดได้ไม่เท่าเทียมกัน ทรัพยากรทางการเมืองในหมู่คนไทยเกิดขึ้นจากการอ้างความสัมพันธ์ นับตั้งแต่ตระกูล, จังหวัด, ลูกข้าวเหนียวหรือสะตอ, โรงเรียนเก่า, ตำแหน่งราชการ, กองทัพและสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ

ในการเมืองไทย ความสัมพันธ์มีความสำคัญกว่าปัจเจกลักษณะเป็นอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวเหล่านี้สืบเนื่องมาจากระบบความสัมพันธ์เก่าที่มีมาแต่เดิมในสังคมไทย ความสำคัญของความสัมพันธ์กับของปัจเจกทำให้เผด็จการแบบไทยแตกต่างจากเผด็จการของเพื่อนบ้านอย่างไร ผมคิดว่าควรเปรียบเทียบกันให้เห็นไว้ด้วย

การตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของตะวันตก ซึ่งทำให้เจ้าอาณานิคมต้องเข้ามาตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นปกครอง ทำให้ความสัมพันธ์ตามประเพณีที่มีมาแต่เดิมกลายเป็นทรัพยากรทางการเมืองที่หมดพลังลง หรือถึงยังมีพลังอยู่บ้างในบางรัฐ ก็อ่อนลงอย่างมาก พวก “ระเด่น” หรือเชื้อวงศ์เจ้าในชวา ถึงแม้ได้รับตำแหน่งตั้งแต่กำนันถึงนายอำเภอภายใต้รัฐบาลดัตช์ แต่ก็ต้องสยบยอมต่อรัฐบาลอาณานิคมเสียจนไม่เหลืออำนาจอะไรในการสร้างเครือข่ายทางการเมืองของตนได้อีก เช่นเดียวกับบัณฑิตขงจื๊อในเวียดนาม แทบไม่เหลือแม้แต่เกียรติยศตามประเพณีในสังคมอาณานิคมด้วยซ้ำ

ตรงกันข้ามกับในสยาม ซึ่งแม้ไม่ตกเป็นอาณานิคมโดยตรง ผู้ปกครองก็นำความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอาณานิคมเข้าสู่ประเทศ แต่สร้างระบบความสัมพันธ์ที่ยังรักษาระบบความสัมพันธ์ตามประเพณีเอาไว้ แม้ต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างก็ไม่มากนัก

การปฏิวัติชาตินิยมของประเทศอาณานิคมเพื่อนบ้าน เป็นผลให้ล้มล้างทำลายระบบความสัมพันธ์ที่เจ้าอาณานิคมเคยสร้างไว้ทั้งหมดลง การสร้างและสะสมทรัพยากรทางการเมืองต้องอาศัยความสามารถส่วนตัวมากกว่าระบบความสัมพันธ์ใดๆ ซึ่งมีพลังเบาบางลงแทบหมด

เรียกว่าในรอบประมาณศตวรรษเดียว ระบบความสัมพันธ์ถูกล้มล้างทำลายลงแทบจะสิ้นเชิงถึงสองครั้ง

การปฏิวัติสยามใน พ.ศ.2475 (ซึ่งมีลักษณะเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเช่นกัน) ไม่มีผลอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมเพื่อนบ้าน ทรัพยากรทางการเมืองยังอาจสร้างได้เป็นส่วนใหญ่จากระบบความสัมพันธ์ที่สืบเนื่องมาแต่อยุธยา, ต้นรัตนโกสินทร์ และการปฏิรูปจักรี (ศัพท์ที่เคยถูกใช้เรียกการปฏิรูปใน ร.4-7)

ด้วยเหตุดังนั้น ผู้นำเผด็จการไทยจึงแตกต่างจากเผด็จการเพื่อนบ้านอย่างมาก ทรัพยากรทางการเมืองของทุกคนคือความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพ และ/หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ หากไม่นับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ไม่มีเผด็จการสักคนเดียวที่ได้ชื่อว่ามีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จนเป็นที่ยอมรับของกองทัพและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหลากกลุ่ม

ตรงกันข้ามกับเผด็จการเพื่อนบ้าน ถึงเราจะชอบหรือไม่ชอบบุคคลเหล่านั้นก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอย่างโฮจิมินห์, ไกสร พรมวิหาร, ฮุน เซน, ซูการ์โน, ลีกวนยิว และซูฮาร์โต, หรือแม้แต่คนอย่างนายพลเนวิน ล้วนมีความโดดเด่นเฉพาะตัวบางอย่าง ที่ทำให้เขาเหนือกว่าคนในสภาพและสถานะเดียวกับเขาคนอื่น ไม่ใช่นายพลของกองทัพพม่าหรืออินโดนีเซียทุกคนจะครองอำนาจในฐานะเผด็จการได้เป็นเวลานานๆ ลีกวนยิวไม่ใช่ “เจ๊ก” ที่มีการศึกษาคนเดียวของสิงคโปร์ แต่ความชาญฉลาดที่จะต่อรองอำนาจทั้งภายในและภายนอกอย่างได้ผลต่างหาก ที่ทำให้เขาครองอำนาจได้ยาวนานเช่นนั้น

แล้วลองนึกถึงนายพลเผด็จการของไทยที่เรียงหน้ากันเข้ามาถืออำนาจเถิดครับ หากไม่นับสองคนที่กล่าวแล้ว เขาคือคนที่ครองตำแหน่ง ผบ.ทบ.เท่านั้น ถึงคนอื่นที่ได้เป็น ผบ.ทบ.ก็อาจยึดอำนาจได้ไม่ต่างกัน และกระบวนการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไปสู่ ผบ.ทบ.ในเมืองไทย เป็นกระบวนการที่ไม่ได้อาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่น แต่อาศัยการสร้างความสัมพันธ์ในระบบ (เช่น ร่วมรุ่น, ร่วมหน่วย, ทหารพระราชา ฯลฯ)

การที่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, พล.อ.สุจินดา คราประยูร, พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่, จอมพลถนอม กิตติขจร, และจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้นำเผด็จการไทย ก็ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างไร… ไม่ใช่หรือ?

 

3.ความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์

ลักษณะเด่นในความสัมพันธ์ในวัฒนธรรมไทยคือความไม่เท่าเทียม ไม่เฉพาะคนในองค์กรหรือสถาบันเดียวกันเท่านั้น ที่จะต้องสัมพันธ์ในเชิงลดหลั่นกัน แม้แต่ตัวองค์กรหรือสถาบันที่คนอ้างเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเขา ก็มีสถานะที่ลดหลั่นกันด้วย เช่น ระหว่าง “เมือง” กับ “บ้านนอก”, ระหว่างวัดหลวงกับวัดในหมู่บ้าน, ระหว่างโรงเรียนดังกับโรงเรียนวัด, ระหว่างโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ

และด้วยเหตุดังนั้น ในความสัมพันธ์เชิงบุคคล จึงแฝงนัยะของความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอหน้ากันไว้เกือบทุกกรณี เช่น ระหว่างผัว-เมีย, หญิง-ชาย, นาย-บ่าว, มูลนาย-ไพร่, พระ-โยม, ครู-ศิษย์ ฯลฯ

น่าสังเกตด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่เสมอหน้าระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ไม่เคยเป็นแกนเรื่องหลักในวรรณกรรมเชิงนิยายคลาสสิค (fictional literature) ของไทยเลย ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับวรรณกรรมคลาสสิคจีน ความผูกพันระหว่างเพื่อนเพศเดียวกันคือท้องเรื่องหลักอยู่เสมอ

ผมคิดว่าความไม่เท่าเทียมเป็นบทสรุปของทัศนะต่อคนในวัฒนธรรมไทย นั่นคือเพราะคนมีธรรมชาติที่ชั่ว จึงต้องถูกกำกับควบคุม และการกำกับควบคุมย่อมทำได้ภายใต้สองเงื่อนไข คือคนต้องอยู่ในความสัมพันธ์หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือต้องอยู่ในสังคม (บางคนที่อยู่นอกสังคมได้ คือคนที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติความเป็นคนของตนเอง เช่น ฤษีชีไพร) เมื่อต้องอยู่ในสังคม ตัวตนของเขาจึงไม่ใช่ปัจเจก แต่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และวัฒนธรรม

ส่วนในสังคม การกำกับควบคุมจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคนไม่เท่าเทียมกัน ถ้าทุกคนเท่าเทียม สังคมก็จะเป็นมิคสัญญี เพราะต่างก็จะใช้ธรรมชาติที่ชั่วของตนดำเนินชีวิต แต่อำนาจควบคุมจะตกอยู่กับใคร มากน้อยลดหลั่นกันอย่างไร และในมิติที่แตกต่างกันอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นมีอำนาจในการควบคุมธรรมชาติที่ชั่วของตนเองได้มากน้อยเพียงไร คนที่สามารถคุมได้มาก ก็จะมีอำนาจมาก เรียกว่ามี “บารมี” หรือความดีที่ได้สั่งสมไว้สูง

อำนาจกับความดีจึงเป็นของคู่กันในสังคมไทยเสมอ ปัญหาเรื่องทำอย่างไรจึงจะให้คนดีได้อำนาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ไทยมาแต่โบราณ กษัตริย์ที่ถูกชิงราชบัลลังก์ถูกบรรยายว่าชั่ว ในขณะที่ผู้ชิงราชบัลลังก์ได้ก็ถูกบรรยายว่ามากด้วยบารมีอย่างไร สืบมาจนปัจจุบัน รัฐบาลที่ถูกรัฐประหารก็จะมี ครม.ที่เป็น “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต”, “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “อีโง่” เสมอ

ส่วนผู้ชนะก็พิสูจน์ความดีของตนด้วยการสวดมนต์ทุกวัน, นั่งสมาธิจนได้ฌานสูง, เป็นผู้มีชีวิตสมถะ, ลูบหัวเด็ก ไปจนผูกผ้าขะม้าเต็มพุง

(ยังมีต่อ)