เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ผังเมืองดีคืออย่างไร

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

เรื่องสำคัญของความเป็นเมือง คือเรื่อง “ผังเมือง” เพราะการจัดผังเมืองย่อมสัมพันธ์ไม่เฉพาะแต่ในเมืองนั้น หากยังต้องสัมพันธ์กับเมืองข้างเคียง หรือปริมณฑล

ผู้ที่รู้เรื่องของผังเมืองดีในกรุงเทพมหานครคือผู้อำนวยการผังเมืองกรุงเทพมหานคร นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ซึ่งเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงการบริหารงานพัฒนาเมือง (มหานคร) รุ่นที่ 4 มาแล้ว กับ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

สำหรับการบรรยายของ คุณวันชัย ถนอมศักดิ์ เคยนำเสนอในส่วนของ “มหานคร 4” ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ผังเมืองกรุงเทพมหานครมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนใหญ่วันนี้เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งมวลชนขนาดซึ่งชุมชนมีการไปตั้งหมู่บ้านและย่านการค้าดักไว้แทบว่าทุกแห่ง ซึ่งทราบกันดี

ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองสรุปในการบรรยายครั้งนี้ว่า ผังเมืองต้องตอบโจทย์

1. ความปลอดภัย
2. สุขภาพ
3. สุขอนามัย

ทั้งสามประการของการแบ่งส่วนผังเมืองต้องกำหนดสีแบ่งในผังเมืองก่อนจะมีการกำหนดแนบท้ายขยายความผังเมือง (น่าจะมีส่วนของย่านบันเทิงและการสังสรรค์ด้วย – ผู้บันทึกสรุปเพิ่มเติมไว้อย่างนั้น)

ขณะที่ผังส่วนที่โล่งเป็นพื้นที่ซึ่งกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องกันไว้ซับน้ำส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่รอบนอก เพื่อกักเก็บน้ำเวลาฝนตกลงมามาก หรือน้ำที่ระบายหลากลงมาจากภาคเหนือ ไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าแต่อย่างใด

กรุงเทพมหานครมีวิสัยทัศน์แบ่งผังเมืองเป็นกลุ่มภารกิจ ดังนี้

1. เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นการปรับปรุงให้คงไว้ซึ่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์

2. กลุ่มตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง เช่น ปรับปรุงตรอก 200 ปี ปรับปรุงคลองโอ่งอ่าง อนุรักษ์บ้านสามยุค (รัชกาลที่ 4, 5, 6) ย่านท่าช้างย่านท่าเตียน ปรับปรุงโป๊ะใหม่ เจดีย์ย่านเกาะดี และปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรโครงสร้างสะพานหลายแห่ง

3. กลุ่มย่านการค้าศูนย์กลางพาณิชย์ ทางเดินเหินฟ้าท่าเรือสาทรไปยังบริเวณต่างๆ

4. กลุ่มย่านสะพานปลายานนาวา ถนนตก

5. กลุ่มย่านศูนย์การค้าพาณิชย์ตากสิน บริเวณวงเวียนใหญ่ และบริเวณข้างเคียงให้การเดินทางเชื่อมกับเกาะรัตนโกสินทร์

6. กลุ่มย่านราชการ ที่อยู่อาศัย ซึ่งเชิงสถิติ 1 ตารางกิโลเมตรมีโรงพยาบาล ส่วนราชการมาก จึงมีแนวคิดพัฒนา เช่น ถนนโยธี ถนนราชวิถี โรงพยาบาลสงฆ์ รวมย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ย่านจรัญสนิทวงศ์ ย่านบางขุนนนท์ ย่านสามแยกไฟฉาย

 

ผู้บรรยายคนต่อไปคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักวิชาการระดับอธิการบดี ใช้ความรู้ความสามารถบรรยายถึงการปรับผังเมืองชนิดที่ผู้เข้ารับการอบรมตั้งใจฟังอย่างใจจรดใจต่อกันทีเดียว

ในส่วนของการสรุปอาจไม่ถึงอกถึงใจเท่ากับกับการบรรยาย แต่เนื้อหาสาระเท่าที่ คุณมนูญ วิวรรณ สรุปมา พอจะให้บรรยากาศบ้าง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง บอกว่า ความรู้คืออำนาจ ความรู้อยู่รอบตัว อยู่ที่เราต้องทำตัวให้ทันสมัย การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต้องพัฒนาเมืองควบคู่ไปด้วย

อดีต อำเภอลาดกระบังอยู่นอกสายตา แต่ปัจจุบันกลายเป็นเมือง นับว่าขยายเมืองได้อย่างรวดเร็ว เช่นที่ฮ่องกงเป็นเมืองขยายเร็วมากที่สุดในโลก

ทุกเมืองในโลกจะเจอะเจอปัญหาความแออัดของการจราจร ถึงขนาดว่าสหประชาชาติคาดว่าจะเป็นปัญหาของโลกในศตวรรษหน้า

เมืองคือเสน่ห์ของมนุษยชาติ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เมืองก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของตัวพลเมือง สิ่งที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์คือ ฟ้า ดิน มนุษย์ ไม่ใช่ธรรมะจัดสรร

ขณะที่อาจารย์ยังว่าถึงหลักของชีวิต เช่น เป็นผู้ให้ ดีกว่าผู้รับ ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี (เกี่ยวอะไรกับผังเมือง ขอให้ตีความกันเองนะครับ) และข้อคิดอีกบางประการซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับหัวข้อบรรยายก็ได้ หรืออาจเกี่ยวก็ได้ แต่ผู้สรุปนำมาบรรจุไว้โดยไม่มีบริบทข้างเคียง เช่น กฎหมายคือความยุติธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมกว่า หรือคนเก่งต้องแกล้งโง่บ้าง

เอาเป็นว่า ศาสตราจารย์ ดร. ท่านนี้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเมืองแบบทันสมัยมาก กลุ่มไหนที่ต้องการความรู้เรื่องผังเมือง ความเป็นเมือง เชิญท่านไปบรรยายได้ รับรองว่าได้ประโยชน์มากจริงๆ

เรื่องของผังเมืองทั้งของกรุงเทพมหานครและของประเทศไทย เป็นรื่องสำคัญและจำเป็น เดิมกรุงเทพมหานครจะจัดทำผังเมืองให้เสร็จภายใน 50 ปี นับจากที่กำหนด ซึ่งเป็นเมื่อไหร่จำไม่ได้ แต่จำได้ว่า หากเกิดอัคคีภัยขึ้น ณ ที่ใด โดยเฉพาะที่เป็นตึกแถวริมถนน เจ้าของที่ดินบริเวณนั้น และตึกแถวแห่งนั้น จะสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ ต้องร่นระยะเข้าไปอีก 2 เมตร เพื่อขยายถนน

ดังนั้น ถนนหลายสายในกรุงเทพมหานครจึงมีลักษณะฟันหลอ เว้าๆ แหว่งๆ บางแห่งมีลักษณะเป็นคอขวดปากทางทะลุถนนอีกสาย แต่ถนนตรงกลางป่อง ลักษณะคล้ายกับงูเหลือมกินเหยื่อเข้าไปในท้อง

ขณะที่มีการเวนคืนพื้นที่หลายแห่งเพื่อสร้างทางรถไฟฟ้าเมื่อหลายปีก่อน ถึงวันนี้เมื่อเริ่มมีการก่อสร้างอาจเบี่ยงเบนเส้นทางเดิมออกไปบ้าง

เรื่องของผังเมืองมีการวางมาหลายสิบปี แต่ยังไม่สามารถขยายถนนออกไปได้ ด้วยเหตุที่ไม่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือกำหนดเวลาให้แน่นอนว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ต้องเวนคืน

ขณะที่บางแห่งถึงกำหนด แต่กว่าจะเวนคืนได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ต้องฟ้องศาลกว่าจะตัดสินถึงขั้นศาลฎีกา บางครั้งต้องใช้เวลา 10 ปี

ขอให้บรรดานายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง เอาใจใส่ดูแลเรื่องผังเมืองให้เคร่งครัด เพราะเมืองที่เหมาะสม เมืองที่ปลอดภัย ดีกับสุขภาพและพลานามัยของประชาชนในเมืองนั้น ต้องเป็นผังเมืองต้องดีควบคู่ไปด้วย

อย่างผังเมืองจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับรางวัลผังเมืองดีเด่นมาหลายครั้ง และเป็นผังเมืองตัวอย่าง เป็นต้น