ก่อสร้างและที่ดิน / นาย ต./ปลดล็อก LTV กระตุ้นอสังหาฯ

ก่อสร้างและที่ดิน/นาย ต.

ปลดล็อก LTV กระตุ้นอสังหาฯ

 

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV หรือการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) มีสาระสำคัญคือ

ให้ปล่อยสินเชื่อได้ 100% เต็มมูลค่าหลักประกัน สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ และการ refinance

รวมทั้งสินเชื่ออื่น เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่มีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกัน หรือที่เรียกว่าสินเชื่อ Top-up ด้วย

ทั้งในกรณีสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 10 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

เดิมก่อนหน้านี้มาตรการ LTV จะกำหนดให้การซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังแรกกู้ได้ 100% แต่ถ้าซื้อหลังที่ 2 ต้องมีเงินดาวน์ 10% ถ้าผ่อนหลังแรกครบ 2 ปี หรือต้องดาวน์ 20% ถ้าผ่อนไม่ครบ 2 ปี และสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป เดิมหลังแรกต้องดาวน์ 10% หลังที่ 2 ดาวน์ 20% หลังที่ 3 ดาวน์ 30%

ประกาศผ่อนคลายล่าสุด เปิดให้กู้ได้ 100% ทั้งหมด

สาเหตุที่ต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV ครั้งนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศยังมีความเปราะบาง ซึ่งการผ่อนคลายนี้จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคิดเป็นกว่า 9.8% ของ GDP และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน

ธปท.คาดว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่อนคลายมาตรการนี้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อในที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือมีการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 7% ของมูลค่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราว 8 แสนล้านบาท

 

ผลกระทบด้านมาตรการนี้ ธปท.เชื่อว่า จะไม่ก่อให้เกิดหนี้ NPL เพิ่มขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะมาตรการมุ่งไปที่กลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะการเงินเข้มแข็งให้ออกมาใช้จ่ายซื้ออสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์มีความรัดกุมและพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ผู้กู้เป็นหลัก

และเชื่อว่าจะไม่มีผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนี้ ส่วนใหญ่มาจากหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่หนี้ที่อยู่อาศัย

จากหลักการเหตุผลที่ใช้ผ่อนคลายมาตรการ ทำให้สบายใจได้ว่า ฝ่ายนโยบายการเงินของประเทศเข้าใจภาวะเศรษฐกิจได้ถ่องแท้ เลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสม และหวังผลลัพธ์ที่จะตามมาชัดเจน ครบถ้วน

ก็ยังเหลือแต่ฝ่ายนโยบายการคลังที่อยู่ในมือรัฐบาลแหละว่า จะแสดงให้เห็นว่าเข้าใจภาวะเศรษฐกิจปากท้องคนไทยทั้งประเทศได้ไหม จะทำให้มั่นใจ สบายใจได้อย่างไร และเมื่อไหร่