ลุงสีเลี้ยวซ้าย : 2) พวกลัทธิเหมาใหม่กับนายทุนขุนโจร/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเลี้ยวซ้าย

: 2) พวกลัทธิเหมาใหม่กับนายทุนขุนโจร

 

รอบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงรัฐ-พรรคภายใต้ประธานสีจิ้นผิงจะเด็ดปีกทุนใหญ่ หากยังขึ้นบัญชีดำดารา เซเลบ จำกัดกวาดล้างธุรกิจเอกชนหลากประเภท อาทิ ฟินเทค เหมืองบิตคอยน์ คลาวด์คอมพิวติ้ง การบริหารจัดการและอัลกอริธึ่มข้อมูล โรงเรียนกวดวิชา เกมออนไลน์ เป็นต้น และบางกรณีกระทั่งสั่งห้ามการเสนอขายหุ้นระดมทุนในต่างประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยประพฤติปฏิบัติกันทั่วไปด้วย

คำถามสะพัดวงการเศรษฐกิจทั้งในจีนและโลกคือกำลังเกิดอะไรขึ้นในจีนของประธานสีกันแน่หว่า?

 

คําตอบทดลองเสนอจากในจีนเองหลากหลายแตกต่างกันไปจนจุดปะทุเป็นวิวาทะโด่งดังขึ้นมาระหว่าง http://k.uscnpm.org/wap/article.aspx?d=99&id=25855) :

– กลุ่มนักคิดนักเขียนปัญญาชนลัทธิเหมาใหม่ (neo-Maoism) ซ้ายจัดของจีนผู้พากันขานรับการพลิกกลับนโยบายของลุงสีอย่างกระตือรือร้น เรียกมันว่าเป็นการปฏิวัติใหม่และร้องเชียร์ให้รัฐ-พรรคจีนเดินแนวทางแข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อปัญหาใหญ่น้อยทุกอย่างตั้งแต่ทุนนิยมที่เตลิดเหลิงเริงร่านไปจนถึงบอยแบนด์จีนหน้าหวาน

เช่น หลีกวงหมั่น (???) บล็อกเกอร์ซ้ายจัดชายขอบที่แต่ไหนแต่ไรมาตีพิมพ์ผลงานอยู่ตามเว็บไซต์ลัทธิเหมาใหม่ที่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก กลับได้ที่ทางในสื่อรัฐ-พรรคทางการอย่างกว้างขวางไม่ว่า People’s Daily, New China News Agency, the People’s Liberation Army Daily, Guangming Daily และ CGTN ให้ลงความเรียงหนุนหลังการพลิกเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมจีนแบบขุดรากถอนโคน (แม้จะถูกตัดทอนไปบ้าง)

ดังที่หลีเขียนลง WeChat โซเชียลมีเดียของจีนเมื่อ 29 สิงหาคมศกนี้ด้วยภาษาอันมีกังวานของการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ว่า :

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกวาดล้างฝุ่นผงทั้งปวงให้หมดเกลี้ยง ตลาดทุนจะไม่เป็นสวรรค์ให้พวกนายทุนสร้างมหาสมบัติได้ชั่วข้ามคืนอีกต่อไป ตลาดวัฒนธรรมก็จะไม่เป็นวิมานให้พวกเซเลบหนุ่มเหน้าหน้าหวานอีกแล้ว”

– ในทางกลับกัน หูสีจิน (???) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ-พรรคจีน และขึ้นชื่ออื้อฉาวว่าเป็นพวกชาตินิยมไฮเปอร์ปากคอจัดจ้าน คอยไล่ล่าเล่นงานชาวจีนหัวเสรีนิยมในโลกตะวันตก มาคราวนี้กลับร้อนใจถึงแก่ต้องรีบออกมาเขียนบล็อกขัดคอหลีกวงหมั่นเมื่อ 2 กันยายนศกนี้ว่าหลีด่วนสรุปเกินไปและเตือนอย่างสุขุมเยือกเย็นเดินสายกลางผิดวิสัยว่าไม่ควรปลุกปั่นให้เกิด “ความสับสนตื่นกลัว”

ร้อนถึงหลิวเหอ (??) หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงต้องออกมาปลอบขวัญแวดวงธุรกิจทางหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ People’s Daily กระบอกเสียงทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการยกย่องภาคเอกชนและยืนกรานว่าภาคเอกชนเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการพัฒนาของจีน

และแม้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของจีนจะออกมาประสานเสียงยืนยันทำนองเดียวกับหลิว แต่ก็ยากจะทำให้วงการธุรกิจหายสับสนตื่นกลัว เพราะก่อนหน้านี้บริษัท Didi Chuxing (บริการรถ Uber ของจีน) ก็เพิ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก แต่แล้วไม่กี่วันให้หลังทางการจีนกลับประกาศสอบสวนบริษัทในประเด็นความมั่นคงของชาติ ทำให้ราคาหุ้น Didi Chuxing ร่วงทะลุดทะลาดเสียฉิบ

 

ต่อเรื่องนี้ Richard McGregor นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันโลวีในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ผู้เขียนหนังสือเจาะลึกพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันลือลั่นเรื่อง The Party : The Secret World of China’s Communist Rulers (ค.ศ.2010) วิเคราะห์ว่ามาตรการเด็ดปีกทุนใหญ่เป็นชุดของสีจิ้นผิงอาจเกิดจากเหตุใหญ่ๆ 3 ประการด้วยกัน (https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Bombard-the-headquarters-Xi-Jinping-s-crackdown-keeps-growing)

ได้แก่ :

1)บางส่วนเป็นเรื่องการกำกับดูแลกลุ่มทุนใหญ่โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งลงทุนใหญ่โตเกินตัว

เศรษฐกิจจีนตอนนี้อยู่ในสภาพสุดโต่งเกินเลยคล้ายกับอเมริกาในยุค “ทุนนิยมขุนโจร” (robber-baron capitalism) ตอนปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19 การผงาดขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างอาลีบาบา (ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกับการเงิน) และ Tencent Holdings (ธุรกิจเกมและสื่อสารออนไลน์) ก็มีลักษณะผูกขาด ใหญ่โตเทียบเคียงได้กับบรรดานายทุนใหญ่อุตสาหกรรมอเมริกันยุคทศวรรษ 1890 อย่างเช่น Henry Ford (รถยนต์), Andrew Carnegie (เหล็กกล้า), Cornelius Vanderbilt (รถไฟและเรือขนส่ง) และ John D. Rockefeller (โรงกลั่นน้ำมัน) เป็นต้น

กล่าวคือ ล้วนเป็นธุรกิจใหม่ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นพรวดพราด (barbaric growth) และผูกขาดครอบงำ ก่อนที่ภาครัฐ/นักการเมืองจะสาวเท้าเข้ามาใช้อำนาจรัฐเหนี่ยวรั้งมันไว้ด้วยมาตรการต่อต้านการผูกขาดอย่างกฎหมายแอนตี้ทรัสต์ฉบับต่างๆ (ค.ศ.1890, 1914 ดู https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=United_States_antitrust_law)

ในความเห็นของ Bert Hofman อดีตหัวหน้าหน่วยงานธนาคารโลกในจีน มาตรการเด็ดปีกทุนใหญ่ของสีจิ้นผิงจึงไม่น่าจะใช่อวสานของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ของจีน ชั่วแต่ว่าจีนตกลงปลงใจจะทำให้ตลาดเป็นสังคมนิยมยิ่งขึ้นนิดหน่อยในสถานการณ์ที่เปรียบได้กับ “ทุนนิยมขุนโจร” เท่านั้นเอง

มิฉะนั้นแล้วจีนอาจต้องเผชิญกับชนชั้นคณาธิปัตย์ (oligarch class) ที่ทรงอำนาจทางการเมือง เหมือนที่รัสเซียเผชิญในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 (https://en.wikipedia.org/wiki/Russian_oligarch) ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนวิตกกังวลมานานและปักใจว่าจะปล่อยให้เกิดขึ้นในจีนไม่ได้เป็นอันขาด

 

2)บางส่วนเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกซึ่งจีนกำลังดำเนินนโยบายแยกคู่ภาคส่วนเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ของตนออกจากสหรัฐอเมริกาในภาวะสงครามเย็นรอบใหม่

เรื่องที่จีนต้องประชันขันแข่งกับอเมริกาที่ครองโลกมาก่อนมีมากมายหลายด้าน ทั้งสนามการทหาร การทูต ไฮเทคและอุดมการณ์

บริษัทจีนทั้งหลายจึงได้รับคำสั่งจากรัฐ-พรรคให้เก็บข้อมูลทั้งหมดของตนไว้ในประเทศจีนเอง (onshore) ทั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงบรรดาบริษัทอเมริกันที่มีกิจการในจีนด้วย อาทิ แอปเปิ้ล

กรณีทางการจีนสอบสวนบริษัท Didi Chuxing บ่งชี้ว่าจีนจะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลอเมริกันเหยียบหยั่งเข้ามาในบริษัทของจีนได้แม้เท่าปลายนิ้วก้อย (เท้า) เพราะสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลของบริษัทจีนจะถูกทางการอเมริกันเรียกเก็บไปได้

สรุปว่าวิธีคิดของสองอภิมหาอำนาจโลกตอนนี้คิดคำนวณวางนโยบายของตนแบบได้เสียหมดตัว (zero-sum thinking) แทนที่จะร่วมมือหรือรอมชอมกัน

 

3)บางส่วนเป็นเรื่องการเมืองในจีนเองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้ประธานสีจิ้นผิงต้องการคุมเศรษฐกิจไว้ในกำมือและขจัดศูนย์อำนาจเผื่อเลือกอื่นๆ ที่อาจโผล่ขึ้นมาได้แต่ต้นมือ

นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ในสภาพที่ยังมีกระแสต้านประธานสีกระเพื่อมเบื้องลึกในพรรคเอง มีกลุ่มนายทุนขุนโจร (robber-baron capitalists) ผงาดขึ้นมาทางขวา และพวกลัทธิเหมาใหม่สะสมกำลังอยู่ทางซ้าย จะกำหนดทิศทางวางจังหวะก้าวโครงการการเมืองของลุงสีอย่างไรให้ซ้ายพอดี/ซ้ายกำลังงาม เพื่อรักษาฐานมวลชนคนชั้นกลางชาวเมืองเอาไว้ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่กำลังถ่างกว้างออกไปทุกที และฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์โป่งพอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)