นงนุช สิงหเดชะ/คำขู่จาก ‘วัฒนา เมืองสุข’ สะท้อนทัศนคติแบบไหน

นงนุช สิงหเดชะ

คำขู่จาก ‘วัฒนา เมืองสุข’

สะท้อนทัศนคติแบบไหน

กรณี นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาขู่หมายหัวว่าจะ “เอาคืน” คนที่แจ้งความดำเนินคดีกับตนในประเด็นโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนคนไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการแถลงปิดคดีปล่อยปละให้มีการทุจริตจำนำข้าวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างสำหรับทัศนคติของนักการเมืองแบบนายวัฒนา
หรือแม้กระทั่งอาจชวนให้เข้าใจเหมารวมว่านี่เป็นทัศนคติหรือนิสัยของคนในพรรคการเมืองนี้
นายวัฒนา บอกว่าหลังเลือกตั้ง ซึ่งนายวัฒนาอ้างว่าจะเป็นช่วงที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ (มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง) ใครที่แจ้งความดำเนินคดีกับตนจะต้องรับกรรม “หลังเลือกตั้งผมไม่ปล่อยไว้แน่”
คำว่าหลังเลือกตั้งไม่ปล่อยไว้แน่ แสดงว่านายวัฒนามั่นใจว่าพรรคของตนจะชนะเลือกตั้งแน่นอนใช่หรือไม่ และถ้าพรรคของตนมีอำนาจก็จะเล่นงานทุกคน ข้าราชการทุกคนที่ดำเนินคดีนายวัฒนาใช่ไหม

ท่าทีและทัศนคติเช่นนี้ของนายวัฒนาส่งผลเสียต่อกระบวนการตรวจสอบ-ถ่วงดุลนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะนั่นเท่ากับส่งสัญญาณขู่ล่วงหน้าว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล บรรดาข้าราชการหรือใครก็ตามที่มีหน้าที่ถ่วงดุล ติงเตือนรัฐบาลอย่าได้หือมาท้าทายอำนาจของพวกตน


ท่าทีแบบนี้ถือว่าน่ากลัวมากสำหรับวิญญูชนทั่วไปที่มีเหตุผลและรักประชาธิปไตยของจริง
ซึ่งอาจน่ากลัวจนกระทั่งว่ามีคนไม่อยากให้พรรคนี้กลับมาเป็นใหญ่อีกตลอดไปก็เป็นได้
เพราะถ้ารัฐบาลเลือกตั้งใดมีทัศนคติแบบนายวัฒนา ก็ย่อมแสดงว่าประชาธิปไตยของจริงไม่ได้เกิดขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ประเทศได้รับมาคือพวกที่แค่ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้พวกที่มีธรรมาภิบาลหรือจริยธรรม-มโนธรรม แล้วจะต่างอะไรจากเผด็จการ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้หลังเลือกตั้งและพรรคนี้ชนะเลือกตั้งแล้วมีพฤติกรรมอาฆาตเอาคืนทุกคนที่เขาทำหน้าที่ของเขา บ้านเมืองคงไม่เข้าสู่ภาวะปกติอย่างที่นายวัฒนามโนเอาเองแน่นอน

ตอนหนึ่งนายวัฒนายังให้สัมภาษณ์ท้าทายให้ไปจับตนดำเนินคดี เพราะถึงอย่างไรก็จะเดินทางไปให้กำลังใจคุณยิ่งลักษณ์หน้าศาล “ใครที่อยากจะออกหมายจับให้ไปจับที่ศาล ขอให้กล้าๆ หน่อย และหากดำเนินคดีกับผมให้ทำเอง ไม่ให้ไปใช้ลูกน้อง บางครั้งผมจะเอาคืน เห็นมียศเป็นร้อยตรี ร้อยโท ผมก็สงสาร ขออย่าหลบหลังเด็ก มันไม่ใช่หลักการการเป็นผู้นำ”
นายวัฒนาคงหมายถึงต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปจับด้วยตัวเอง (แม้ในภายหลังจะพูดชัดขึ้นว่าหมายถึงตำรวจชั้นผู้ใหญ่)
ซึ่งการท้าทายแบบนี้เป็นการท้าทายแบบเด็กๆ เพราะการจับกุมดำเนินคดีใครก็ตามก็ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้มีหน้าที่โดยตรงไปจัดการ
ไม่มีประเทศไหนที่นายกฯ จะไปจับกุมคนทำผิดด้วยตัวเอง
ตอนคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นไปจับใครด้วยตัวเอง
แถมบางทีก็ทำอะไรนอกกฎหมายเสียเอง เช่น ปล่อยให้มวลชนโหดๆ ไปทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยมีตำรวจบางคนภายใต้อำนาจรัฐบาลในขณะนั้นมองดูและอำนวยความสะดวกให้มวลชนของตัวเองทำร้ายฝ่ายตรงข้ามจนสาหัสหลายคน อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2549 (สุดท้ายอีก 1 เดือนถัดมาก็ถูกรัฐประหาร)
ในเมื่อนายวัฒนาบอกว่า ใครทำอะไรก็รับกรรมไป หลังเลือกตั้งไม่ปล่อยไว้แน่ แต่อย่าลืมว่าการรับกรรมก็ไม่ควรมีข้อยกเว้นสำหรับใครเป็นการเฉพาะ
ดังนั้น ถ้าถึงเวลาที่ตัวเองต้องรับกรรมบ้างก็ไม่ควรโวยวายอ้างว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

เรื่องการข่มขู่อันเกี่ยวเนื่องกับคดีจำนำข้าวนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 หลังรัฐประหาร จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบและบริหารจัดการข้าวคงเหลือในคลังเพื่อให้งานรุดหน้าไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนถูกข่มขู่ว่าถ้ากลับมามีอำนาจการเมืองอีกเมื่อไหร่ก็ระวังให้ดี ดังนั้น ข้าราชการจึงเกิดความกลัวไม่กล้าทำหน้าที่
ประโยคที่ว่า “ถ้ากลับมามีอำนาจการเมืองอีกระวังให้ดี” คำขู่ลักษณะนี้จะเป็นของใครไปไม่ได้นอกจากนักการเมืองของฝ่ายที่กำลังถูกตรวจสอบ และน่าจะเป็นนักการเมืองที่เชื่อว่าตัวเองจะกลับมามีอำนาจอีก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีอยู่จริง หากแต่แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำไป เพราะข้าราชการนั้นส่วนใหญ่ก็ย่อมต้องห่วงตำแหน่ง-หม้อข้าวของตัวเอง ดังนั้น จึงมักเก็งล่วงหน้าว่าพรรคไหน คนของใครจะได้เป็นรัฐบาลก็จะทำตัวลู่ตามลมไปอย่างนั้น
ถ้าประเมินว่ารัฐบาลไหนจะอยู่นานหน่อย ข้าราชการก็มักจะเกียร์ว่างไม่ตรวจสอบเดินหน้าเอาผิด แม้จะมีความผิดเกิดขึ้น เพราะเกรงว่าเก้าอี้ของตัวเองจะเดือดร้อน
หรือบางทีก็ถึงขั้นยอมทำตามคำสั่งของคนในรัฐบาลทั้งที่รู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วข้าราชการประเภทหลังนี้ติดคุกไปแล้วหลายคน เพราะเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาหรือนักการเมืองคนนั้นหมดอำนาจแล้ว ข้าราชการคนดังกล่าวก็กลายเป็นแพะรับกรรมไป
ยิ่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคิดว่าตัวเองจะอยู่ในอำนาจต่อเนื่องหลายปีนั้นยิ่งมีภาวะกดดันหรือข่มขู่ข้าราชการมากกว่ายุคไหนดังที่เราเห็นมาแล้วตั้งแต่ปี 2544

ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สามารถลดการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเลย ยิ่งเลือกตั้งมาก ก็ยิ่งมีการคอร์รัปชั่นมาก ทั้งที่สองอย่างนี้ควรสวนทางกัน

คําขู่ของนายวัฒนา อาจคือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอนาคตที่น่าใจหาย เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าหลังเลือกตั้งเราจะได้นักการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ใช้อำนาจอย่างถูกต้องเป็นธรรม หรือปล่อยให้ข้าราชการ-หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายกับนักการเมืองสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา ปราศจากความกลัว
คำขู่จากนายวัฒนาหรือนักการเมืองแบบเดียวกับนายวัฒนา จึงสะท้อนทัศนคติของนักการเมืองที่ไม่ส่งเสริมฐานรากประชาธิปไตย ถึงมาจากการเลือกตั้งก็ไม่น่าชื่นชมหรือน่าพึงปรารถนา
กล่าวสำหรับ นายวัฒนา เมืองสุข นั้น ยังมีคดีที่ต้องเผชิญคือกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชี้มูลความผิดนายวัฒนา สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับพวก ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กระทำการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรโดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น (เรียกรับสินบน)
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต