หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๙๙.๒)/บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๙๙.๒)

 

มีคนบอกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันไดโนเสาร์เต่าล้านปี

ถ้าเราสังเกตในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ไทยได้อันดับที่ 59 ในการครอบครองเหรียญ ในปี 2016 ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 รวมเรียกได้ว่าพยายามเต็มที่ พอสู้เขาได้ คนไทยทั้งชาติช่วยกันเชียร์นักกีฬาไทย เข้าแข่งขันกับชาวโลก ประเทศที่น่าอายมากคืออินเดีย ทั้งที่เป็นประเทศใหญ่โตระดับโลก แต่ในการกีฬา อินเดียอยู่ท้ายๆ

แต่ในทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ติดอันดับที่ 215 และนี่คือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย เก่าแก่ที่สุด และร่ำรวยที่สุด แต่มันมีอาการล้าหลัง ชักช้า มีอาการเหมือนไม่อยากไปแข่งขันกับชาวโลก พอใจจะอยู่แบบเดิม

หากการศึกษาของไทยมีอาการสู้เต็มที่ คนไทยคงยิ้มได้ ด้วยเพราะทำให้คนไทยมีอนาคต แต่ทุกวันนี้ติดแหง็กกับวิธีการคิดแบบเก่าๆ ขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ ที่จริงไม่ว่าอะไร หากเป็นความต้องการของพวกเขา ที่ไม่ต้องการแข่งขันกับชาวโลก แต่จริงแล้วหรือ ควรแล้วหรือ

หากการกีฬาเป็นวงกลมวงหนึ่ง การศึกษาเป็นวงกลมที่ใหญ่กว่ามาก หากประเทศไทยมีสถาบันทางการศึกษาระดับโลก เช่น อยู่ในอันดับที่ 30-50 ก็ยังเรียกได้ว่า ไทยมีอาการต่อสู้เต็มที่ เท่าที่นักกีฬาไทยพยายามเต็มที่ ได้รับความสนใจจากคนไทยทั้งชาติ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ไทยเราก็ยังล้าหลัง ประเทศไทยนี้น่าอายไม่แพ้อินเดีย หรือแย่กว่า เพราะการศึกษามีความสำคัญยิ่งกว่า

เราทิ้งวงกลมใหญ่ ไปใส่ใจแต่แค่วงกลมเล็กทำไม

 

ที่ฉันคิดขึ้นมานี้ เนื่องจากล่าสุด เกิดกรณีที่คุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานนิสิตจุฬาฯ แถลงว่า จะยกเลิกการแบกพระเกี้ยว เป็นเหตุให้คณาจารย์และศิษย์เก่ามากมายออกมาคัดค้าน ด่าว่า บางกลุ่มเตรียมจะเล่นงานเขาเต็มที่ รวมไปถึงสื่อหลายกระแส เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ทำให้ฉันฉุกคิด ว่าสายพันธุ์ไดโนเสาร์ตัวนี้ ยาวไกลเหลือเกิน

มีเรื่องอื่นสำคัญกว่าตั้งเยอะ ทำไมต้องมาถกเถียง วนเวียนอยู่แต่กับสิ่งไร้สาระ ทำไมต้องเอาเป็นเอาตายกับเรื่องหยุมหยิม ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามใจนิสิตนักศึกษา ในเมื่อมีกฎระเบียบว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ก็จบแค่นั้น หากไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา ก็จบแค่นั้นอีกเช่นกัน มันจะสับสนได้อย่างไร

มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย นอกจากคนที่คิดว่าสิ่งนี้เป็นตายสำหรับชีวิต การแบกหรือไม่แบบพระเกี้ยว ยอมกันไม่ได้ แต่โลกเราที่หมุนไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้เลย อันดับโลกของมหาวิทยาลัยไม่ขึ้นกับสิ่งนี้เลย

ชาวโลกคงพิศวงเป็นอันมาก ทึ่คนไทยมาทะเลาะกันเรื่องแบกพระเกี้ยว

มหาวิทยาลัยเน้นที่การศึกษา การวิจัย ผลงานด้านวิชาการ เหมือนการแข่งกีฬา แบ่งออกเป็นนานาวิชา หลากหลายแขนง ต้องต่อสู้กับนานาประเทศ งานแต่ละชิ้นต้องแข่งขันกัน Paper ต่อ Paper เรื่องอย่างการแบกพระเกี้ยวมีความสำคัญน้อยมาก ศิษย์เก่าอย่าไปคิด ว่าการแบกนี้สำคัญอย่างที่สุด ไม่แบกไม่ได้ คณาจารย์อย่าไปรู้สึกว่าโดนสบประมาทอย่างแรง มันไม่เกี่ยวกันเลย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถแปรเปลี่ยนได้อีกมากมาย อย่างสุดจะหยั่งได้ ในเวทีโลก

 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ควรแบกพระเกี้ยวหรือไม่ควรแบก ควรตามใจเด็กๆ หากไม่ดี ปีหน้าค่อยกลับมาแบกใหม่ก็แล้วแต่ ตามแต่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปีนั้นจะตัดสินใจ

เรื่องแค่นี้คุณยังไม่ยอมให้พวกเขาตัดสินใจเองเลยหรือ หรือว่ากฎระเบียบมีความไม่ชัดเจน ว่าเรื่องแบบนี้ใครมีสิทธิตัดสินใจ หรือคุณจงใจทำให้สิ่งนี้คลุมเครือเอง เพื่อจะได้เกิดหลายมาตรฐาน หรือท้ายสุด เรื่องแบบนี้ ไม่มีใครมีสิทธิตัดสินใจใดๆ เลย มันคือสายพันธุ์ DNA ที่ห้ามแปรเปลี่ยน

แปลกมากเลย ที่สถาบันการศึกษาของไทยกลายร่างมาเป็นแบบนี้ได้

ย้อนกลับมาถามใหม่ ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ มันเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือกรมศิลปากร หรือโรงละคร หรือสถาบันการศึกษาระดับสูงสุดของประเทศ

๑๐

มีรุ่นพี่บางคนออกมาบอกว่า น้องไม่แบก พี่แบกเอง อันนี้ผิดประเด็น ที่จริงควรถามว่า เรื่องนี้คุณให้น้องๆ ตัดสินใจเองได้ไหม หรือไม่ได้ เรื่องแบบนี้ต้องรุ่นพี่ตัดสินใจ หรือต้องคณาจารย์ตัดสินใจ

หากเรื่องนี้ต้องคณาจารย์ผู้สูงอายุและทรงคุณวุฒิตัดสินใจ แล้วมหาวิทยาลัยจะไปทางไหน องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีไว้ทำอะไร หรือมีไว้ประดับดั่งพวงดอกไม้

๑๑

ตามกฎหมายแล้ว นี่ควรเป็นการตัดสินใจของใคร หากเป็นขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ก็จบ หากไม่ใช่ ก็จบอีกเช่นกัน

เพราะการแบกพระเกี้ยวไม่ได้ทำให้แผ่นดินสูงขึ้น หรือการไม่แบก ก็ไม่ได้ทำให้แผ่นดินต่ำลง มันไม่เกี่ยวกันเลย

 

๑๒

การจะเรียกพ่อว่าลุง หรือเรียกลุงว่าพ่อ สำคัญไหม เกี่ยวไหมนะ มันเป็นเรื่องเล็กอย่างที่สุด แต่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มียุคหนึ่ง มันเป็นเรื่องใหญ่ แทบเป็นแทบตาย สมัยนั้น ฮ่องเต้องค์ก่อนไม่มีลูกชาย จึงเอาลูกชายของพี่ชายมาเลี้ยง แล้วตั้งเป็นรัชทายาท ต่อมาเขาก็ได้ขึ้นครองราชย์

คำถามคือ เขาจะเรียกพ่อแท้ๆ ของตัวเองว่าอะไร จะเรียกว่าพ่อตามความเป็นจริง หรือกลับมาเรียกลุง เพราะบัดนี้เขาเป็นรัชทายาทของฮ่องเต้องค์ก่อนแล้ว

๑๓

มันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทว่าครั้งนั้น บรรดาเหล่าบัณฑิตขงจื๊อ ครองความเป็นใหญ่ เป็นขุนนางเต็มราชสำนัก แบ่งออกเป็นสองพวก ทะเลาะกันจะตาย

กลุ่มหนึ่งให้เรียกพ่อ กลุ่มหนึ่งให้เรียกลุง และไปจับกลุ่มหน้าพระราชวัง ร้องห่มร้องไห้ เหมือนหมูถูกเชือด ร้องจนเลือดไหลจากทวาร บางคนเอาหัวโขกเสาที่หน้าวัง บอกว่า หากไม่ทำตามที่ตัวเองว่า ก็ให้มาประหารชีวิตของพวกเขาได้เลย ให้จับไปเฆี่ยนตี พวกเขายอมไม่ได้ เพราะการเรียกผิดไปคำเดียวนี้ เป็นความผิดระดับสูงสุด เป็นกาลกิณี เป็นวันสิ้นโลก หากไม่ปรับแก้ แผ่นดินนี้จะเข้าสู่ยุคเข็ญ ทุกอย่างจะสิ้นหวัง ทุกอย่างจะดับสลาย ร้องแล้วร้องอีก เอาหัวโขกแล้วโขกอีก เสียงร้องไห้นี้ดังระงมไปทั้งกลางวันและกลางคืน

๑๔

นี้คืออาการดิ้นรนของสายพันธุ์ไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง แต่ในยุคนั้น มันจริง มันดุ มันร้องจริง เลือดไหลจริง และตายจริง