อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (13)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (13)

 

ฏอลิบาน VS – IS-K

ที่ผ่านมา IS-K และฏอลิบานต้องมาหลั่งเลือดเข้าใส่กันมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม หน่วยข่าวต่างๆ ได้อ้างแหล่งข่าวทางทหารด้วยการกล่าวว่าฏอลิบานได้ติดตามและสังหารกลุ่ม IS ที่จุดตรวจรอบๆ สนามบินไปแล้วหลายคน

ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลความปลอดภัยของฏอลิบานก็ถูกสังหารด้วยระเบิดเช่นกัน สองกลุ่มข้างต้นต้องแยกตัวออกจากกันอันเนื่องมาจากอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย

กล่าวกันว่า IS นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากขบวนการสะลาฟี (Safafi) ของอิสลามที่มีจุดกำเนิดอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่ฏอลิบานนั้นยึดโยงอยู่กับสำนักคิดเดียวบัน (Deobandi) แห่งอินเดีย

ซึ่งในความเป็นจริงทั้งสองสำนักคิดไม่ได้มีคำสอนใดที่นำไปสู่ความสุดโต่ง หรือความรุนแรง หากแต่เป็นคำสอนที่ให้ยึดมั่นอยู่กับแนวทางสันติของอิสลามเป็นด้านหลัก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาไอเอสใช้การตีความที่มีความเข้มข้นและสุดโต่ง ทั้งๆ ที่เนื้อหาโดยทั่วไปยังอยู่กับสำนักคิดที่พวกเขาชื่นชอบก็ตาม

ในขณะที่ฏอลิบานพอใจอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ นั่นคือการมีรัฐบาลที่ปกครองโดยผู้นำ (Amir หรือ Emir) ที่ยึดหลักกฎหมายอิสลาม (Shari’ah) ในพื้นดินของอัฟกานิสถานเหมือนๆ กับอีกหลายประเทศในโลกมุสลิม

กลุ่มไอเอส (ISIS ISIL IS) เป็นกลุ่มก้อนที่ใช้ความรุนแรงซึ่งปรากฏตัวอยู่ทั้งในอัฟกานีสถานและปากีสถานเป็นกลุ่มก้อนที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้เพื่อสร้างรัฐที่ปกครองโดยกาหลิป (caliph) หรือเคาะลีฟะฮ์ อันเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางจิตวิญญาณ โดยหวังให้ระบบดังกล่าวขยายตัวไปจนทั่วเอเชียใต้และเอเชียกลางพร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องให้ลุกขึ้นสู้กับผู้ที่มิใช่มุสลิม (Non Muslim) ในเวลาเดียวกัน

เมื่อย้อนกลับมาดูความขัดแย้งด้านการตีความชาริอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม IS-K มองว่าฏอลิบานยังไม่มีความเข้มงวดพอที่จะต่อกรกับตะวันตกผู้รุกราน

นักต่อสู้ไอเอส-เค เวลานี้เรียกฏอลิบานว่าผู้ละทิ้งความเชื่อ (apostates) และเป็นมุสลิมที่ไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เนื่องจากมีความเต็มใจที่จะตกลงเพื่อมีสันติภาพกับสหรัฐ ผู้รุกรานและปล้นชิงประเทศมุสลิมด้วยการทำเช่นนั้นพวกเขาได้ทรยศต่อจุดหมายของการต่อสู้ไปเสียแล้ว

ที่ผ่านมากลุ่มนักรบนิยมแนวทางอิสลามหลายกลุ่มได้แสดงความยินดี เมื่อฏอลิบานเดินทางเข้าสู่กรุงคาบูลยกเว้นไอเอสและ IS-K

แทนที่จะร่วมยินดีกับฏอลิบานกลุ่ม IS-K ได้ออกมาป่าวประกาศว่าพวกเขาจะต่อต้านฏอลิบานต่อไป

จากรายงานของสหประชาชาติ IS-K มีนักต่อสู้ของตนอยู่ระหว่าง 500-1,500 คน และมีความเข้มแข็งอยู่ด้านในและรอบๆ ตัวเมืองหลวงอันเป็นพื้นที่ที่ปฏิบัติการของพวกเขาถูกนำมาใช้

กลุ่ม IS-K เกณฑ์นักสู้ที่มาจากฝ่ายฏอลิบานที่ไม่พอใจการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพกับสหรัฐ นอกจากนี้ IS-K ยังรอให้นักสู้ที่มาจากซีเรีย อิรักและบริเวณที่มีความขัดแย้งอื่นๆ เข้ามาอยู่ร่วมกับกองกำลังของพวกเขาด้วย

ต่อมาในเดือนมิถุนายน (2021) มีรายงานว่าสหประชาชาติได้มีการสำรวจจำนวนสมาชิกของ IS-K อีกครั้ง ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีนักรบต่างชาติอยู่ในอัฟกานิสถานอยู่ราว 8,000-10,000 คน

 

รายงานการเข้าโจมตีของ IS-K

ล่าสุด IS-K จะหมกมุ่นอยู่กับการก่อความรุนแรง ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีภารกิจการช่วยเหลือชาวอัฟกานิสถานของสหประชาชาติ (UNAMA) ได้นับเนื่องการโจมตีของ IS-K พบว่าเฉพาะในรอบสี่เดือนแรกของปี 2021 IS-K ปฏิบัติการโจมตีถึง 3 ครั้ง ซึ่งเท่ากับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปลายปีที่แล้ว

เช่น การโจมตีด้วยรถยนต์ในโรงเรียนประถมที่นักเรียนซึ่งถือสำนักคิดชีอะฮ์กำลังเรียนอยู่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 85 คนและบาดเจ็บมากกว่า 300 คน

หนึ่งเดือนต่อมากลุ่ม IS-K ได้ซุ่มโจมตีและสังหารผู้ที่ทำงานร่วมกัน NGO ที่ต่อต้านกับระเบิดในจังหวัดบักลัน (Baghlan) ที่อยู่ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน

CEO ของกลุ่ม NGO ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว BBC ว่าฏอลิบานได้ขับไล่ผู้โจมตีออกไป ซึ่งเท่ากับเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายขึ้นมา

IS-K ได้จับอาวุธขึ้นมาต่อต้านฏอลิบานในปี 2017 เมื่อพวกเขาขับฏอลิบานออกไปจากบริเวณหุบเขาโตรา-โบรา

ระบบการใช้ถ้ำที่อยู่ลึกลงไปของภูเขาโตราโบรานี้เป็นวิธีการที่ผู้นำอัล-กออิดะฮ์ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ได้ใช้ลี้ภัยจากการตอบโต้ของสหรัฐ อันเนื่องมาจากการโจมตีสหรัฐในเหตุการณ์วันที่ 11 เดือนกันยายน 2001

IS-K เริ่มปรากฏตัวขึ้นมาในปากีสถานในฐานะกลุ่มนักเรียนที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของตารีกีฏอลิบาน ปากีสถาน (Tahrek-i-Taliban Pakistan)

ด้วยความหวาดหวั่นการไล่ล่าในประเทศของตนเอง พวกเขาได้หนีข้ามชายแดนมายังอัฟกานิสถานและยอมรับการนำของกลุ่มไอเอสและผู้นำไอเอสอย่างบัฆดาดี (Baghdadi) ในปี 2014 ต่อมาบัฆดาดีถูกลอบสังหารโดยสหรัฐ

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2015 ไอเอสได้ให้การต้อนรับ IS-K และประกาศการขยายตัวเข้าสู่เอเชียกลาง ไอเอสขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในอิรักและซีเรียและมีความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนบุคคลที่สนับสนุนกลุ่มก้อนที่ขยายตัวมาจากอัฟกานิสถาน

ผู้นำไอเอสในซีเรียและอิรักซึ่งหลบลงใต้ดิน ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับ IS-K ไว้อย่างเหนียวแน่น

 

บังกลาเทศกับฏอลิบาน

อาลี ริแอซ (Ali Riaz) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สเตต กล่าวว่า บังกลาเทศไม่จำเป็นต้องกังวลมากไปกว่าประเทศเอเชียใต้อื่นๆ อันเนื่องมาจากพัฒนาการใหม่ในอัฟกานิสถาน

“ผลที่เกิดในภูมิภาคอันเนื่องมาจากการปกครองของฏอลิบานจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพวกเขา และดูว่าพวกเขาจะทำตามสัญญาของพวกเขาที่ว่าจะไม่ยอมให้องค์กรก่อการร้ายใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานของพวกเขาได้หรือไม่?” ริแอซกล่าว