หนุ่มเมืองจันท์ : พระเกี้ยว-พระเกรี้ยว

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC
ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อปี 2558 / ภาพประกอบจาก BBC โดย facebook/SGCU Camera

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

พระเกี้ยว-พระเกรี้ยว

 

ผมชอบการวิวาทะเรื่องการยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์มาก

ถ้าใช้สำนวนของพี่เสถียร จันทิมาธร ก็ต้องบอกว่ามันเป็นการ “สันดาปทางความคิด”

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงทางความคิดกันด้วยเหตุผลและมุมมองที่แตกต่างกัน

“ความแตกต่าง” ทำให้เราฉลาดขึ้น

ถ้าคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน โลกจะหยุดนิ่ง

เรื่องนี้เริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ อบจ. มีมติยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยว

ด้วยคะแนน 29:0

อบจ.นั้นนอกจากมีกรรมการที่นิสิตจุฬาฯ เลือกมาแล้ว ยังมีตัวแทนของแต่ละคณะด้วย

ถ้าใช้หลักการประชาธิปไตยมองเรื่องนี้

นี่คือ เสียงส่วนใหญ่ของนิสิตปัจจุบันของจุฬาฯ

และที่สำคัญชมรมเชียร์ ที่เป็นกำลังสำคัญของงานเห็นด้วย

นิสิตรุ่นนี้เขาไม่ยอมรับกับการให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวนั่งบนเสลี่ยงและมีนิสิต 50 คนแบกเสลี่ยงเข้าสนามกีฬา

“กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ ‘พระเกี้ยว’ บนเสลี่ยง

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก”

เหตุผลของ อบจ.ชัดเจนในมุมของยุคสมัย

แต่อาจจะไม่ตรงกับใจของศิษย์เก่าจุฬาฯ หลายคน

ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วินทร์ เลียววาริณ หรือ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีดีอีเอส

แต่ละคนก็มีเหตุผลในมุมของตัวเอง

 

บังเอิญที่นายก อบจ.วันนี้ชื่อ “เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล”

เด็กคนนี้คือ “ตัวแสบ” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

เขาตั้งคำถามกับพิธีกรรมต่างๆ ในจุฬาฯ

ตอนเป็นประธานสภานิสิตฯ เขาไม่ยอมหมอบกราบต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ยกเลิกธรรมเนียมดังกล่าวเอง

โดนอาจารย์ฝ่ายปกครองล็อกคอ

รองอธิการบดีตัดคะแนนความประพฤติจนไม่สามารถลงสมัครเป็นตัวแทนนิสิตได้

เขาฟ้องศาลปกครอง ชนะ

รอจนถึงปี 5 สมัครเป็นนายก อบจ.

การเลือกตั้งครั้งนี้มีนิสิตมาลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์

“เนติวิทย์” ชนะขาดลอย

และวันนี้เขาเสนอให้มีการยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยว

อาวุธของเขาคือการตั้ง “คำถาม”

ท้าทายกับประเพณีเดิม

ในขณะที่ “ผู้ใหญ่” พยายามอธิบายถึงความสำคัญของ “พระเกี้ยว”

ความหมาย และคุณค่า

แล้วหลบเลี่ยงไม่ค่อยพูดถึงพิธีกรรมการแบกเสลี่ยงซึ่งเป็นประเด็นของคำว่า “คนไม่เท่ากัน”

มีอาจารย์บวรศักดิ์คนเดียวที่พยายามอธิบายว่านี่คือ การแบ่งงานกันทำ

“การแบ่งงานกันเชิญพระเกี้ยวคนหนึ่ง แบกเสลี่ยงอีก 50 คนเป็นการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่ตอกย้ำความไม่เสมอภาค”

เด็กฟังแล้วคงอยากให้อาจารย์บวรศักดิ์แบ่งงานแบบนี้ไปทำบ้าง

มันหนักนะครับ

ในยุค รมต.ชัยวุฒิ อาจมีคนแย่งกันสมัครแบกเสลี่ยง

แต่ยุคนี้ถ้าอ่านเฟซบุ๊กของคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว

ถึงขั้นต้องอ้อนวอนรุ่นน้องให้มาช่วย

พอจบงานก็ประกาศว่าเลิกรับงานนี้แล้ว

ที่สำคัญไม่มีศิษย์เก่ากลุ่มนี้ตั้งคำถามกับรูปแบบการแบกเสลี่ยงเลย

นิสิต 50 คนต้องแบกเสลี่ยงให้เพื่อนนิสิตด้วยกันนั่งอยู่ด้านบน

ทำไมต้องทำแบบนี้

มีวิธีการอื่นบ้างไหมในการอัญเชิญ “พระเกี้ยว”

โดยที่ “คนเท่ากัน”

ทำไมต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ

ถ้าจะคิดในระนาบเดียวกับ “พระบรมฉายาลักษณ์” ได้ไหม

เชิดชูโดยไม่ต้องขึ้นเสลี่ยง

เราจะเห็นนักมวยนำพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นไปชูบนเวทีได้โดยไม่ต้องมีใครแบกเสลี่ยง

ตอนเดินขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาฯ จนถึง กปปส. ก็เดินถือพระบรมฉายาลักษณ์ได้

“พระเกี้ยว” ก็น่าจะทำได้เช่นกัน

เหมือนกับ “ธรรมจักร” ของธรรมศาสตร์

การตั้งคำถามและหาวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัย และนิสิตปัจจุบันยอมรับ

น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

แทนที่จะยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิม

ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

 

ยิ่งนานวันผมรู้สึกว่าความแตกต่างทางความคิดของคนแต่ละรุ่นเริ่มมากขึ้นทุกที

อย่างกรณีเรื่องการยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว

กลุ่มศิษย์เก่าที่ไม่เห็นด้วยกับ อบจ.

เขาไม่ได้ทะเลาะกับ อบจ.

หรือ “เนติวิทย์” นะครับ

แต่เขากำลังทะเลาะกับ “ยุคสมัย” ที่เปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย

ในต่างประเทศก็เริ่มมีการตั้งคำถามกับ “ความเชื่อ” ดั้งเดิมเช่นกัน

กลางปีที่แล้ว ตอนเกิดเหตุตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงในการจับกุม “จอร์จ ฟลอยด์”

เกิดการประท้วงของคนผิวสีทั้งประเทศ

อนุสาวรีย์ของ “โคลัมบัส” หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาถูกทุบทำลาย

ทั้งที่เมืองบอสตัน เซนต์ปอล ริชมอนด์ ฯลฯ

“โคลัมบัส” คือผู้ค้นพบสหรัฐอเมริกา

แต่ในมุมของวันนี้ “โคลัมบัส” กดขี่ชนพื้นเมือง ค้าทาส

จาก “พระเอก” กลายเป็น “ผู้ร้าย”

เช่นเดียวกับ “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา

เขาคือผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

แต่ระหว่างนั้นเขามีคนผิวสีเป็นทาสอยู่ประมาณ 600 คน

ช่วงนั้นรูปปั้นของเขาก็ถูกทุบทำลาย

และเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ประชุมสภารัฐนิวยอร์กก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ย้ายรูปจำลองของ “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” ออกจากห้องประชุม

ด้วยเหตุผลว่าถ้ารูปจำลองนี้ยังอยู่ จะเป็นการย้ำเตือนถึงความอยุติธรรม ที่แพร่กระจายอยู่ในชุมชนคนผิวสีต่างๆ มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของประเทศนี้

คนรุ่นนี้เขาตั้งคำถามจากกรอบความเชื่อของปัจจุบัน

ไม่ได้ชื่นชมใครเพราะเป็นคนที่ค้นพบประเทศนี้

หรือเป็นคนประกาศอิสรภาพ

แต่มองลึกไปว่าสิ่งที่เขากระทำกับผู้อื่นนั้นเป็นอย่างไร

โลกวันนี้หมุนเร็วจริงๆ ครับ

ยิ่งหมุนเร็ว ยิ่งเห็นถึง “ความแตกต่าง”

แต่เราก็ยังคงต้องอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้

โดยยอมรับ “ความแตกต่าง” ของกันและกัน