ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (1)

 

“เทวาสุรสงคราม” คือสงครามระหว่างเทวดากับอสูร มีฉากหลักอยู่บนเขาพระสุเมรุ รวมถึงพื้นที่ส่วนอื่นๆ บนสวรรค์และใต้พิภพ มหาสงครามนี้เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ทางศาสนานับพันปีทั้งของพุทธและพราหมณ์

อสูรคือสัญลักษณ์ของ “ความชั่ว” มากไปด้วยกิเลสหยาบช้า เต็มไปด้วยความโกรธ มัวเมาในสิ่งผิด และคือต้นเหตุของความเลวร้าย

ส่วนเทวดาคือสัญลักษณ์ของ “ความดี” ที่เข้ามาจัดการปัญหา คอยปราบอสูร และจรรโลงศีลธรรมอันดีให้คงอยู่ต่อไป

แม้มีรายละเอียดแตกต่างกันไปหลายสำนวนตามแต่ลัทธิทางศาสนา อีกทั้งในแต่ละสำนวนยังถูกแต่งเติมและตัดทอนตลอดระยะเวลานับพันปี แต่หัวใจสำคัญของเรื่องเล่าชุดนี้ที่มีร่วมกันก็คือ การสั่งสอนและปลูกฝังศีลธรรมในอุดมคติให้กับผู้คนในสังคมผ่านการต่อสู้กันระหว่าง “ความดี” กับ “ความชั่ว”

ซึ่งเรื่องเล่าจะจบลงด้วยการที่เหล่าเทวดาซึ่งเป็นตัวแทนของความดีย่อมชนะอสูรที่เป็นตัวแทนของความชั่วเสมอ

 

เรื่องเล่าแฝงศีลธรรมชุดนี้ส่งผ่านสู่ผู้คนในหลากหลายวิธี ทั้งทางมุขปาฐะ วรรณกรรม การละเล่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ฯลฯ และปัจจุบัน หนังสือเรียน การ์ตูน และแอนิเมชั่น คือสื่อสมัยใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว

ในฐานะที่ผมเองสนใจเรื่องเล่าเหล่านี้มานานพอสมควร ผมเริ่มมองเห็นว่า ภายใต้โครงเรื่องความดีย่อมชนะความชั่วที่ดูเป็นสัจธรรมและถูกผลิตซ้ำผ่านตัวกลางนานาชนิดอยู่ตลอดเวลานั้น หากลองอ่านเนื้อความระหว่างบรรทัดอย่างจริงจัง มันกลับเผยให้เห็นแง่มุมบางอย่างและความจริงอีกด้านที่เรามองข้ามไป ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความดีและความชั่วได้อย่างลึกซึ้งรอบด้านมากขึ้น

สิ่งที่ถูกนิยามว่าความดีอาจไม่ใช่ความดีที่แท้จริง ความชั่วอาจไม่ชั่วอย่างที่คิด เทวดาอาจจะมิได้รักษาศีลธรรม แต่เป็นเพียงการรักษาผลประโยชน์ของตนผ่านการอ้างศีลธรรม อสูรอาจจะมิได้หยาบช้าอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงการเรียกร้องสิ่งที่เป็นธรรมเท่านั้น

สำหรับทุกคนที่ผ่านระบบการศึกษาไทย เชื่อแน่ว่าคงต้องเคยได้ฟัง อ่าน หรือดู เรื่องราวของมหาสงครามครั้งนั้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

แต่เคยสงสัยบ้างไหมครับ ว่าต้นเหตุที่แท้จริงของมหาสงครามครั้งนั้นเกิดจากอะไร

 

ดังที่กล่าวไป เรื่องเล่าชุดนี้มีหลายสำนวนที่รายละเอียดแตกต่างกันมาก แต่สำหรับสังคมไทย มูลเหตุของสงคราม (อ้างอิงจาก “คัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1) ถูกเล่าแทรกไว้อย่างสั้นๆ ดังต่อไปนี้

เป็นเวลานานก่อนหน้าที่พระอินทร์จะมาจุติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยอดเข้าพระสุเมรุ ดาวดึงส์คือที่อยู่ของอสูรมาก่อน พูดให้ชัดก็คือ อสูรที่เราเรียกกันนั้น แท้จริงคือเทวดากลุ่มหนึ่งที่อยู่บนสวรรค์ และ ณ ขณะนั้นก็ยังไม่ได้ถูกเรียกว่าอสูรแต่อย่างใด

จนมาวันหนึ่ง มฆมาณพพร้อมเพื่อน 33 คน ซึ่งได้สั่งสมบุญมาอย่างมากบนโลกมนุษย์ได้เสียชีวิตลง ทั้งหมดขึ้นไปจุติเป็นเทวดาพร้อมกันบนดาวดึงส์ โดยมฆมาณพจุติกลายเป็นพระอินทร์และเป็นหัวหน้ากลุ่มเทวดาใหม่เหล่านั้น

เทวดารุ่นพี่มีความยินดีมากที่ได้เพื่อนใหม่ จึงจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่พร้อมสุราอาหารต้อนรับ แต่พระอินทร์กลับมีแผนอื่นในใจ และสั่งเพื่อนเทวดาไม่ให้ดื่มสุราในงานฉลอง โดยแสร้งทำเป็นว่าดื่มเท่านั้น

เมื่อเทวดารุ่นพี่ดื่มสุราจนเมามายหลับไป พระอินทร์ก็ประกาศว่าเทวดาเหล่านี้ประมาทมัวเมาในสุรา ไม่ควรที่จะได้อยู่บนดาวดึงส์อีกต่อไป จากนั้นก็ทำการรัฐประหาร จับเหล่าเทวดารุ่นพี่โยนลงมาจากสวรรค์ ตกลงมาที่ใต้เขาพระสุเมรุ

เมื่อตื่นขึ้นจากความเมามาย และรู้ว่าถูกโยนลงมาเสียแล้ว เหล่าเทวดารุ่นพี่ต่างปฏิญาณตนว่าจะไม่ดื่มสุราอีกต่อไป และนั่นจึงเป็นสาเหตุของชื่อเรียกเทวดากลุ่มนี้ว่า “อสูร” หรือ “อสุรา” (ไม่ดื่มสุรา)

และด้วยความคิดถึงดาวดึงส์สวรรค์ เหล่าอสูรจึงยกทัพขึ้นไปรบเพื่อขอคืนพื้นที่บ้านเดิมของตนจากพระอินทร์

 

เรื่องเล่าต่อจากนี้จะยืดยาวเป็นสงครามระหว่างเทวดากับอสูร ระหว่างความดีกับความชั่วตามที่เราได้ยินได้ฟังโดยทั่วไป ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรนะครับ

ประเด็นของผมก็คือ อยากให้เราลองพิจารณาสงครามครั้งนี้ในมุมมองของอสูรดูบ้าง ตามแนวทางแบบภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” ของผู้กำกับฯ อากิระ คุโรซาวา (ดัดแปลงมาจากเรื่องเล่าโบราณของญี่ปุ่น ออกฉายครั้งแรก พ.ศ.2493) เราก็จะพบความจริงอีกชุด มุมมองอีกแบบ และศีลธรรมอีกด้านที่ต่างออกไป

ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ได้เล่าตอนท้ายของสงครามครั้งนี้ไว้ว่า เหล่าเทวดาสามารถจับหัวหน้าอสูร นามว่า “ท้าวเวปจิตราสูร” ได้และนำตัวมาเฝ้าพระอินทร์ โดยคัมภีร์ได้เล่าคำให้การสั้นๆ ของหัวหน้าอสูรเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“…ดูกรพระอินทร์ ท่านนี้เป็นโจรตีชิงเอาพิภพแห่งเรา ชิงเอาที่อยู่ที่กินของเรา…ท่านนี้เป็นคนพาล เห็นแต่จะได้ไม่คิดบาปคิดกรรม…ท่านนี้เป็นคนหลงหามีปัญญาพิจารณาคุณแลโทษไม่…ท่านนี้มิใช่เทวดา เป็นอูฐต่างหาก…ท่านนี้เป็นสัตว์นรกมิใช่ชาวสรรค์…ท่านนี้เป็นสัตว์ดิรัจฉานดอกมิใช่เทวดา…ถ้าถึงทีท่านอัปราชัยแก่เราแล้วเราก็จะให้มัดเอาท่านไป…เราจะให้ทำโพยโบยรันท่านให้หนักหนา ให้สมด้วยน้ำใจแห่งท่านนี้ข่มเหงเรากระทำแก่เราดั่งนี้…”

 

จากเรื่องเล่าเล็กๆ ที่แทรกกระจายอยู่ในมหากาพย์สงครามแห่งความดีและความชั่วดังกล่าว เราน่าเห็นได้นะครับว่า สงครามนี้มิใช่เรื่องระหว่างอสูรคนชั่วแสนพาลที่ระรานเทวดาคนดีมีแต่อย่างใด แต่คือเรื่องของเทวดากลุ่มหนึ่งที่ถูกข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม ถูกแย่งชิงบ้านเกิด เพียงเพราะเหตุผลตื้นๆ ว่ากินเหล้าจนเมา

ในมุมมองของอสูร สงครามครั้งนี้จึงเป็นเพียงสงครามเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมคืนแก่พวกพ้องของตนเอง

แม้สุดท้าย ท้าวเวปจิตราสูร จะยอมรับสภาพความพ่ายแพ้และไม่โกรธเคืองพระอินทร์อีกต่อไป แต่นั่นก็มิใช่ตัวบ่งชี้ว่าฝ่ายอสูรคือฝ่ายผิดและเป็นพวกไร้ศีลธรรมแต่อย่างใด

หากจะมีฝ่ายที่ผิดศีลธรรมจริงๆ อสูรก็คงผิดเพียงแค่ศีลห้าในข้อสุดท้ายว่าด้วยการดื่มสุราเท่านั้น ในขณะที่เหล่าเทวดาอาจจะเป็นกลุ่มที่ละเมิดศีลธรรมชุดใหญ่มากกว่า

ความพร่าเลือนในความดีความชั่วจากการกระทำของเทวดาบนดาวดึงส์ มิใช่ตัวอย่างเดียวที่เกิดขึ้น

พวกเขายังได้ทิ้งร่องรอยพฤติกรรมเหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์

ในการทำบุญใหญ่ครั้งหนึ่งของมฆมาณพและเพื่อน คือ การสร้างศาลาไว้บนทางสี่แพร่งสำหรับให้คนกำพร้าและคนเดินทางผ่านไปมาได้พักอาศัย ซึ่งเมื่อข่าวนี้แพร่ไป นางสุธรรมาภรรยาของมฆมาณพก็อยากร่วมกุศลใหญ่ครั้งนี้ด้วย

แต่เพื่อนทั้ง 33 คนกลับรังเกียจและต้องการให้ศาลาแห่งนี้สร้างขึ้นจากผู้ชายเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด

นางสุธรรมาอยากร่วมบุญด้วย จึงแอบร่วมมือกับช่างโดยให้ช่างทำช่อฟ้าเตรียมซ่อนเอาไว้ 1 ตัว พร้อมกับทำช่อฟ้าของศาลาให้ขาดไป 1 ตัวพอดีกัน

เมื่อถึงวันงาน นางสุธรรมาได้เสนอมอบช่อฟ้าให้โดยไม่คิดมูลค่า เพราะหวังเพียงได้ร่วมทำบุญใหญ่ในครั้งนี้ แต่เหล่าพองเพื่อนมฆมาณพไม่ยอม จนนายช่างต้องพูดว่า

“…ในโลกนี้ไม่มีที่ใดเลยที่จะปราศจากสตรี ยกเว้นเสียแต่พรหมโลกเท่านั้น จงให้สตรีเข้าส่วนบุญด้วยเถิด…”

คำพูดดังกล่าวและสถานการณ์ที่หาไม้ช่อฟ้าไม่ได้ สุดท้ายทุกคนจึงจำยอมใช้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา

 

ไม่จำเป็นต้องใช้มุมมองแบบสตรีนิยม ความเท่าเทียม หรือค่านิยมในโลกสมัยใหม่อะไรเข้ามาช่วยตีความเลยนะครับ เอาแค่ศีลธรรมพื้นฐานทางศาสนาพุทธแบบที่คนไทยยกย่องกันทั่วไป การกีดกันไม่ให้คนอื่นได้มีโอกาสทำกุศล ก็ดูจะมีบาปติดตัวไปไม่น้อยแล้ว

แม้สุดท้าย เรื่องเล่าทั้งหมดจะจบอย่างแฮบปี้เอนดิ้ง นางสุธรรมาได้ทำบุญ ในส่วนของ ท้าวเวปจิตราสูร ก็ยอมรับความพ่ายแพ้และไม่โกรธเคืองพระอินทร์อีกต่อไป

แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ ชัยชนะของเหล่าเทวดาจะยังเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของความดีเหนือความชั่วได้หรือไม่

หรือเป็นเพียงพื้นที่ที่พร่าเลือนทางศีลธรรมที่ไม่อาจนิยามคนดีและคนชั่วได้อย่างชัดเจน