มุมมุสลิม : จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

ทรัมป์กับมุสลิม (จบ)

กาตาร์มีประชากรราว 3 ล้านคน ทั้งนี้ มากกว่าสองล้านคนเป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากอนุทวีป

รัฐกษัตริย์ซึ่งร่ำรวยก๊าซนี้ประชาชนจะขึ้นอยู่กับอาหารนำเข้า ทั้งนี้ ดินแดนของกาตาร์ผนึกอยู่กับซาอุดีอาระเบียที่เป็นเพื่อนบ้านของตน ก่อนการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร อาหารเกือบทั้งหมดของกาตาร์รวมทั้งความจำเป็นพื้นฐานจะผ่านมาทางซาอุดีอาระเบียเป็นด้านหลัก

เวลานี้กาตาร์จึงจำเป็นต้องใช้อาหารที่มาทางอากาศจากตุรกีและอิหร่าน

รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี Singmar Garbriel ออกมาวิจารณ์บทบาทของทรัมป์ ในวิกฤตใหญ่ที่เกิดในอ่าว โดยกล่าวถึงการขยายตัวของการพิพาทว่าเป็นแนวคิดที่อันตรายของทรัมป์ที่มีต่อการเมืองในภูมิภาค

การทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แตกแยกกันเป็นอันตรายต่อภูมิภาคที่ร้าวฉานไปด้วยวิกฤตการณ์อยู่แล้ว เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ที่เยอรมนี

เยอรมนี ตุรกีและอิหร่านให้การสนับสนุนกาตาร์อย่างเปิดเผยจากความขัดแย้งที่มีกับซาอุดีอาระเบีย ทั้งเยอรมนีและตุรกีต่างก็เป็นสมาชิกของนาโต้

สหรัฐ อังกฤษ ซึ่งเป็นสองประเทศที่ให้อาวุธและเป็นผู้สนับสนุนซาอุดีอาระเบียก็เป็นพันธมิตรทางทหารของนาโต้เช่นกัน การเคลื่อนไหวทางทหารใดๆ ที่ต่อต้านกาตาร์อาจนำไปสู่อันตรายไม่เฉพาะต่อพันธมิตรแถบอ่าวเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งพันธมิตรทางทหารของตะวันตกอีกด้วย

ตุรกีนั้นมีฐานทัพเล็กๆ อยู่ในกาตาร์และพยายามที่จะเพิ่มจำนวนทหารในกาตาร์

 

อียิปต์โกรธเคืองกาตาร์เพราะกาตาร์ยังคงให้การสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิม และเครือข่ายอัล-ญะซีเราะฮ์ (แปลว่าคาบสมุทร) ด้วย อียิปต์ถือว่าอัล-ญะซีเราะฮ์เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ที่น่าแปลกใจก็คือประเทศมัลดีฟส์ (Mudives) ก็ยอมตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์และสนับสนุนซาอุดีอาระเบีย ซาอุดีอาระเบียได้ลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศที่รัฐบาลปัจจุบันนำเอาวาระว่าด้วยอิสลามมาใช้

ผู้วางนโยบายของอิสราเอลพอใจเป็นอย่างยิ่งกับพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอ่าว

เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและรัฐกษัตริย์แถบอ่าวเวลานี้ได้เริ่มทำงานไปตามแนวทางที่อิสราเอลอยากให้เป็น

ปัจจุบัน อิหร่าน ขบวนการฮามาสและกองกำลังฮิสบุลลอฮ์จึงเป็นศัตรูพื้นฐานของซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลไปพร้อมๆ กัน

 

หลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงเตหะรานในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน (2017) ทางทำเนียบขาวมิได้ส่งสารใดๆ โดยตรงเพื่อแสดงความเสียใจต่อประชาชนชาวอิหร่าน แต่แถลงการณ์ของสหรัฐก็ยังวนเวียนอยู่กับการกล่าวอ้างถึงการกระทำที่เป็นการก่อการร้ายของอิหร่าน

“รัฐทั้งหลายที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายย่อมเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของผู้กระทำการก่อการร้ายเสียเอง” ใจความจากแถลงการณ์ยังกล่าวต่อไปว่าการโจมตีนี้เป็นการโจมตีในรูปแบบแรกๆ ในเมืองหลวงของอิหร่านนับจากทศวรรษ 1980

ญาวาด ซารีฟ (Javad Zarif) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านเรียกแถลงการณ์จากทำเนียบขาวว่าเป็น “ความน่ารังเกียจ” ดาอิชห์หรือไอเอสเป็นผู้อ้างความรับผิดชอบจากการโจมตีครั้งนี้

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของอิหร่านออกมาชี้ว่าการโจมตีเกิดขึ้นหลังจากทรัมป์มาเยือนซาอุดีอาระเบีย

 

ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของอมีร (เจ้าผู้ครองนคร) แห่งกาตาร์ย้ำว่า “นโยบายการครอบครองและควบคุม” จากประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ประสบความสำเร็จ การแตกแยกของสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC) แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีสัญญาณใดที่จะกลับมาเหมือนเดิมในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรของตนได้นำเสนอ “รายชื่อของผู้ก่อการร้าย” 56 คนออกมา

รายชื่อที่มีอยู่มีตั้งแต่ผู้อาวุโสในครอบครัวกษัตริย์ของกาตาร์ อดีตรัฐมนตรีพร้อมๆ ไปกับบรรดาผู้นำ ผู้ลี้ภัยและนักการศาสนาที่มีความเห็นใจองค์การอย่างกองกำลังฮามาสและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

จนถึงเวลานี้ผู้คนอาหรับตามท้องถนนมิได้มีความเห็นใจต่อพวกผู้นำของพวกเขาที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอยู่ในวิกฤตล่าสุดแถบอ่าวมากนัก ความจริงผู้เล่นหลักที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับภูมิภาคตะวันออกกลางต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบสำหรับสถานการณ์ด้านมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดทั้งในซีเรีย อิรักและเยเมน

การทิ้งระเบิดของซาอุดีอาระเบียและการปิดล้อมเยเมนนำไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

 

Robert Fisk นักเขียนคนสำคัญของตะวันตกได้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม ว่า การพูดของทรัมป์ในซาอุดีอาระเบียล้วนเต็มไปด้วยความเสแสร้งและการวางตัวเหนือคนอื่นๆ

แม้จะอ้างว่าเขาไม่ได้มาสอน แต่ก็มาสอนสั่งอยู่ดีด้วยการมีอคติและการต่อต้านอิหร่านอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยความตั้งใจที่จะเอาอกเอาใจประเทศที่เขาเพิ่งจะลงนามข้อตกลงซื้ออาวุธนับหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

การพูดของประธานาธิบดีนั้นมุ่งแต่จะเอาอกเอาใจผู้ฟังที่เขามุ่งหวังเอาไว้ ดังนั้น หลังจากสร้างข่าวเท็จ “แล้วประธานาธิบดีที่บ้าระห่ำก็ได้ออกมาพูดเท็จกับชาวมุสลิมในวันอาทิตย์” โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าเขาไม่ได้มาซาอุดีอาระเบียเพื่อจะมาสอน “แต่ก็บอกกับนักสอนศาสนาของโลกอิสลามด้วยการประณามการก่อการร้ายอิสลาม” ราวกับว่าความรุนแรงในโลกนี้เป็นปรากฏการณ์ของชาวมุสลิมเท่านั้น จากนั้นก็ทำตัวราวกับเป็นศาสดาแห่งพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ว่าตัวเขากำลังอยู่ใน “การต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว”

ไม่มีคำพูดใดที่แสดงถึงความรัก ความเมตตาให้เห็น

ไม่มีถ้อยคำใดที่ขออภัยสำหรับการเหยียดชาติ และการพูดต่อต้านชาวมุสลิมเมื่อปีที่ผ่านมาให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ เขาประณามอิหร่านมากกว่าไอเอสว่าเป็นผู้เติมเชื้อเพลิงความรุนแรงทางสำนักคิด

พูดถึงประชาชนอิหร่านว่าอยู่ในความ “สิ้นหวัง” ทั้งๆ ที่อิหร่านเพิ่งจะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีที่ทำให้นักปฏิรูปมาเป็นประธานาธิบดีของพวกเขา

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้โดดเดี่ยวประเทศชีอะฮ์ใหญ่ๆ ในตะวันออกกลาง

สำหรับทรัมป์ รัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบใน “ความไม่มีเสถียรภาพอย่างมาก” คืออิหร่าน ชีอะฮ์ฮิสบุลลอฮ์ถูกประณามเช่นเดียวกับชีอะฮ์เยเมน

ด้วยเหตุนี้เจ้าภาพอย่างซาอุดีซุนนีจึงรู้สึกอบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากวิทยปัญญาดังกล่าว

 

แม้ทรัมป์จะกล่าวว่า “ทุกๆ ครั้งผู้ก่อการร้ายสังหารผู้บริสุทธิ์ และปลุกเร้าอย่างผิดพลาดด้วยพระนามของพระเจ้า อันเป็นการเยาะหยันต่อทุกๆ คนที่มีศาสนา แต่เขาก็ละเลยจากความจริงที่ว่า มิใช่อิหร่านแต่เป็นซาอุดีอาระเบียต่างหากที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนที่บริสุทธิ์อยู่ในเยเมนในเวลานี้

เขาพยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำวิพากษ์อิสลาม เมื่อเขาเดินทางไปซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คำที่ติดปากเขามากที่สุดคืออิสลามสุดโต่ง

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข้อตกลงขายอาวุธกับซาอุดีอาระเบีย 110 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 84 พันล้านปอนด์ รวมทั้งข้อเสนอที่กาตาร์จะซื้ออาวุธจากสหรัฐที่ทรัมป์เรียกมันว่า “ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่งดงามจำนวนมาก”

ในขณะที่พระสันตะปาปากับผู้นำมุสลิมแห่งมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรแห่งอียิปต์ที่เก่าแก่ของโลกได้ร่วมกันออกมาต่อต้านความชั่วร้ายของพวกพ่อค้าขายอาวุธ

 

“เรายอมรับหลักการสัจนิยมที่หยั่งรากเป็นค่านิยมร่วม และผลประโยชน์ร่วมกัน “ทรัมป์บอกกับซาอุดีอาระเบียและบรรดาผู้นำชาติมุสลิม 50 ประเทศที่มาร่วมกันรับฟังคำพูดของเขา มีผู้ตั้งคำถามว่าค่านิยมร่วมนี้คืออะไรในเมื่อประเทศอาหรับบางประเทศยังคงวนเวียนอยู่กับความไม่เป็นประชาธิปไตย ความเป็นเผด็จการ การค้าอาวุธและน้ำมัน

และเมื่อทรัมป์พูดว่า “มิตรของเราจะไม่ตั้งคำถามถึงการสนับสนุนของเราและศัตรูของเราจะไม่สงสัยถึงความมุ่งมั่นของเรา” ในเรื่องนี้มีผู้ตั้งคำถามว่ามิตรของเรานั้นเป็นซาอุดีอาระเบียหรือว่า “โลกอิสลาม” กันแน่

ซึ่งถ้าหากเป็นโลกอิสลามก็จะต้องรวมถึงอิหร่าน ซีเรียและเยเมนและนักรบติดอาวุธที่กำลังทำสงครามกันอยู่ในเวลานี้?

และสำหรับ “ศัตรู” แล้วทรัมป์หมายถึงซีเรีย เยเมน หรือว่าอิหร่าน ที่ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาอีกครั้งต้องการมีสันติกับสหรัฐ หรือว่าทรัมป์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโลกมุสลิมด้วยการประกาศความเป็นมิตรกับซุนนีมุสลิมและประกาศความเป็นศัตรูกับชีอะฮ์มุสลิม

เมื่อทรัมป์กล่าวว่าเราจะค่อยๆ แสวงหาการปฏิรูป มิใช่การเข้าแทรกแซงโดยทันทีก็ย่อมจะแสดงให้เห็นว่าสหรัฐจะไม่ทำอะไรในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือหาหนทางป้องกันอาชญากรรมที่ต่อต้านมนุษยชาติ ยกเว้นว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทำโดยอิหร่าน ซีเรีย อิรัก ชีอะฮ์ เลบานอน ฮิสบุลลอฮ์หรือเฮาษีชีอะฮ์ในเยเมน

การพูดของทรัมป์ ส่วนหนึ่งเป็นงานของคนที่มีความย้อนแย้ง เขาพูดถึงสันติภาพแต่เตรียมการให้ชาวอาหรับเข้าสู่สงครามซุนนี-ชีอะฮ์ ผู้นำของโลกมุสลิมบางประเทศปรบมือให้เมื่อเขาพูดจบ แต่ไม่รู้ว่าพวกเขาเข้าใจในสิ่งที่ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นหรือไม่?

เขาพยายามจะเปลี่ยนโฉมหน้าที่แท้จริงของเขาโดยสวมหน้ากากของประธานาธิบดีสายกลางผู้ให้ความระมัดระวังต่ออิสลามและชาวมุสลิม อับดุลลฮ์ ยะอ์ฟัด นักศึกษาวัย 22 ปี ชาวอิรักให้ข้อสังเกต ดังนั้น อะไรที่ทรัมป์กล่าวออกมาในการประชุมสุดยอดจึงเป็นแค่เพียงคำพูด

ทรัมป์กล่าวว่าเราให้การต้อนรับและให้การยอมรับว่าอิสลามเป็นหนึ่งในศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่การยอมรับดังกล่าวก็ไม่อาจลบล้างหลักฐานที่มีมายาวนานนับปีที่เขาแสดงความเกลียดชังด้วยการต่อต้านอิสลามมาโดยตลอด ผู้อำนวยการ Council of American – Islamic National นิฮาด อะวาด (Nihad Awad) กล่าว พร้อมกับกล่าวเสริมว่า

“ประธานาธิบดีควรจะให้การยอมรับคุณูปการที่ชาวอเมริกันมุสลิมได้กระทำมายาวนานนับชั่วอายุคนเพื่อการพัฒนาชาติของเรา”