ธงทอง จันทรางศุ | คำตอบ ‘ข้อสอบ’ นิสิตกฎหมาย

ธงทอง จันทรางศุ

อาชีพสอนหนังสือนั้นจะว่าไปแล้วก็มีทั้งความสุขและความทุกข์ระคนกันอยู่

ยิ่งเป็นคนขยันพูดและชอบพูดอย่างผม ความสุขก็อยู่ตรงที่ได้พูดนี่แหละครับ

พูดในสิ่งที่เรารู้ เราคิด เราเชื่อ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนในชั้นเรียนของเรา จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ไม่ว่ากัน

บางทีเขาก็ถามคำถามที่เฉียบแหลมจนเราตอบไม่ได้ เราก็ขอติดหนี้เขาไว้ก่อน รีบไปค้นคว้าหาความรู้แล้วกลับมาคุยกันต่อสัปดาห์หน้า

แล้วความทุกข์อยู่ตรงไหนหรือครับ

 

อยู่ตรงต้องออกข้อสอบและตรวจข้อสอบไงล่ะครับ

ยิ่งวิชาที่ผมรับผิดชอบเป็นผู้สอนนั้นเป็นวิชากฎหมายต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์กฎหมาย การร่างกฎหมายและกระบวนการทางนิติบัญญัติ นิติตรรกศาสตร์และการใช้ภาษากฎหมายไทย วิชาเหล่านี้ไม่มีเสียล่ะที่จะใช้ข้อสอบปรนัย กาผิดกาถูก หรือให้เลือกข้อที่ถูกต้องมากที่สุด เพราะข้อสอบวิชากฎหมายล้วนแต่เป็นการตอบแบบบรรยายทั้งสิ้น

ก่อนที่โควิดจะเข้ามารุกรานโลกของเรา นิสิตต้องเขียนคำตอบลงในสมุดคำตอบที่คณะจัดให้และนั่งสอบในห้องสอบ

ลายมือนิสิตบางคนสวยงามจนอยากจะตกรางวัล

ขณะที่ลายมือของนิสิตอีกบางคนขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย เกือบต้องเรียกกองพิสูจน์หลักฐานมาช่วยอ่านเชียวล่ะครับ

มาถึงยุคนี้ดีหน่อยที่เป็นการสอบออนไลน์ นิสิตนั่งทำข้อสอบอยู่กับบ้าน และลูกศิษย์ของผมส่วนใหญ่ก็มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถพิมพ์อะไรต่อมิอะไรได้ดังใจ ครบกำหนดหมดเวลาสอบก็ส่งคำตอบเป็นอีเมลเข้ามาที่คณะ

เจ้าหน้าที่จัดการพิมพ์คำตอบของนิสิตเหล่านั้นจับใส่ซองมาส่งให้ผมที่บ้าน เราก็อ่านสบายใจเฉิบสิครับ เหลือประเภทที่เป็นเขียนลายมือแล้วถ่ายภาพส่งอีเมลมาเพียงไม่กี่คน

อันนี้ก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว

 

หยุดยาวหลายวันในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาผมใช้เวลาวันหยุดเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์โดยการเร่งตรวจข้อสอบให้ทันกำหนดที่ขณะขีดเส้นตายไว้ให้

นิสิตชั้นปีที่หนึ่งที่เรียนวิชานิติตรรกศาสตร์และการใช้ภาษากฎหมายไทยกับผมมีจำนวนตั้ง 300 กว่าคน อ่านข้อสอบกันตาลายเลย

จากการอ่านคำตอบของนิสิตชั้นปีที่หนึ่งในการสอบกลางภาค ภาคแรก ซึ่งต้องถือว่าเป็นการสอบวิชากฎหมายครั้งแรกของนักเรียนกฎหมายจำนวนนี้ ผมพบประเด็นสองสามประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในคำตอบของนิสิตจำนวนไม่น้อย

ประเด็นเหล่านี้เองที่ผมจะขอหยิบยืมมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

เรื่องแรกคือ นิสิตของผมหลายคนมีความเข้าใจแต่แรกก่อนเข้ามาเรียนว่า การเรียนกฎหมายต้องใช้ความทรงจำมากเป็นพิเศษ

การเรียนได้คะแนนดีต้องตอบคำถามได้ตรงตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มีมาแต่เก่าก่อน

แต่พอมานั่งเรียนจริงได้เพียงสองเดือน ก็ได้เห็นและรู้จักภาพแห่งความเป็นจริงว่า การเรียนกฎหมายนั้นใช้ความทรงจำไม่ได้มากหรือน้อยไปกว่าวิชาอื่น

แต่คนจะเรียนกฎหมายได้ดี ต้องเข้าใจที่มาที่ไปและเหตุผลของกฎหมายอย่างถ่องแท้

ความจำอย่างเดียวไม่พอครับ ต้องใช้ความเข้าใจเป็นสำคัญ

ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงอยู่เสมอว่า นกแก้วนกขุนทองสามารถพูดจาเลียนภาษามนุษย์ได้ แต่ไม่เข้าใจเลยว่าเสียงที่เปล่งออกมามีความหมายว่าอะไร

นักกฎหมายที่ทรงจำได้ว่า ข้อเท็จจริงอย่างนี้ศาลเคยตัดสินว่าอย่างไร แต่ไม่เคยมองลึกไปเพื่ออธิบายให้ได้ว่าทำไมศาลถึงตัดสินอย่างนั้น และตัวเราเองเห็นด้วยหรือไม่กับเหตุผลเหล่านั้น

ไม่ต่างอะไรกับนกแก้วนกขุนทองเลย

 

เรื่องที่สอง สำคัญยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือหัวใจของเรื่องที่เราต้องพูดกัน ว่ากฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม อย่าไปหลงผิดว่าขึ้นชื่อว่ากฎหมายแล้วต้องยุติธรรมเสมอ

ในชีวิตของผม ผมได้เห็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมามากพอสมควร บางครั้งก็เป็นกฎหมายที่เคยยุติธรรมในบริบทของสังคมยุคหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบันสมัยก็ตกยุคเสียแล้ว แต่เราก็ยังตะบี้ตะบันใช้กันต่อไป

และที่สำคัญไม่แพ้กันคือนอกจากต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมแล้ว กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติประกอบด้วยเหตุด้วยผล ก็เป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ แต่มักจะขาดกันอยู่บ่อยๆ

หัวเราะทั้งน้ำตา!

 

ตรวจข้อสอบคราวนี้เสร็จ ผมเห็นความหวังของตัวเองโชติโชนขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นเชียว ทำไมหรือ ลองอ่านนี่ดูสิครับ

“…การศึกษากฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้ตระหนักถึงส่วนรวมเท่าที่พึงกระทำ ไม่ได้มีความสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเท่าที่ควร อ้างแต่เพียงว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น โดยไม่สนใจว่ากฎหมายจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม…”

ลองดูอีกของคนหนึ่งก็ได้

“…การศึกษากฎหมายในทัศนะของข้าพเจ้าจึงควรเป็นการศึกษาที่จะนำเอาความรู้เรื่องกฎหมายไปขยายความและทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงกฎหมายได้อย่างแท้จริง เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิอะไร ไม่มีสิทธิดำเนินการอะไร เพราะหากคนเรารู้ว่าตนเองมีสิทธิอย่างไรบ้าง ก็จะสามารถป้องกันตนเองได้ มิใช่เข้าใจว่ากฎหมายมีไว้เพียงเพื่อวัดความดีความชั่ว ไม่ใช่เข้าใจว่ากฎหมายเป็นช่องทางเอาคืนแก้แค้นใคร…”

ปิดท้ายด้วยวรรคทองอย่างนี้ครับ

“…การศึกษากฎหมายเหมือนกับมีอาวุธอยู่ในมือ ฉะนั้น เราควรใช้ในทางที่ดี พึงกระทำเฉกเช่นที่วิญญูชนพึงกระทำ อย่าเพียงแต่หวังหรือหลงไปในยศถาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สินเงินทอง…”

 

อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ

ยิ่งเมื่อนึกว่าสามสี่บรรทัดข้างต้นนี้เขียนโดยคนที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา อายุเฉลี่ยประมาณ 18 ปี เป็นวัยที่อยู่กับปัจจุบันและอนาคต ถ้าเขาเข้าใจเสียแต่วันนี้ว่าการเรียนกฎหมายไม่ใช่เรียนไปเพื่อได้อภิสิทธิ์ เป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก เรียนไปเพื่อใช้กฎหมายที่พิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรสวยงามอยู่ในเล่มสมุด โดยไม่เคยใส่ใจที่จะคำนึงหรือตอบคำถามว่า กฎหมายที่อยู่ตรงหน้านั้นมีความเป็นธรรมเพียงใด ใครเป็นคนเขียน และมีใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์บ้าง

ถ้าสิ่งที่เขาเขียนอยู่ในกระดาษคำตอบข้อสอบในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2564 จะอยู่ในหัวใจของเขาไปอีกช้านาน ตั้งแต่วันแรกที่ได้ทำหน้าที่เป็นนักกฎหมายไปจนถึงวันสุดท้ายที่วางมือจากหน้าที่ดังกล่าว

เมืองไทยของเราจะน่าอยู่สักปานใด

 

ผมมีครูของผมคนหนึ่ง ท่านสอนวิชากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทเมื่อตอนผมอยู่ชั้นปีที่สามในรอบปีพุทธศักราช 2518 ชื่อเสียงเรียงนามของท่านคือ ศาสตราจารย์พิชัยศักดิ์ หรยางกูร แม้ท่านเกษียณอายุจากความเป็นครูกฎหมายแล้ว แต่ท่านก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และท่านถึงอนิจกรรมไปเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา

มีผู้เล่าให้ผมฟังว่า ในคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่อาจารย์พิชัยศักดิ์เป็นกรรมการ เมื่อมีกฎหมายใหม่เสนอเข้ามาสู่การพิจารณา คำถามที่ท่านอาจารย์ถามเป็นประจำกับผู้มาชี้แจงคือ กฎหมายนี้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร

ถ้าท่านดูแล้วเป็นเรื่องที่หน่วยงานเสนอขึ้นมาเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ แต่ไปสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ไม่รอดเงื้อมมืออาจารย์พิชัยศักดิ์แน่ครับ

ในวันข้างหน้า นิสิตปีหนึ่งผู้เขียนกระดาษคำตอบที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างในข้อเขียนของเราวันนี้จะได้ไปทำหน้าที่อะไรบ้าง ผมไม่อาจรู้ได้

แต่ผมควรจะมีความหวังและมีสิทธิหวังได้ไม่ใช่หรือครับว่า จะมีคนลุกขึ้นแผ้วถางหนทางไปสู่ความยุติธรรมให้ดีขึ้นไปโดยลำดับจากรุ่นต่อรุ่นเสมอไป จะเรียกว่าเป็นการสืบทอดภารกิจศักดิ์สิทธิ์ก็เห็นจะได้

เมื่อหวังกับคนรุ่นปัจจุบันแล้วไม่ได้มรรคผล ก็ต้องหวังกับอนาคตอย่างนี้ล่ะ

ว่าแล้วก็หันกลับไปอ่านคำพิพากษาของศาล…ต่อไป

อ่านฆ่าเวลาไงครับ