เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /ยางนายักษ์ล้มกับทางชมพู

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ยางนายักษ์ล้มกับทางชมพู

 

ยางนายักษ์ล้มเป็นสิบต้นบนถนนที่มีเสน่ห์และสง่างามด้วยต้นยางสูงตระหง่านขนาบขนานมานานนับร้อยปีที่เชียงใหม่เชื่อมลำพูนนั้น ชวนให้ใจหาย…เสียดายนัก

แม้รู้ว่าสรรพสิ่งมีวันดับสูญตามกฎธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่การไม่เป็นไปตามกฎ เช่น ขาดการดูแลรักษาตามควร หรือปล่อยให้เกิดการทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี้เป็นการละเมิดกฎธรรมชาติ

หมู่เฮาชาวเหนือเขาเรียกว่า “ขึด”

คือการทำผิดทำนองคลองธรรม เช่น ทำผิดจารีตประเพณี รวมถึงการทำผิดกฎธรรมชาติ ดังกรณียางนายักษ์ล้มนี้ด้วย

การไม่ดูแลใส่ใจธรรมชาติเท่าที่ควรดังกรณีนี้สะท้อนถึงการขาดความใส่ใจของทั้งภาครัฐและภาคประชาชนซึ่งพึงมีร่วมกันต่อสาธารณสมบัติ เช่น ถนนหน้าบ้านเราเอง ต้นไม้ริมทางอย่างยางนานี้ หรืออื่นๆ อันเป็นสมบัติสาธารณะที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่เรามักจะละเลยไม่เห็นสำคัญว่าเรามีส่วนร่วม กลับเห็นเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือราชการแต่ฝ่ายเดียว

จริงอยู่รัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาโดยตรง หากเราเองก็พึงมีความเอาใจใส่ว่านี่เป็นบ้านเรา ถนนเรา ต้นไม้ของเรา และนี่เป็นเมืองเราด้วย

ยางนาหรือ “ยางเนิ้ง” ก็ยางของเรา

 

เพื่อนกันที่เชียงใหม่เธอเป็นศิลปินเขียนรูป โดยเฉพาะดอกไม้ เธอเขียนเหมือนเสกชีวิตให้ดอกไม้ไหว ลมแย้มกลีบยิ้มรับกับทุกสายตามอง และเธอก็รักไม้ทุกดอกเป็นชีวิตจิตใจ บ้านเธอจึงสวยสะพรั่งด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ งามเหมือนรูปถ่าย ส.ค.ส.ที่มีชีวิตชีวา

ถนนหน้าบ้านเธอเป็นคอนกรีตซึ่งให้ความรู้สึกแผดร้อน ซ้ำฟากตรงข้ามบ้านเธอขึงลวดหนามเป็นรั้วแนวยาว กราดเกรี้ยว

เท่านี้ไม่พอ แถมหัวถนนปากซอยยังมีป้ายปักปานจะเป็นชื่อซอยว่า “ซอยบ้านเช่า”

ช่างตัดกับความรู้สึก อะไรจะปานนั้น ระหว่างความร่มรื่นสงบงาม กับความแผดร้อน กราดเกรี้ยว และห่างเหิน

แต่แล้ววันหนึ่งลมก็พัดเกสรดอกพวงชมพูจากบ้านเธอปลิวมาเกาะรั้วลวดหนามฟากตรงข้าม ไม่นานจากเกสรกลายเป็นเถาไม้เลื้อย ประดับดอกให้กับความแข็งคมของรั้วลวดหนาม กระทั่งสยายพุ่มคลุมปิดความแหลมเรียวเกรี้ยวกราดของเหล็กรั้วไปเกือบสุดซอยราวสองร้อยเมตร

ซึ่งกลบทั้งความผ่าวแผดของพื้นคอนกรีตและความแหลมคมบาดรู้สึกของหนามเหล็กบนรั้วลวด

แต่แล้วอีกวันหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐประจำภาคพื้นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติสาธารณะคือถนนคอนกรีตใน “ซอยบ้านเช่า” ก็มารักษาถนนให้คงสภาพเดิมคือไม่มีอะไรมารกรุงรังกีดตาด้วยการมาตัดหญ้าริมทางพร้อมทั้งพุ่มพวงชมพูที่ธรรมชาติบรรจงปลิวมาประดับประดาดอกออกจากรั้ว

เพื่อเผยความคงเดิมของความเป็นรั้วลวดหนามให้สถิตสถาวรอยู่ต่อไป

 

ก็เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ มันสะท้อนเรื่องใหญ่โตมหาศาลได้ดีนัก

เหมือนยางนายักษ์ล้มนั่นเลย

มันคือช่องว่างที่นับวันจะห่างจากกันยิ่งขึ้นระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และระหว่างความสุนทรีย์และความหยาบกระด้างในใจของผู้คนวันนี้ ยุคนี้

เธอผู้รักดอกไม้เป็นชีวิตเล่าว่า ได้พยายามต่อสู้ร้องเรียนไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเท่าที่จะทำได้แล้วเพื่อพยายามให้ซอยหน้าบ้านเธอเป็น “ทางชมพู” ไม่ใช่กลายเป็น “ซอยบ้านเช่า”

แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างยางนายักษ์ล้มนั่นกระมัง

คือเราต่างทำหน้าที่กันคนละอย่างโดยไม่เห็นเป็นเรื่องเดียวกัน คือช่องว่างของความไม่เข้าใจที่นับวันจะขยายห่างกันออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

หรือจะรอให้ยางนายักษ์ล้มไปทั้งขบวนแถว

นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

หมู่เฮาชาวเหนือเรียกว่า “ขึด” ใช่ไหมเน่อ

 

มาดูเรื่องดีๆ กันบ้าง ดังภาพตู้ชุมสายไฟข้างถนนในเมืองกรุง ซึ่งเริ่มเห็นลานตาริมถนนหลายสายแล้ว เช่น แถวราชดำเนิน สนามหลวง ศาลหลักเมือง วังสราญรมย์ ฯลฯ

ภาพงามเหล่านี้แหละเป็น “ภาพประดับเมือง” ที่ควรมีให้มากขึ้น เช่นกันกับงานศิลปะประดับที่สาธารณะอื่นๆ เช่น งานประติมากรรมประดับสวนสาธารณะ หรือในที่ทางเหมาะสมหลากหลาย

โดยเฉพาะที่ทางบนถนนทุกสายซึ่งเวลานี้จะรกรุงรังด้วยสายไฟระโยงระยางราวหยากไย่ใยแมงมุมเมืองแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยขยะโฆษณา ทั้งแผ่นภาพและตัวหนังสือ ภาษาต่างชาติจนแทบไม่รู้ว่านี่เป็นเมืองไทยหรือเมืองฝรั่งไปแล้ว

ก็นี่แหละเป็น “วัฒนะ” ไปสู่ “หายนะ”

คือวัฒนธรรมอันนำไปสู่หายนธรรม หาใช่อารยธรรมไม่

และเราก็ดูเหมือนจะไม่ประสีประสาต่อเรื่องเหล่านี้สักเท่าไร กลายเป็นเห็นดีเห็นงามกับคติที่ว่า

“ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่”

จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้กันไปทั้งบ้านทั้งเมืองจริงๆ หรือ

ภาพศิลปะงามๆ ประดับเมืองแม้บนตู้ชุมสายไฟริมถนนทำให้สบายตาสบายใจเหมือนดอกดวงพวงชมพูริมทางลบความกร้าวแกร่งแข็งกระด้าง กลายเป็น

ทางชมพูฉันใดก็ฉันนั้น