ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | วางบิล |
เผยแพร่ |
เรื่องการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ต้องศึกษาที่มาและเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม
กรุงเทพมหานครเคยมีน้ำท่วมใหญ่มาหลายครั้ง ก่อน พ.ศ.2485 อาจจะนานๆ ครั้ง และเมื่อปลายปี 2458 เกิดน้ำท่วมใหญ่มีภาพปรากฏที่ชัดเจนคือบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต น้ำท่วมขังสองสามเดือน สูงถึงน่องเห็นจะได้ ปีนั้น พายเรือไปถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5
น้ำท่วมกรุงเทพมหานครอีกหลายครั้ง
แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมามีลักษณะคดโค้งลักษณะ “กระเพาะหมู” สองสามแห่ง ในอดีตมีการตัดลัดเพื่อให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล และการสัญจรลงมาได้เร็วขึ้น เช่น ทางลัดเกาะเกร็ด หรือปากเกร็ด แห่งหนึ่ง
ต่อมามีการตัดลัดหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้ ซึ่งแต่เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าคลองบางกอกน้อยออกไปยังคลองบางกอกใหญ่ (ชื่อในปัจจุบัน) เป็นระยะทางไกล ทั้งที่จากปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองบางกอกใหญ่ มีระยะทางชั่วลัดนิ้วมือเดียว
มีเรื่องเล่าว่า ชาวเรือแวะพักตรงหัวคลองบางกอกน้อยตอนเช้า หุงหาอาหารรับประทาน เสร็จแล้วพายเรือล่องลงมาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ หรือแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งก่อนจะออกไปปากอ่าวเย็นพอดี ลืมหม้อข้าวไว้เมื่อตอนเช้า จึงเดินลัดเลาะริมแม่น้ำไปเอาหม้อข้าวในเวลาไม่นาน
การตัดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนั้นจึงเกิดขึ้น ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาที่วกเป็นกระเพาะหมูกลายเป็น (คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ คลองบางหลวง) ทุกวันนี้
อีกช่วงหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีลักษณะกระเพาะหมู คือช่วงเมืองพระประแดง แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมจากเหนือลงใต้อ้อมผ่านคลองเตยรอบบริเวณบางกระเจ้าเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ขณะที่ช่วงนั้นมีคลองหนึ่งชื่อคลองลัดโพธิ์ ไหลผ่านบริเวณตำบลทรงคะนอง ระยะทางเพียง 600 เมตร
น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อปลายปี 2548 เป็นน้ำท่วมที่หลากลงมาจากทางเหนือ สร้างความเสียหายอย่างมาก
ก่อนหน้านั้นเมื่อ พ.ศ.2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะ ทรงรับสั่งถึงปัญหาน้ำท่วมและทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่แก้น้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูน้ำ หลังน้ำท่วมก็ต้องพิจารณาเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้งด้วย ต้องละเอียด มีกรอบในการทำงานที่ชัดเจน จะมุ่งหวังว่าโครงการไหนสำคัญกว่าโครงการไหนไม่ได้ ต้องเฉลี่ยกันไป
คลองลัดโพธิ์คือส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ
ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นอีกหนึ่งโครงการที่พระราชทานเพื่อเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เกิดจากพระวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จนเข้าถึงสภาพภูมิประเทศอย่างถ่องแท้ และทรงนำหลักคิดจากการใช้ประโยชน์ของคลองลัดโพธิ์ที่ขุดขึ้นมากว่า 300 ปี จนผู้คนทั่วไปลืมเลือนและลบหายไปจากแผนที่มาผสานเข้ากับหลักวิชาการและทฤษฎีการขึ้น-ลงของน้ำ…นับเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้ “หลักแห่งธรรมชาติ” เป็นแนวทางเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางในการช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น เป็นที่มาของ “โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
โครงการนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2545 แล้วเสร็จ พ.ศ.2549 โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการ
โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริช่วยร่นระยะทางการระบายน้ำออกสู่ทะเลจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร ลดเวลาระบายน้ำจาก 5 ชั่วโมง เหลือ 10 นาที สามารถระบายน้ำได้วันละ 45-50 ล้านลูกบากศ์เมตร ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13-15 ส่งผลให้ระดับน้ำที่อำเภอบางไทร พระนครศรีอยุธยา ลดลง 5-15 เซนติเมตร
สามารถช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการนำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ไปใช้ประโยชน์เพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2550 กรมชลประทานได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เริ่มทดลองเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์
เมื่อโครงการสำเร็จ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจล เลขที่ 29163 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า “อุทกพลวัต” มีความหมายว่ากังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล
คลองลัดโพธิ์เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำที่ต้องการความรู้เกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยประทับเรือพระที่นั่งอังสนา
การไปดูงานครั้งนี้ ได้รับความกรุณาจาก คุณมนัส วีรคุปต์ ผู้อำนวยการบริหารจัดการน้ำจังหวัดสมุทรปราการ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายให้พวกเราได้รับความรู้อย่างดียิ่ง ร่วมกับชาวคณะวิทยากร คือ คุณเลอบุญ อุดมทรัพย์ วิศวกรชลประทานชำนาญการพิเศษ คุณรัฐพล บุณณะ นายช่างชลประทานอาวุโส และ คุณศุภมิต น้อยคำสิน วิศวกรชลประทานชำนาญการ
ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้