สามัญชน คนหนุ่มสาวหลัง 2475 กับการพิทักษ์ประชาธิปไตย/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สามัญชน คนหนุ่มสาวหลัง 2475 กับการพิทักษ์ประชาธิปไตย

 

“ฉันคงไม่ได้มีชีวิตเห็นหน้าลูกเสียแล้ว ยอดรัก แต่-ฤดีจ๋า ลูกของเราจะเปนหญิงหรือชายก็ตาม ขอเธอจงพร่ำสอนให้เขาเข้าใจซึมซาบว่า พ่อของเขาได้ตายไปในโอกาสที่ทำการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และถ้าเขาได้ประสบโอกาสเช่นพ่อของเขาแล้ว ฉันขอฝากคำขอร้องไว้ว่า ให้เขารีบฉวยโอกาสนั้นในทันที”

(ศรีบูรพา 2476)

 

เมื่อชาวพระนครทราบการยกทัพมาประชิดพระนครของกองทัพกบฏบวรเดชในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2476 แล้ว ปรากฏว่าพลเมืองของระบอบใหม่มาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก พวกเขามีความประสงค์เข้าร่วมพิทักษ์ระบอบใหม่ ด้วยการเป็นอาสาสมัครปราบกบฏทำหน้าที่รบพุ่งปราบปรามจลาจลเพื่อรักษารัฐธรรมนูญและความสงบแห่งชาติ

ผู้คนที่หวงแหนระบอบประชาธิปไตยมีความคิดอย่างไร อันนี้ได้จาก นายประเสริฐผล ชาวพระนคร เสนอความเห็นให้รัฐบาลปราบปรามพวกกบฏ ความว่า

“ปราบปรามอ้ายพวกกบฏอ้ายพวกขายชาตินี้เรียบร้อยแล้ว… ไม่ควรถือหลักที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรอีกครับ เพราะเหตุว่า ใต้เท้ากรุณาใช้หลักนี้เอง อ้ายพวกกบฏจึงฮึกเหิมและรัฐธรรมนูญของชาติเราจึงได้ล่อแหลมต่อภัยอันตรายยิ่งนัก”

นอกจากนี้ ในรายงานเหตุการณ์บางฉบับเล่าสภาพการณ์อารมณ์แห่งยุคสมัยว่า ชาวสุพรรณบุรีมีความรู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับการก่อกบฏ ดังที่ขุนสมพลประศาสน์ นายอำเภอสองพี่น้องรายงานว่า เมื่อชาวสุพรรณบุรีเห็นภาพร่างที่ไร้ชีวิตของนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามในภาพข่าวหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ชาวบ้านเหล่านั้น มีความเคืองแค้นและ “เอามือตบต่อย และเขกรูปภาพ”

และกล่าวว่า “พวกนี้ทำให้พวกกูลำบาก ตายเสียก็ดีแล้ว”

พลเมืองมาชุมนุมต้อนรับทหารฝ่ายรัฐบาลภายหลังปราบกบฏสำเร็จที่หัวลำโพง

เหนือไปกว่าความโกรธของชาวบ้านที่มีต่อการกบฏในขณะนั้น พบว่า ข้าราชการคนหนึ่งที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชตั้งข้อสังเกตปัญหาในระดับอุดมการณ์ตกค้างจากระบอบเก่าในความคิดของข้าราชการขณะนั้นว่า ข้าราชการจำนวนมากในภาคใต้มีความเพิกเฉยต่อประกาศคำสั่งของรัฐบาลในช่วงที่เกิดวิกฤต โดยข้าราชการไม่แจ้งให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง และมิได้ห้ามปรามข้าราชการมิให้เข้าข้างพวกกบฏแต่อย่างใด

รายงานวิเคราะห์ว่า ข้าราชการในภาคใต้จำนวนมาก “ฝังหัวอยู่กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ทำให้ข้าราชการในภาคใต้ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเดือดแค้นมาก แต่ก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้

ดังนั้น เขาจึงเสนอแนะรัฐบาลว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงคำว่า “ข้าราชการ” เสียใหม่ให้เป็น “ข้ารัฐบาล” และสมควรจัดระบบการบริหารในต่างจังหวัดใหม่เพื่อป้องกันปัญหาและส่งเสริมให้ข้าราชการสนับสนุนประชาธิปไตยแทนจะดีกว่า

สำหรับนายแพทย์หวล ชื่นจิตร์ หมอคนหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เป็นอาสามัคร ได้รายงานสถานการณ์ในแถบจังหวัดสมุทรสาครในช่วงเกิดกบฏว่า ประชาชนและข้าราชการในจังหวัดเชื่อว่าเหตุการณ์นี้คือความขัดแย้งกันระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า กลุ่มหลังไม่เห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหมู่ข้าราชการที่สนับสนุนรัฐบาลมีความสงสัยถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างกบฏกับพวกอำนาจเก่า อีกทั้งข้าราชการที่สมุทรสาครวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระยาสุรพันธเสนี ข้าราชการใหญ่ในมณฑลราชบุรี ผู้เป็นคนโปรด เหตุใดจึงไปเข้ากับพวกกบฏ

รวมถึงข้อเสนอแนะจากนายสมบุญ ปาละกุล ผู้แทนตำบลบางอ้อ อำเภอบางพลัด ธนบุรี เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรผู้รักรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ 2476 ขึ้น

และเกิดการจัดตั้งสมาคมรัฐธรรมนูญขึ้นทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคม 2476 ให้ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน รวมทั้งการร่วมพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วย

สําหรับคณะนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเข้าช่วยเหลืองานตำรวจในกิจการปราบกบฏบวรเดชหลายด้าน เช่น การสืบสวนตัวพวกกบฏ ทั้งนี้ คณะนักเรียนกฎหมายราว 400 คนเหล่านี้ เคยมีบทบาทต่อต้านความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นภายหลังสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจนนำไปสู่การรัฐประหารยุติรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2476 มาแล้ว ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลพระยาพหลฯ ไต่สวนลงโทษพระยามโนฯ ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญการปกครอง

พวกเขาแสดงพลังด้วยการเดินขบวนตามถนนราชดำเนินไปยังปารุสกวันเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวต่อพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาชื่อ นายเซ่งตัน เจริญสุข เป็นผู้ยื่นหนังสือประณามคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และขอให้รัฐบาลใหม่ลงโทษด้วย เพราะการกระทำของพระยามโนปกรณ์ฯ ถือเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ

ข้อความในหนังสือประท้วงของคณะนักเรียนกฎหมายตอนหนึ่งระบุว่า “เมื่อใดมีการละเมิดรัฐธรรมนูญขึ้น และในเมื่อสภาพและโอกาสเปิดช่องว่างให้เราทำได้แล้ว เมื่อนั้นเราจะไม่ยอมละเว้นเป็นอันขาด เราจึงต้องยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องตามหน้าที่พลเมืองที่จงรักภักดีต่อชาติ ไม่เลือกหรือเห็นแก่หน้าบุคคล และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคณะใดๆ ทั้งสิ้น” (ศิลปวัฒนธรรม 2 มิถุนายน 2564)

เมื่อพระยาพหลฯ รับหนังสือแล้วตอบแก่นักศึกษาเหล่านั้นว่า ไม่ต้องการอาฆาตกันต่อไป จึงได้ทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยให้นักศึกษาเลิกแล้วต่อกัน และต่อมาเมื่อเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นักเรียนกฎหมายได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดชอีก

เมื่อเหตุการณ์จบสิ้นลงแล้ว พวกเขายังได้พิมพ์เอกสาร “เผยแพร่รัฐธรรมนูญ” ออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เดือนธันวาคมปี 2476 เพื่อยืนยันถึงการพิทักษ์ประชาธิปไตยเอาไว้ได้อีกด้วย

ดังที่นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกถึงพวกเขาในคราวจัดร้านฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นไว้ในคำนำว่า

“ร้านคณะกฎหมายนี้ได้สำเร็จขึ้นในประการแรก ด้วยน้ำมือของบรรดาคณะนักเรียนกฎหมายโดยแท้ ผู้ที่ได้ผ่านไปมา ณ ที่นั้น ก่อนหน้างานนี้สัก 2-3 วัน คงจะได้เห็นกรรมกรหนุ่มๆ หมู่หนึ่งขะมักเขม้นในการขุดดินลงหลักปักเสาตกแต่งประดับประดาร้านร้านหนึ่งด้วยอาการกิริยาร่าเริงและขยันขันแข็ง พวกกรรมกรหนุ่มเหล่านี้หาใช่ใครที่ไหนไม่ คือนักเรียนกฎหมายซึ่งมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากนั่นเอง ทั้งเป็นเครื่องแสดงเห็นว่า แม้นักเรียนกฎหมายจะได้ใฝ่ในวิชานิติศาสตร์เพียงใด เขาก็มิได้ลืมสภาพของมนุษย์ เขามิได้นั่งชี้นิ้วบัญชางาน แต่หากลงมือกระทำด้วยตนเอง…ข้าพเจ้ามั่นใจหนักหนาว่า นักเรียนหนุ่มๆ เหล่านี้ จักเป็นกำลังอันสำคัญส่วนหนึ่งในอันจะนำความก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติต่อไป…”

(หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 2476)

นักเรียนหญิงจากโรงเรียนนารีนุกูล อุบลราชธานี ช่วยปราบกบฏบวรเดชเมื่อ 88 ปีที่แล้ว

ความประทับใจในความตื่นตัวของพลเมืองในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” เขียนเรื่องสั้นที่สะท้อนสำนึกของพลเมืองเรื่อง ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476)

ซึ่งสมศักดิ์ ตัวละครเอกที่เข้าร่วมปราบกบฏบวรเดชได้กล่าวในวาระสุดท้ายของชีวิตกับภริยาว่า

“ฉันคงไม่ได้มีชีวิตเห็นหน้าลูกเสียแล้ว ยอดรัก แต่-ฤดีจ๋า ลูกของเราจะเปนหญิงหรือชายก็ตาม ขอเธอจงพร่ำสอนให้เขาเข้าใจซึมซาบว่า พ่อของเขาได้ตายไปในโอกาสที่ทำการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และถ้าเขาได้ประสบโอกาสเช่นพ่อของเขาแล้ว ฉันขอฝากคำขอร้องไว้ว่า ให้เขารีบฉวยโอกาสนั้นในทันที” (ศรีบูรพา 2476)

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และประติมากรรมนูนต่ำ รูปสามัญชนกับครอบครัวที่ฐานอนุสาวรีย์
นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และหนังสือเผยแพร่รัฐธรรมนูญ 2476