เบื้องลึก เบื้องหลัง | ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ โฉมใหม่ หมอชลน่าน นั่งหัวหน้า หมอเลี้ยบ ผอ.พรรค เซอร์ไพรส์ เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’

บทความในประเทศ

 

‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ โฉมใหม่

หมอชลน่าน นั่งหัวหน้า

หมอเลี้ยบ ผอ.พรรค

เซอร์ไพรส์ เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’

 

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 พรรคเพื่อไทย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น วันที่ 28 ตุลาคม

เสมือนเป็นสัญญาณเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ตามที่หลายคนคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วต้นปีหน้า หรืออย่างช้าหลังผ่านเดือนกรกฎาคมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคเพื่อไทย รวมถึงทุกพรรคการเมือง อาจแตกต่างไปจากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

เป็นความแตกต่างอันมาจากกฎกติกาที่ปรับเปลี่ยนไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การรื้อระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม หวนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน รวมถึงการคำนวณสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคให้ใช้วิธีเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540

สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว นั่นทำให้การตั้งพรรคสาขาตามยุทธศาสตร์แตกแบงก์พัน ซึ่งเป็นที่มาของพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป กลับคืนสภาพเป็นพรรคเพื่อไทยหนึ่งเดียว

“ยืนยันว่ามีพรรคเดียว ไม่มีแตกแบงก์ร้อยแบงก์พัน ส่งผู้สมัครพรรคเดียว 400 เขต กับ 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีสาขาใดๆ ทั้งสิ้น” นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกล่าว

เมื่อสัญญาณเลือกตั้งใหม่ดังใกล้เข้ามา พรรคเพื่อไทยจึงต้องขยับปรับทัพปรับโฉม

เริ่มตั้งแต่โลโก้พรรค ปรับมาใช้พื้นสีแดงสด ตัวอักษรสีขาว ต่างจากของเดิมที่เป็นสีน้ำเงิน มีลายธงชาติอยู่ที่ตัวอักษร พ.พาน และ ท.ทหาร เป็นการปรับลุคใหม่ให้ดูโดดเด่นและแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น

“สีแดงเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ตอกย้ำว่าพรรคเพื่อไทยมีสีเดียวไม่มีสีอื่นเจือปน สีแดงเป็นการแสดงออกเพื่อให้ทุกคนมีพลังและกระตือรือร้นกับความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงเพื่อสร้างพลังให้ทุกคนในการเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง” น.ส.จิราพร สินธุไพร รองโฆษกพรรคระบุ

โลโก้ใหม่ยังมาพร้อมกับแคมเปญ “พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” ความหมายสำคัญและจุดยืน เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทวงคืนคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวันนี้ กลับคืนสู่คนไทยทุกคน

โฉมใหม่พรรคเพื่อไทยยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนขบวนทัพอย่างหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ด้วยการดึงคนรุ่นใหม่เจนใหม่ เข้ามาผสมผสานร่วมขับเคลื่อนพรรค เนื่องจากการเมืองปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่าเจนเอ็กซ์ เจนวาย ถือเป็นอีกจุดขายและแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสู้ศึกเลือกตั้ง

ภายใต้แรงสนับสนุนและการประคับประคองจากรุ่นเก๋า แต่ไม่เก่า อย่างกลุ่มแคร์ (CARE) ที่เข้ามามีส่วนร่วมปรับโฉมพรรค ไม่ว่านายภูมิธรรม เวชยชัย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่สังคมคอการเมืองจับจ้องมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

“พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน”

ต้องการสื่อถึงความหวังในการนำมาสู่ชีวิตใหม่คนไทย หลังเผชิญกับปัญหารุมเร้ามาตลอด 7 ปีกว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เป็นคำมั่นสัญญาจากพรรคเพื่อไทยในการสร้างชีวิต ความฝัน ความหวัง ศักดิ์ศรีของประชาชนคืนกลับมา

นอกจากนี้ ข้อความ “พรุ่งนี้เพื่อไทย” ยังเขียนด้วยตัวหนังสือลายมือของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ในวันประชุมใหญ่ 28 ตุลาคม พรรคเปิดโอกาสให้บรรดา ส.ส. สมาชิกพรรคและบุคลากรมากความสามารถแสดงวิสัยทัศน์ร่วมปลุกความหวังคืนความฝัน พร้อมการแสดงสุดพิเศษจาก ส.ส.และสมาชิกพรรค ที่เป็นการดิสรัปต์การประชุมใหญ่พรรคการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มีการจัดวงเสวนาแสดงความเห็นจากคนรุ่นใหม่และ ส.ส.เจนเอ็กซ์ เจนวาย

พร้อม “เซอร์ไพรส์” ด้วยการปรากฏตัวของสมาชิกพรรคคนสำคัญ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก

เพื่อเป็นกำลังใจให้พรรคและคนรุ่นใหม่ในการร่วมสร้างพรุ่งนี้เพื่อไทย

การปรากฏตัวของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร น่าจับตาถึงเส้นทางการเมืองในอนาคต

ท่ามกลางกระแสข่าวแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยที่ยังเป็นปริศนา ก่อให้เกิดการคาดเดาชนิดเหวี่ยงแห

ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

มาจนถึงคนในครอบครัวชินวัตร เริ่มจาก “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร, “บิ๊กอ๊อบ” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงอ้อ, นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี “เอม” พินทองทา ลูกสาวคนโตของทักษิณ

รวมถึงลูกสาวคนเล็ก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร

“พรรคเพื่อไทยมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เราอยากรอเปิดเผยในช่วงใกล้วันเลือกตั้งทีเดียว รับรองว่าเป็นคนหน้าใหม่ ถูกใจทั้งคนในพรรคและถูกใจประชาชนแน่นอน” นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคกล่าว

แม้รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะยังเป็นปริศนาให้วิเคราะห์คาดเดากันต่อไป

ตรงนี้ทำให้บรรยากาศคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งกรกฎาคม 2554 ที่มีการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีล่วงหน้าการเลือกตั้งแค่ 49 วัน ก่อนลงเอยด้วยชัยชนะท่วมท้นของพรรคเพื่อไทย

 

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนโฉมพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรูปธรรมมากที่สุดในครั้งนี้

คือการผลักดัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่แทนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ซึ่งทำหน้าที่มา 2 สมัย

พร้อมตั้ง “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (ผอ.) พรรค แทนนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ยังมีการปรับเปลี่ยนรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคบางส่วน

พร้อมกับเปิดโอกาสให้ ส.ส.คนรุ่นใหม่ในพรรคก้าวขึ้นมามีบทบาทร่วมกำหนดทิศทางการเมืองของพรรค

เป็นการเขย่าโครงสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันของสมาชิกพรรคทุกภาค โดยดึงสมาชิกจากพื้นที่ภาคต่างๆ มาเป็นกรรมการบริหารพรรค

ถึงกระนั้นการปรับโครงสร้างพรรคครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปในลักษณะเทหมดหน้าตัก โดยยังกัน ส.ส.คนรุ่นใหม่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นกับพรรคแบบไม่คาดฝัน

 

กล่าวกันว่าการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย ล้วนผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยทีมคนรุ่นเก๋า ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ ไม่ว่าจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

นั่นทำให้ก้าวต่อไปของพรรคเพื่อไทยโฉมใหม่หลังจากนี้ น่าจับตา

เมื่อเร็วๆ นี้ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า หากลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.33 ระบุจะเลือกพรรคเพื่อไทย

รองลงมาร้อยละ 37.12 ระบุยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.35 จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทย

สอดรับผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อ 26 กันยายน ที่ถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน พบว่า ร้อยละ 22.50 สนับสนุนพรรคเพื่อไทย รองลงมาร้อยละ 15.11 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 9.51 ระบุ พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 7.78 เป็นพรรคประชาธิปัตย์

แต่ที่น่าสนใจมากกว่า คือผลสำรวจอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อคำถามที่ว่า “ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.วันนี้ มีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใด” พบว่า อันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 34.7

รองลงมาพรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.7 ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 14.9 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 12.4 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 10.8 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.8 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.1 และอื่นๆ ร้อยละ 0.6

แม้หลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านพยายามตีตลาด เจาะฐานที่นั่ง ส.ส.ภาคอีสาน อันเป็นชัยชนะระดับแชมป์ต่อเนื่องหลายสมัยมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาเป็นเพื่อไทย ประกอบกับผลโพลที่ออกมาในทิศทางเดียวกัน

ความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยต่อศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเต็มล้นอย่างยิ่ง

 

จากนี้ไปภายใต้การนำทัพของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคคนใหม่ การตั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น ผอ.พรรค รวมถึงการเปิดโอกาสให้ ส.ส.เจนเอ็กซ์-เจนวาย และคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมขับเคลื่อน การปรากฏตัวในพรรคของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร

รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังเป็นปริศนา “หมัดเด็ด” ท่ามกลางการรอคอย

พรุ่งนี้เพื่อไทย ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า จึงน่าตื่นเต้นเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง