โรคมนุษย์ระบาด (จบ)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

โรคมนุษย์ระบาด (จบ)

 

จอห์น เกรย์ อ้างถึงทฤษฎีของดาร์วินว่า ความสนใจใฝ่หาความจริงไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตรอดหรือสืบเผ่าพันธุ์ การลวงหลอกเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในบรรดาสัตว์ตระกูลไพรเมตและนก เหมือนที่นกเรเวนแสร้งทำเป็นซ่อนอาหารไว้ที่หนึ่ง ทั้งที่แอบซ่อนไว้ที่อื่น

ในหมู่มนุษย์เองก็มีการลวงหลอกกันตลอดเพื่อสร้างความประทับใจให้เพศตรงข้าม เพื่อเอาตัวรอด เพื่อแข่งขัน ในระดับการอยู่รอด ความนิยมชมชอบความจริงกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย และเรื่องหลอกลวงกลับเป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด

กระนั้น หากชีวิตเป็นเพียงแค่การอยู่รอด มนุษย์ผู้วิวัฒนาการมาจนสมองคิดได้ขนาดนี้อาจรู้สึกไม่สบายใจ เพราะเท่ากับชีวิตกลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย ใกล้เคียงสุญนิยม (nihilism) พวกเขาจึงต้องคาดหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า อนาคตที่ดีกว่า หรือตัวเองที่ดีกว่า จึงตั้งตนอยู่ในความเชื่อความศรัทธาถึง ‘สิ่งดีงาม’ นั้นเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าของชีวิต ไม่ต่างอะไรกับการน้อมรับพิธีกรรมคำสอนแล้วปฏิบัติตามอย่างสุดจิตสุดใจด้วยศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า แล้วความสงสัยทั้งมวลก็จะสงบลงได้

เกรย์เขียนว่า “การบูชานักวิทยาศาสตร์และน้อมรับของขวัญเทคโนโลยีจากพวกเขา อาจช่วยให้เราบรรลุถึงสิ่งที่นักศาสนาในยุคก่อนคาดหวังว่าจะได้รับจากการสวดมนต์ กำยาน และน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์”

ญากส์ โมโนด์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งชีววิทยาโมเลกุลบอกว่า “เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับข้อเท็จจริงว่ามนุษย์ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ”

ทั้งที่ทฤษฎีของดาร์วินก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าเราต่างเป็นสัตว์เหมือนสัตว์อื่นๆ ชะตากรรมของเราและสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกไม่ได้แตกต่างกัน

แต่สำหรับมนุษย์ผู้ชาญฉลาดแล้ว มันยากจะยอมรับว่าเราไม่มีอำนาจและเก่งกาจพอจะควบคุมโลกใบนี้ หรือเพียงมีชีวิตอยู่แล้วปล่อยให้สรรพสิ่งเป็นไปอย่างที่ควรเป็น

 

ขณะที่สมมุติฐานกาย่า (Gaia hypothesis) เสนอว่าโลกเป็นระบบที่กำกับตัวเองและมีพฤติกรรมคล้ายสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอในลัทธิธรรมชาตินิยมเชิงวิทยาศาสตร์

ในแบบจำลองโลกดอกเดซี่ที่พัฒนาขึ้นโดยเจมส์ เลิฟล็อก โลกมีแต่ดอกเดซี่สีดำและสีขาว เป็นโลกที่กำกับอุณหภูมิด้วยตนเอง โลกเดซี่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ดอกเดซี่ขาวสะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ทำให้พื้นผิวของโลกเย็นลง ขณะที่สีดำดูดความร้อนทำให้โลกอุ่นขึ้น พวกมันไม่ได้มีจุดหมายใดๆ เลย แต่ดอกเดซี่ได้ทำการปฏิสัมพันธ์กันเพื่อทำให้โลกของพวกมันเองเย็นลง แม้ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้น

โจเอล เดอ โรสเนย์ สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นในคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มที่ระดับอุณหภูมิต่ำ ดอกสีดำซึ่งดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์จะอยู่รอด ปกคลุมพื้นที่กว้าง

แต่พอคลุมพื้นที่มากเกินไปอุณหภูมิจะเพิ่มสูงกว่าจุดวิกฤต จึงล้มตายกันขนานใหญ่

ช่วงเวลานั้นดอกสีขาวก็จะปรับตัว และเข้ามาครอบคลุมพื้นที่แทน การสะท้อนแสงของดอกขาวทำให้โลกเย็นลงอีกครั้ง

แต่พออุณหภูมิลดมามากเกินไปดอกสีขาวก็จะล้มตาย ดอกสีดำก็กลับมาแพร่พันธุ์อีก เป็นเช่นนี้ไปมาหลายครั้ง

จนถึงจุดหนึ่ง ดอกสีดำและสีขาวจะเริ่มปนกันแบบกระจัดกระจาย และวิวัฒนาการร่วมกันบนพื้นผิวโลก กลุ่มประชากรทั้งสองจะสามารถรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมต่อชีวิตของทั้งสองสปีชีส์ได้ อุณหภูมิจะผกผันในระดับสมดุลในที่สุด ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ไม่มีใครตั้งขึ้น

หากเป็นผลลัพธ์จากพฤติกรรมของดอกเดซี่และการวิวัฒนาการร่วมกันของพวกมัน

 

หากลองใส่มนุษย์เข้าไปในระบบของดอกเดซี่ เราอาจคิดว่าพฤติกรรมของเรามีผลต่อการควบคุมโลกทั้งใบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ดิน ดอกเดซี่ และสิ่งอื่นร่วมบรรยากาศล้วนสร้างปฏิสัมพันธ์กับเราเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งยังกำหนดการกระทำของเราได้ด้วยซ้ำ เช่น ถ้าพฤติกรรมห่วยๆ ของเราส่งผลร้ายต่อระบบ เมื่อรู้ตัวเราย่อมเปลี่ยนพฤติกรรม

ในทฤษฎีกาย่า ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าเชื้อรา

เราไม่ได้ต่างจากสิ่งอื่นหรือชีวิตอื่น

เราไม่ใช่ผู้ควบคุมบัญชาซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะทำให้โลกใบนี้เป็นไปอย่างที่วาดฝัน

การพยายามจัดระเบียบและขับเคลื่อนโลกไปด้วย ‘ความจริง’ ที่มนุษย์หลงใหลบูชาโดยมีแกนกลางอยู่ที่มนุษย์อาจไม่ได้เป็น ‘ความจริง’

ในมิติของโลกทั้งใบ ยังมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจอีกมาก และไม่แน่ว่าจะสามารถเข้าใจได้ทันก่อนสายพันธุ์ของเราล่มสลายหรือไม่ หากยังใช้ชีวิตโดย ‘นิยมมนุษย์’ แบบนี้ไปเรื่อยๆ

จอห์น เกรย์ จบบทโดยยกพิธีกรรมจีนโบราณมาเล่า ในพิธีมีการใช้สุนัขหุ่นฟางเป็นเครื่องบวงสรวงบูชาแด่เทพเจ้า

ระหว่างทำพิธี สุนัขหุ่นฟางจะได้รับการปฏิบัติโดยเคารพนบนอบอย่างที่สุด แต่เมื่อพิธีจบแล้ว พวกมันก็หมดความจำเป็น จากนั้นก็ถูกเหยียบย่ำและโยนทิ้งไป

‘ฟ้าดินไร้เมตตา ด้วยเห็นสรรพสิ่งเป็นเช่นสุนัขหุ่นฟาง’

ถ้ามนุษย์รบกวนสมดุลของโลก พวกเขาจะถูกบดขยี้และโยนทิ้งไป

มนุษย์อาจสำคัญตัวผิดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยมองตัวเองเป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ พยายามใช้ประโยชน์และเอาชนะ ทว่าในสายตาของธรรมชาติ มนุษย์มิได้สำคัญขนาดนั้น เราอาจเป็นเพียงสุนัขหุ่นฟางที่รอวันหมดความสำคัญเท่านั้นเอง

แต่มุมมองเช่นนี้ยอมรับได้ยาก เพราะมันช่าง ‘สิ้นหวัง’

ว่าแต่ ‘ความหวัง’ มิใช่หรือที่ทำให้เราโหยหาความก้าวหน้าและนำพาเราไปสู่ความปรารถนาไร้จุดสิ้นสุด มิใช่ ‘ความหวัง’ หรอกหรือที่กระตุ้นความกระหายในการครอบครองสะสมและปู้ยี่ปู้ยำดาวเคราะห์สีน้ำเงินอันงดงามให้กลายเป็นดาวเน่าๆ ป่วยๆ ดวงหนึ่งในวันนี้

‘ความหวัง’ สำคัญขนาดนั้นจริงหรือ?

เป็นไปได้ไหมที่เราจะดำเนินชีวิตไปโดยไม่มุ่งเน้นที่เป้าหมาย?

ชวนกันคิดต่อในสัปดาห์หน้าครับ