ขานรับเปิดประเทศ คมนาคมตีปิ๊บลงทุนปี 2565 24 เมกะโปรเจ็กต์ 9.7 แสนล้าน ปลุกมู้ดนักลงทุน/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

กีรติ เอมมาโนชญ์

 

ขานรับเปิดประเทศ

คมนาคมตีปิ๊บลงทุนปี 2565

24 เมกะโปรเจ็กต์ 9.7 แสนล้าน

ปลุกมู้ดนักลงทุน

 

พลันจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ว่า จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ดูเหมือนทุกภาคส่วนของสังคมจะมีความรู้สึกที่ทั้งมีความหวัง แต่ก็ระคนไปด้วยความกังวลใจ…

เพราะตัวเลขผู้ตัวเชื้อโควิด-19 (ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2564) ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงที่ 9,810 ราย มีผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 เมษายน. 2564) จำนวน 1,802,526 ราย กำลังรักษา 102,317 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 66 ราย ทำให้มีหลายฝ่ายกังวลว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้ง 46 ประเทศ นอกจากเม็ดเงินจะนำพาเชื้อไวรัสเข้ามาด้วย

ซึ่งมีเสียงล้อเลียนจากโซเชียลมีเดียว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์เปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน ปุ๊บ แล้วก็ปิดประเทศวันที่ 2 พฤศจิกายน ปั๊บ

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการแสดงความเห็นว่า แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปิดประเทศให้ประชาชนทำมาหากินได้แล้ว

เพราะที่ผ่านมาหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว อดยากแร้นแค้นจากเอฟเฟ็กต์มาตรการปิดเมืองโควิด-19 มามากเกินไปแล้ว ซึ่งมิติด้านการท่องเที่ยวเป็นช่องทางอันดับแรกๆ ที่โกยรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลตลอดมา

โดยในช่วงเปิดประเทศ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูกาลไฮซีซั่น 5 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2564-มีนาคม 2565 จำนวน 1.1 ล้านคน

สร้างรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท!

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่เตรียมคิกออฟมาตรการที่จะดูดทั้งคนและเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวแล้ว

อีกขาหนึ่งของเศรษฐกิจไทยที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ฟื้นกลับมาคือ “การลงทุนภาครัฐ” ที่มีกระทรวงคมนาคมเป็นพระเอก ก็เตรียมเข็นเมกะโปรเจ็กต์ 24 โครงการ วงเงินลงทุน 974,454.37 ล้านบาท ทยอยลงทุนต่อเนื่องโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคมฉายภาพว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ไปจนถึงปี 2565 จะเกิดการลงทุนในระยะถัดไป กระทรวงคมนาคมได้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ไปแล้ว 1.44 ล้านล้านบาท

เป็นงานด้านถนน 14 โครงการ วงเงิน 216,854 ล้านบาท

งานด้านขนส่งทางบก 19 โครงการ วงเงิน 4,200 ล้านบาท

การขนส่งทางราง วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท

การลงทุนรถไฟความเร็วสูงไทยจีน วงเงิน 403,957 ล้านบาท

การพัฒนาโครงการข่ายรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล 5 โครงการ วงเงิน 455,255 ล้านบาท

การขนส่งทางน้ำ 11 โครงการ วงเงิน 12,600 ล้านบาท และการขนส่งทางอากาศ วงเงิน 58,300 ล้านบาท

 

ส่วนในปี 2565 ก็คาดว่าจะมีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ครบทุกโหมดการเดินทาง โดยเตรียมไว้ทั้งสิ้น 24 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 974,454.37 ล้านบาท ประกอบด้วย

ทางถนน 12 โครงการ วงเงินรวม 281,205 ล้านบาท ได้แก่

กรมทางหลวง (ทล.) 1.มอเตอร์เวย์สาย 9 (M9) วงแหวนตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 36 ก.ม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 ก.ม. วงเงิน 27,000 ล้านบาท 3.เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) กับมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 4.28 กม วงเงิน 4,700 ล้านบาท 4.มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18 ก.ม. วงเงิน 29,550 ล้านบาท 5.มอเตอร์เวย์ช่วงนครปฐม-ชะอำ แบ่งสร้างตอนที่ 1 นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 63 ก.ม. วงเงิน 51,760 ล้านบาท รูปแบบการลงทุน รัฐบาลลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนงานระบบแบบ PPP Gross Cost คาดว่าจะก่อสร้างในปี 2567-2570

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 6.ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 และ N2 เชื่อมเกษตร-นวมินทร์-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ระยะทาง 18.4 ก.ม. วงเงิน 37,870 ล้านบาท 7.ทางด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 17 ก.ม. วงเงิน 21,919 ล้านบาท 8.ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 ก.ม. วงเงิน 14,470 ล้านบาท 9.ทางด่วนช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต ระยะทาง 30 ก.ม. วงเงิน 30,456 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 10.ถ.เชื่อมต่อศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม ระยะทาง 23.102 ก.ม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท 11.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 26 ก.ม. วงเงิน 4,765 ล้านบาท และร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงานคือ 12.นโยบายแต่งแต้มสีสันทางหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 280 ล้านบาท

ทางบก 1 โครงการ ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้แก่ โครงการศูนย์ขนส่งสินค้าชายแดน จ.นครพนม พื้นที่ 121 ไร่ วงเงิน 1,361.36 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะได้ตัวในปี 2565 เริ่มก่อสร้างในปี 2565

ก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2567

 

ทางราง 5 โครงการ วงเงิน 624,879 ล้านบาท ประกอบด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 3 โครงการ 1.รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 ก.ม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท 2. รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 ก.ม. วงเงิน 67,965 ล้านบาท 3.โครงการ 3.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 ก.ม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2 โครงการ 4.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 122,067 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสายม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 ก.ม. วงเงิน 124,958 ล้านบาท

ทางน้ำ 2 โครงการ วงเงิน 7,561 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งช่วง อ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4 ก.ม. วงเงิน 1,010 ล้านบาท และเขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.พระนครศรีอยุธยา ถึง อ.คลองหลวง ระยะทาง 13 ก.ม. วงเงิน 5,105 ล้านบาท และ 2.โครงการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 1 วงเงิน 586 ล้านบาท ชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 2 วงเงิน 420 ล้านบาท ชายหาดบางแสน วงเงิน 440 ล้านบาท

ทางอากาศ 4 โครงการ วงเงิน 59,448.01 ล้านบาท ประกอบด้วย

บมจ.ท่าอากาศยาน (ทอท.) 2 โครงการ 1.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818.51 ล้านบาท 2.ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829.50 ล้านบาท และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2 โครงการ 3.ท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 3,250 ล้านบาท

และ 4.ท่าอากาศยานระนอง วงเงิน 3,550 ล้านบาท

 

“ศักดิ์สยาม” ทิ้งท้ายว่า การทำงานทั้งหมดเกือบๆ 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าทำต่อจากรัฐบาลยุคที่แล้ว ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เสร็จแล้ว ต้องทำต่อ และต้องปรับปรุงใหม่

โดยในสมัยที่ยังอยู่ ณ ตอนนี้ก็ขับเคลื่อนการทำงานต่างๆ ไปพร้อมกับผู้บริหารกระทรวงฝ่ายราชการด้วย

ซึ่งพวกตนมีความกล้าที่จะทำและพร้อมจะอธิบายสิ่งต่างๆ ด้วย

“…ในเวลาที่เหลือของรัฐบาลอีก 1 ปี 8 เดือน หากไม่มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้นก็พร้อมจะทำงานและขับเคลื่อนโปรเจ็กต์และแผนงานต่างๆ ต่อไป”

นายศักดิ์สยามกล่าวทิ้งท้าย