นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มองเมียงเชียงตุง ตอน2 [การยึดครองของกองทัพไทยและการเซงลี้อาวุธ]

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน “มองเมียงเชียงตุง” ตอนที่ 1

คุณบุญสิงห์ บุญค้ำ ซึ่งถูกส่งไปเป็นศึกษาธิการของ “สหรัฐไทยเดิม” หรือเชียงตุง ในระหว่างที่ไทยยึดเชียงตุงมาได้จากกองทหารจีนคณะชาติ และยึดครองไว้ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง เล่าไว้ในเที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวินของท่านว่า

“…ทหารมักถือคำพังเพยที่ว่า War Wine Woman (สงคราม เหล้า ผู้หญิง เป็นของคู่กัน) แม้พลเรือนหรือราษฎรเองก็จะฉวยโอกาสหาความร่ำรวยจากการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จนไม่นึกถึงศีลธรรม… ฉะนั้น ในระยะสองปีที่ไทยเข้าไปปกครองสหรัฐไทยเดิม จึงมีทั้งการสรรเสริญและติเตียนอย่างรุนแรง…”

ตรงกับที่ผมเคยได้ยินมาจากคนเก่าๆ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนไทยที่เข้าไปปกครองเชียงตุงช่วงนั้น กระทำการกดขี่ประชาชนด้วยประการต่างๆ ที่ได้ยินมากก็คือปล้นสะดมยึดเอาสิ่งของส่วนบุคคลมาเป็นของตัว และล่วงละเมิดหญิง ขนาดเที่ยวไล่จับเอากลางทุ่งนาทีเดียว เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ หรือจริงแค่ไหน ผมไม่ทราบ

คนเชียงตุงในปัจจุบันยังเสริมว่า ความจริงแล้วเมื่อสิ้นสงคราม อังกฤษได้สอบถามคนเชียงตุงว่าอยากจะอยู่กับไทยหรือพม่า คนเชียงตุงยังจดจำความทารุณโหดร้ายของไทยระหว่างยึดครองได้ จึงเลือกอยู่กับพม่า

ผมไล่สอบเอกสารทางการระหว่างอังกฤษ-พม่า, อังกฤษ-ชาน และพม่า-ชาน ซึ่งหนังสือ History of the Shan State ของ Sai Aung Tun รวบรวมไว้มาก ก็ไม่พบว่าอังกฤษเคยเสนอให้เชียงตุงเลือกอย่างคำเล่าลือเลย ยิ่งไปกว่านั้นเอกสารต่างๆ ยังชี้ให้เห็นว่าเจ้าฟ้าเชียงตุง (หรือผู้ทำหน้าที่แทน) ยังเป็นหนึ่งในเจ้าฟ้าแนวหน้าที่ร่วมกันตัดสินใจทางการเมืองมาแต่ต้น ในอันที่จะอยู่ร่วมกับสหภาพพม่า ภายใต้เงื่อนไขที่พม่าต้องให้สิทธิการปกครองตนเองแก่แคว้นต่างๆ ของรัฐชาน (เช่น ตามที่ระบุในสัญญาปางโหลง)

ผมจึงออกสงสัยว่า ข่าวลือที่ว่าอังกฤษให้เชียงตุงเลือกจะอยู่กับไทยหรือพม่าคงไม่ใช่เรื่องจริง แต่เล่าแล้วมันสะใจแก่ชาวเชียงตุงที่ยังจดจำความทารุณโหดร้ายของกองทัพไทยได้เป็นอย่างดี เล่าไปนานเข้าก็เลยติดปากชาวเชียงตุงรุ่นหลังๆ ด้วย

ผมตั้งคำถามแก่ตนเองในการไปเชียงตุงครั้งนี้ว่า ผมจะลองสอบถามผู้คนที่มีประสบการณ์ในช่วงยึดครองของไทยว่า พฤติกรรมของกองทัพไทยในระหว่างนั้นเป็นอย่างไร แน่นอน ผมย่อมคาดหวังได้ว่าคงมีคนประเภทนี้เหลือน้อยแล้ว และในจำนวนน้อยเหล่านี้จะจำได้ดีแค่ไหนก็น่าสงสัยอยู่ เพราะในระหว่างนั้น พวกเขาคงเป็นเด็กเท่านั้น

สิ่งแรกที่ผมค้นหาในเชียงตุงเพราะเชื่อว่าคงจะพบได้ง่ายที่สุดก็คือ ที่ทำการของรัฐบาลไทยหรือกองบัญชาการของกองทัพไทยอยู่ที่ไหน คุณหอมนวล ไกด์สาวของเราชี้ให้ได้ทันที สถานที่นั้นเป็นตึกใหญ่ทรงตะวันตก ดูจะเป็นเรือนที่อยู่อาศัยมากกว่าที่ทำการรัฐบาล คุณหอมนวลรู้ว่าเคยเป็นตำหนักของ “เจ้านาง” หรือชายาคนใดคนหนึ่งของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เพราะท่านมักสร้างตำหนักทรงฝรั่งประทานไว้แก่ชายาทุกองค์ ไม่ไกลจากหอคำเท่าไรนัก แต่คุณหอมนวลไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยสมัยนั้นมาซื้อ หรือเช่า หรือยึดเอาไปใช้ และไม่รู้ว่าเจ้านางองค์ใดเป็นเจ้าของ

ปัจจุบันเป็นตึกร้าง มีรั้วรอบขอบชิดที่ไม่อนุญาตให้เราเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเพียงแต่ยืนชมกันที่ประตูรั้วด้านนอก

เมื่อได้มีโอกาสนมัสการสมเด็จอาชญาธรรม (คุณหอมนวลอธิบายว่าคือสังฆราชของรัฐชานทั้งหมด) ที่วัดเชียงยืนแล้ว จึงได้รับคำยืนยันว่า กองบัญชาการใหญ่ของไทยอยู่หลังวัด (คือตำหนักดังกล่าวซึ่งอยู่หลังวัด) ช่วงนั้นท่านเป็นเณรอยู่ที่วัดและได้เห็น “ข้าหลวงผิน” หรือ พลตรีผิน ชุณหะวัณ ที่อยู่บ้านหลังวัดเป็นครั้งคราวด้วย ซ้ำส่วนหนึ่งของกองทัพไทยก็มาพักอยู่ที่วัดนี้เอง ผมเดาว่าคงเป็นหน่วยทหารประจำตัวผู้บัญชาการใหญ่

แสดงว่าเมื่อยึดเชียงตุงได้แล้ว รัฐบาลไทยได้ตั้งรัฐบาลทหารขึ้นที่สหรัฐไทยเดิม โดยมีนายทหารเป็นตัวแทนอำนาจของรัฐบาลกรุงเทพฯ (ข้าหลวงทหาร) ปกครองดูแล แต่ก็มีข้าราชการพลเรือนและตำรวจเข้าไปร่วมภายใต้การกำกับของฝ่ายทหารด้วย ตรงกับที่ คุณบุญสิงห์ บุญค้ำ กล่าวไว้

ไทยไม่ได้ยึดเชียงตุงเพื่อขับไล่กองทหารก๊กมินตั๋งออกไปเท่านั้น แต่มุ่งจะผนวกและกลืนเชียงตุงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยด้วย ฉะนั้น ที่ทำการรัฐบาลจะมีตึกอยู่หลังเดียวเช่นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ (ซ้ำตึกหลังนั้นยังใช้เป็นที่อยู่ของผู้บัญชาการทหารด้วย) จะต้องมีที่ทำการรัฐบาลที่อื่นในเชียงตุงอีก เช่น คุณบุญสิงห์เองไปอยู่ที่ไหน และเปิดสำนักงานศึกษาธิการที่ไหนในเชียงตุง

ผมกลับเมืองไทยแล้วค้นจากหนังสือของ คุณสุพิน ฤทธิ์เพ็ญ เรื่องเจ้านาง พบว่ากองบัญชาการใหญ่เคยเป็นตำหนักของเจ้านางบุญยง ชายาคนที่ 5 ของเจ้าก้อนแก้ว โอรสของเจ้านางคือเจ้าบุญวาทย์ ซึ่งในระหว่างสงครามได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนเจ้าฟ้าเชียงตุง ซึ่งยังทรงพระเยาว์และอยู่ในระหว่างเสด็จไปศึกษาที่อังกฤษและออสเตรเลีย เจ้าบุญวาทย์ได้นำไตเขิน, ไตลื้อ และไตโหลง ในเชียงตุงออกมารับกองทัพไทยซึ่งเข้ายึดเชียงตุงจากกองกำลังของจีนคณะชาติในปี 1942 (2485) ดังนั้น กองทัพจึงใช้ตำหนักของพระมารดาและเจ้าบุญวาทย์เป็นกองบัญชาการ ส่วนจะยึดไปหรือเช่าหรือซื้อ ไม่ทราบได้

สมเด็จอาชญาธรรมยังเล่าด้วยว่า ระหว่างที่กองทหารก๊กมินตั๋งยึดครองเชียงตุงตามข้อตกลงกับอังกฤษนั้น ก็อาศัยวัดเชียงยืนเป็นที่พักอาศัยของทหารส่วนหนึ่งเหมือนกัน ท่านจำได้ว่าทหารจีนบอกแก่ท่านว่า มีปืนเหลืออยู่แค่สามสี่กระบอกเท่านั้นในจำนวนทหารสักสอง-สามกองร้อยที่อยู่ในวัด ท่านยังนึกว่าแล้วจะไปรบกับใครได้

ทหารก๊กมินตั๋งนั้น ขึ้นชื่อมากในเรื่องการนำอาวุธประจำกายหรือประจำหน่วยไปขาย กองทหารก๊กมินตั๋งยกไปที่ใด ก็คือการติดอาวุธให้แก่คนร้ายประเภทต่างๆ เกิดการปล้นสะดมชุกชุม ทั้งโดยทหารเองและโดยโจรที่ติดอาวุธทันสมัยขึ้น กลายเป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่นต้องคอยปราบปราม ทั้งในประเทศอื่นๆ และในประเทศจีนเอง เมื่ออังกฤษกลับเข้ามาหลังสงคราม ก็ต้องเที่ยวไล่ปราบโจรก๊กต่างๆ ในรัฐชาน สิ้นเปลืองแก่อังกฤษซึ่งกำลังจะหมดตัวอย่างมาก อังกฤษจึงพอใจที่จะสลัดรัฐชานออกไปจากอกโดยเร็ว

การเซงลี้อาวุธไม่ใช่ปัญหาของกองทัพก๊กมินตั๋งเพียงกองทัพเดียวในโลก ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ ทหารเลิกขายอาวุธที่ตนได้รับมอบจากรัฐมาไม่นานมานี้เอง กองทัพชาวนาของประเทศต่างๆ ล้วนถืออาวุธที่เอามาจากไร่นาของตนเองทั้งนั้น ขืนแจกซามูไรให้ทหารชาวนา กูรู้ว่าพวกมึงเอาไปขายแน่ ฉะนั้น ห้ามชาวนาถือซามูไรเสียเลยดีกว่า หมดเรื่องหมดราวไป

คุณสมบัติข้อแรกของกองทัพสมัยใหม่คือทหารต้องเลิกเซงลี้อาวุธ เพียงแค่นี้ก็มีกองทัพสมัยใหม่อีกหลายแห่งในโลกปัจจุบันก็ยังเลิกไม่ได้

และที่ทหารก๊กมินตั๋งเซงลี้อาวุธก็ไม่ใช่ความผิดของทหารเพียงอย่างเดียว การส่งกำลังบำรุงของรัฐบาล เจียง ไค เช็ก โดยเฉพาะระหว่างสงครามย่ำแย่อย่างมาก ทหารที่ต้องไปรบไกลๆ ต้องลาดหาเสบียงอาหารเอาเองเป็นต้น ล่าสัตว์ก็เปลืองกระสุน สู้ปล้นเขากินไม่ได้ ไม่มีใครมีทรัพย์พอให้ปล้นกิน ก็ขายปืนเสีย ยังทำให้ไม่อดตาย

(คุณคำสิงห์ ศรีนอก เล่าว่า พี่ชายของท่านซึ่งอาสาสมัครเป็นทหารไปในกองทัพด้วย เล่าให้ท่านฟังว่า เมื่อไทยจำเป็นต้องถอนทัพกลับจากเชียงตุงอย่างไม่เป็นขบวน ทหารนำอาวุธยุทธภัณฑ์ติดตัวมาถึงเมืองพยาก เห็นว่าต้องเดินกลับบ้านแน่แล้ว จึงพากันเอาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ต้องแบกหามกันมาทิ้งน้ำเสีย ฟังแล้วผมอดคิดไม่ได้ว่า นี่เป็นเหตุผลที่ดีจังในการนำอาวุธนั้นไปขายให้แก่ตลาดค้าอาวุธซึ่งกำลังเฟื่องฟูขึ้นในภูมิภาคนี้เมื่อสิ้นสงคราม ทั้งโจร, นักการเมือง และกองกำลังกู้ชาติล้วนเป็นลูกค้าชั้นดีทั้งสิ้น)

การยึดครองเชียงตุงของกองทัพไทยครั้งนั้น จึงไม่ใช่ความสำเร็จทางทหารที่น่าภาคภูมิใจอะไรนัก ทหารก๊กมินตั๋งล่าถอยไปตั้งแต่กองทัพไทยยังเดินทัพไม่ถึงเชียงตุงด้วยซ้ำ ความสูญเสียเกือบทั้งหมดเกิดจากความยากลำบากในการเดินทาง ทหารกองหนึ่งไม่อาจเข้าตีตามนัดหมายได้ เพราะเดินทางไปไม่ถึง พาหนะทั้งหลายที่ขนอาวุธยุทธภัณฑ์ติดหล่มโคลนจนเคลื่อนที่ไม่ได้ ทหารเสียชีวิตด้วยไข้ป่าไปจำนวนมาก

ผมควรกล่าวด้วยว่า รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามออกจะเก้ๆ กังๆ กับการยึดเชียงตุงพอสมควร ชื่อที่รัฐบาลตั้งให้แก่แคว้นนี้คือสหรัฐไทยเดิม ก็บ่งบอกอะไรอยู่ เชียงตุงนั้นเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุดในรัฐชาน จึงมีอำนาจเหนือเมืองต่างๆ อีกมากหลายเมือง หากถือว่าเชียงตุงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ก็ต้องแบ่งเชียงตุงออกเป็นหลายจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงตุง, จังหวัดพยาก, จังหวัดยอง, ฯลฯ (เหมือนจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เดิมล้วนอยู่ในอาณัติของเจ้าหลวงเชียงใหม่ทั้งสิ้น) จึงเท่ากับลดอำนาจของเจ้าฟ้าเชียงตุงลง อาจทำให้เจ้านายเชียงตุงไม่พอใจ และอาจตั้งตัวเป็นศัตรูกับไทยก็ได้ จึงรวมทั้งหมดไว้เป็นสหรัฐไทยเดิม

ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะมี “สหรัฐ” แทรกอยู่ในนั้นได้อย่างไร และความสัมพันธ์ระหว่าง “สหรัฐ” กับรัฐบาลไทยพึงเป็นอย่างไร ก็ดูเหมือนไม่ชัด ยังไม่พูดถึงว่ารัฐต่างๆ ใน “สหรัฐ” จะสัมพันธ์กันอย่างไรก็ยิ่งไม่ชัดขึ้นไปใหญ่

การยึดเชียงตุงเป็นไปตามสัญญาที่ผูกพันกับญี่ปุ่น เพราะในปี 1942 ไทยได้กลายเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่นไปเสียแล้ว เมื่ออังกฤษถูกญี่ปุ่นตีถอยร่นไปจากพม่า อังกฤษได้มอบหมายให้จีนคณะชาติขยายกำลังลงมาควบคุมรัฐชาน เพราะพื้นที่รัฐชานเคยเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธและความช่วยเหลือของฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นไปป้อนรัฐบาลจีนคณะชาติที่จุงกิง ญี่ปุ่นจึงต้องการให้ไทยยึดเชียงตุงไว้เพื่อตัดเส้นทางดังกล่าว อันที่จริงเมื่อญี่ปุ่นยึดตอนล่างของพม่าได้ เส้นทางนี้ก็ใช้ไม่ได้อยู่แล้ว สัมพันธมิตรขอให้จีนมายึดไว้ก็เป็นแค่สัญลักษณ์ ไม่มีประโยชน์ในการรบจริง ญี่ปุ่นขอให้ไทยยกไปยึดเชียงตุงก็เป็นสัญลักษณ์ ไม่มีประโยชน์แก่สงครามของญี่ปุ่นในจีนเหมือนกัน ทั้งเป็นภารกิจทางทหารที่ไม่ยากนัก เหมาะแก่กองทัพซึ่งทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นก็รู้ว่าไม่สู้จะมีสมรรถนะทางการรบสักเท่าไร

ส่วนไทยเองก็ต้องส่งทหารไปยึดตามคำขอของพันธมิตร นอกจากนี้ ผมอยากเดาด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม คงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายดินแดนของไทยให้ไปชิดฝั่งแม่น้ำสาละวิน เพราะเห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์หลักของท่านในเรื่องดินแดนนั้นไม่ใช่รวมเผ่าไทยหรือทวงดินแดนคืนอย่างที่นักวิชาการฝรั่งมักกล่าวอ้าง แต่ต้องการแม่น้ำหรือภูเขาสูงเป็นพรมแดนธรรมชาติมากกว่า… ก็ตามวิธีคิดของทหารเก่าที่เรียนจบมาจากฝรั่งเศสผู้สร้างแนวป้อมมาจิโนต์อันใช้การจริงไม่ได้ อย่าลืมว่าเครื่องบินสมัยที่ท่านจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังบินดังแผล็ดๆ แผล็ดๆ อยู่นะครับ พรมแดนธรรมชาติจึงมีความสำคัญทางทหารอย่างมาก

ส่วนนโยบายของไทยในการยึดครองเชียงตุงเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาตินั้น โดยปราศจากค้นคว้าหลักฐานชั้นต้นใดๆ ผมเข้าใจว่ามุ่งอาศัยชนชั้นสูงหรือเจ้านายเชียงตุงเป็นหลัก ยกย่องเจ้าต่างๆ ขึ้นมีตำแหน่งในราชการไทย เช่น เจ้าบุญวาทย์เป็นที่ปรึกษานายอำเภอเมืองเชียงตุง เชิญเจ้าพรหมลือกลับไปเป็นที่ปรึกษาของ “ข้าหลวงทหาร” พญาต่างๆ ของเชียงตุงได้รับแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นผู้พิพากษาบ้าง เป็นผู้ดูแลฝ่ายโยธาบ้าง

แม้แต่ที่ยังรักษาเชียงตุงไว้เป็น “สหรัฐไทยเดิม” ก็คงด้วยเหตุที่จะเอาใจพวกเจ้าและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ไม่ได้แยกเชียงตุงออกเป็นจังหวัดต่างๆ ดังที่ทำกับกัมพูชาและลาวส่วนที่ไทยได้จากอินโดจีนของฝรั่งเศส สหรัฐไทยเดิมจึงไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด การปกครองของไทยที่นั่นเป็นการปกครองของรัฐบาลทหาร

นโยบายเช่นนี้ไม่ต่างจากนโยบายที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษใช้กับแคว้นต่างๆ ในรัฐชานมาก่อน คือตั้งอยู่บนความสนับสนุนของเจ้าฟ้าและเชื้อวงศ์ อาจกระชับการปกครองเข้ามาอยู่ในมือของไทยมากกว่าเท่านั้น

แต่รัฐบาลไทยขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับรัฐชานที่ตัวจะเข้าไปมีอำนาจน้อยกว่ารัฐบาลอังกฤษ จึงไม่ทราบถึงความแตกร้าวที่มีอยู่ในหมู่เจ้าเชียงตุง และได้นำเอาเจ้าพรหมลือมาเป็นที่ปรึกษาของข้าหลวงทหาร

เจ้าพรหมลือเป็นโอรสเจ้าก้อนแก้วที่เกิดจากมหาเทวี จึงน่าจะได้ดำรงตำแหน่งเจ้าฟ้าหลวงของเชียงตุงต่อจากพระราชบิดา แต่ด้วยเหตุที่เจ้าพรหมลือได้สมรสกับเจ้าทิพวัลย์ ธิดาของเจ้านครลำปาง อาจทำให้อังกฤษระแวงหรือด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ เจ้าฟ้าหลวงก้อนแก้วอินแถลงจึงแต่งตั้งเจ้ากองไต ซึ่งเป็นโอรสที่เกิดจากเจ้านางขึ้นเป็นรัชทายาทแทน เมื่อเจ้ากองไตขึ้นเป็นเจ้าฟ้าหลวงอยู่ไม่นานก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต คนร้ายถูกจับตัวได้และให้การซัดทอดว่าเจ้าพรหมลือเป็นผู้จ้างวาน

อังกฤษนำทั้งคนร้ายและเจ้าพรหมลือไปคุมขังและไต่สวนพิพากษาที่เมืองตองยี ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐชานทั้งหมด ในที่สุดก็สั่งจำคุกคนร้าย แต่ยกฟ้องเจ้าพรหมลือ เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พร้อมทั้งสั่งห้ามมิให้เจ้าพรหมลือกลับเชียงตุงอีกตลอดไป ซึ่งเจ้านายเชียงตุงส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเพราะอังกฤษอยากจะรักษาพระเกียรติยศของเชื้อสายเจ้าฟ้าก้อนแก้วซึ่งอังกฤษชื่นชมเป็นพิเศษเท่านั้น

ความจริงของเหตุการณ์นี้เป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่ความแหนงใจก็เกิดขึ้นแก่เจ้านายเชียงตุงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเจ้ากองไตเสียแล้ว ขนาดมหาเทวีต้องเสด็จออกจากเชียงตุงไปประทับที่ตองยีจนสิ้นพระชนม์ที่นั้น

การที่ไทยนำเจ้าพรหมลือกลับเชียงตุงอีกครั้ง จึงไม่น่าจะเป็นที่ชื่นชมของเจ้านายเชียงตุงนัก อาจเพียงเพราะไทยไว้วางใจเจ้าพรหมลือมากเป็นพิเศษ เพราะมีคู่สมรสเป็น “คนไทย” (เจ้าลำปาง) ก็เป็นได้ แต่ดูเหมือนทำให้นโยบายใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากเจ้านายเชียงตุงไม่ได้ผลตามต้องการ

การรบก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่การยึดครองก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกองทัพส่วนใหญ่ในโลกนี้ทำไม่ค่อยเป็น ผมจะกลับมาคุยเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์หน้า

(ยังมีต่อ)