เมื่อ ‘ยันตระ’ โผล่กลับไทย พระสงฆ์แห่กราบไหว้ มส.-พศ.ชี้ไม่เหมาะสม ย้อนที่มาตำนานจิ้งเขียว/อาชญา ข่าวสด

อาชญา ข่าวสด

 

เมื่อ ‘ยันตระ’ โผล่กลับไทย

พระสงฆ์แห่กราบไหว้

มส.-พศ.ชี้ไม่เหมาะสม

ย้อนที่มาตำนานจิ้งเขียว

 

กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับนายวินัย ละอองสุวรรณ หรืออดีตพระยันตระ อดีตพระผู้อื้อฉาว

ผู้สร้างตำนาน “จิ้งเขียว” หรือ “ยันดะ” ที่เกี่ยวพันกับคดีสเพเมถุนเมื่อ 27 ปีก่อน เมื่อเจ้าตัวเดินทางกลับจากสหรัฐมายังไทยอีกครั้ง เพื่อฉลองวันเกิดในวัย 70 ปี

และปรากฏภาพกิจกรรมต่างๆ ที่น่าเป็นห่วง

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายเหมือนนักบวชเลียนแบบสงฆ์ หรือการเทศนาธรรม และที่หนักไปกว่านั้นก็คือภาพการกราบไหว้บูชาจากพระภิกษุสงฆ์ ที่ปวารณาเป็นลูกศิษย์

กลายเป็นคำถามถึงสำนักพุทธศาสนา และมหาเถรสมาคมว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไร สำหรับการกราบไว้คฤหัสถ์ แถมเป็นผู้ที่อาบัติปาราชิกมาก่อนหน้านี้

แม้คดีทางโลกจะหมดอายุความ แต่เรื่องจริยธรรม คุณธรรม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา

และชวนให้ย้อนพฤติการณ์อื้อฉาวเมื่อ 27 ปีก่อนว่าร้ายแรงเพียงใด มีหลักฐานมัดแน่นขนาดไหน

กลายเป็นคำถามว่าเหตุใดยังคงกราบไหว้กันได้ลงคอ!??

อดีต ‘ยันตระ’ กลับฉลองวันเกิด

เหตุการณ์นี้กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม มีการเผยแพร่ภาพของนายวินัย ละอองสุวรรณ หรืออดีตพระยันตระ อมโร อดีตพระภิกษุชื่อดัง ที่มีพระภิกษุ และแม่ชี กราบไหว้นายวินัยที่นั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างสง่างาม โดยมีการระบุว่าสถานที่ดังกล่าวคืออาศรมเกพลิตา โพธิวิหาร ต.หนองบอน อ.เมือง จ.สระแก้ว

จนเกิดคำถามถึงความไม่เหมาะสมที่พระภิกษุมากราบไหว้ฆราวาส แถมยังเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนหน้านี้

เมื่อตรวจสอบก็ทราบว่า นายวินัยเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพักบ้านลูกศิษย์ที่ จ.ปทุมธานี แล้วไปยังสำนักป่าสุญญตาราม บ้านเกริงกระเวีย อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แล้วจึงเดินทางไปบ้านเกิดที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม

ซึ่งก็มีคลิปวิดีโอระหว่างที่นายวินัยและลูกศิษย์ไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีชาวบ้านมารอต้อนรับนับสิบ แถมยังนำผ้าขาว กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเงิน ให้นายวินัยเหยียบตลอดทาง

คิดว่าเป็นเรื่องสิริมงคล!??

ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม นายวินัยเดินทางไปพำนักที่อาศรมเกพลิตา โพธิวิหาร จ.สระแก้ว และยังไปบ้านลูกศิษย์ที่ จ.ปทุมธานี ก่อนเดินทางกลับสหรัฐเมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม

ซึ่งจากการสอบถามลูกศิษย์ระบุว่า เป็นการเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากที่ไม่ได้กลับมา 2 ปีจากสถานการณ์โควิด และต่อจากนี้จะกลับมาทุกปีในช่วงวันเกิด 14 ตุลาคม

ขณะที่นายวินัยให้สัมภาษณ์ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการที่มีพระภิกษุมากราบไหว้ว่า “อาตมายืนยันว่ายังเป็นนักบวชอยู่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่รูปแบบภายนอกเท่านั้นที่เปลี่ยนไป เพียงแต่อาตมาไม่ปลงผม ไม่ปลงหนวด ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะอาตมาอยู่อเมริกา อยู่ป่าจะมาวัดเป็นครั้งคราว ในวันวิสาขบูชา หรือวันมาฆบูชา หรือวันอาสาฬหบูชา และไม่เคยเรียกร้องให้ใครมากราบไหว้ ไม่เคยบอกใครต้องมาเคารพกราบไหว้นอบน้อม”

ส่วนที่เดินทางกลับมาไทยก็เพราะเป็นแดนมาตุภูมิที่เกิดของอาตมา อาตมาเกิดที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช ยังมีญาติพี่น้องอยู่มาก ตั้งใจมาเยี่ยม และศิษย์สาธุชนที่ยังมีความเลื่อมใสอยู่ ทุกคนดีใจที่อาตมากลับมา ก็มากราบมาไหว้ อาตมาก็ไม่มีสิ่งใดนอกจากพูดให้ธรรมะ และยอมรับว่าจะให้คนมาเข้าใจเราทั้งหมดคงไม่ได้

เป็นคำชี้แจงจากอดีตพระยันตระ

ชี้พระสงฆ์ไหว้ฆราวาสเป็นอาบัติ

ขณะที่พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สัญญโต) กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เชื่อว่าพระสงฆ์ที่ปรากฏในภาพบนคลิป จะเป็นอดีตลูกศิษย์ของอดีตพระยันตระที่ยังคงให้ความเคารพนับถือ

หากเป็นบุคคลทั่วไปที่เป็นฆราวาส เรื่องดังกล่าวคงไม่มีใครติดใจ แต่เมื่อเป็นพระสงฆ์จึงถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ที่ไปกราบไหว้บุคคลที่ไม่ใช่พระสงฆ์ที่มีพรรษาสูงกว่าซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แม้นายวินัยจะกล่าวอ้างยืนยันว่ายังเป็นพระ เพียงแต่ไม่ปลงผม-หนวด แต่คณะสงฆ์ไทยถือว่าปาราชิก ไม่สามารถดำรงตนในฐานะพระภิกษุได้อีกต่อไป ต้องขาดจากความเป็นพระไปแล้ว

พระธรรมกิตติเมธี กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นความผิด อาบัติทุกกฎ คือ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม คำว่าทุกกฎ แปลว่า ทำไม่ดี กรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่าทำไม่ดี คนทำชั่วอันใดในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนว่าเป็นคนทำชั่ว ทำไม่ดี ทำผิด

เพราะเหตุนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่าทุกกฎ เป็นอาบัติเบา ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น การฉันภัตตาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน การนุ่งห่มจีวรปล่อยชายไม่เรียบร้อย เป็นต้น ซึ่งโทษดังกล่าวไม่ได้ร้ายแรง เพียงแต่ให้พระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ของพระสงฆ์ที่ต้องอาบัติทุกกฎ ว่ากล่าวตักเตือน มิให้กระทำความผิดนั้นอีก

นายสิทธา มูลหงษ์ โฆษกสำนักพุทธฯ กล่าวว่า จากตรวจสอบสถานที่อดีตพระยันตระ เปิดให้พระสงฆ์ ลูกศิษย์เข้าพบที่ จ.สระแก้ว นั้น คืออาศรมเกพลิตาโพธิวิหาร ต.หนองบอน อ.เมือง จ.สระแก้ว เป็นที่ตั้งในนามของมูลนิธิ อยู่ในการดูแลของกรมการปกครอง ทั้งยังถือเป็นที่ส่วนบุคคล สำนักพุทธฯ จึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ

ส่วนพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่ไปกราบไหว้อดีตพระยันตระนั้น ถือว่าไม่เหมาะสม แต่จากการตรวจสอบพระสงฆ์ที่ปรากฏในภาพกำลังกราบอดีตพระยันตระนั้น ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าอาจจะเป็นพระสงฆ์จากสำนักสงฆ์ใน จ.กาญจนบุรี จึงแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี (พศจ.กาญจนบุรี) ตรวจสอบอีกครั้ง หากพบว่าเป็นพระสงฆ์ใน จ.กาญจนบุรี จริง จะมีการประสานเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ พิจารณาลงโทษต่อไป

เป็นความเคลื่อนไหวของคณะปกครองสงฆ์

 

ย้อนคดีเมถุน-ที่มาจิ้งเขียว

หากย้อนคดีอันฉาวโฉ่ของอดีตพระยันตระ เริ่มที่ประวัติของนายวินัยเอง โดยนายวินัยเกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2494 ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาเข้ามาเรียนใน กทม. เมื่อเรียนจบ ก็ไปนุ่งขาวห่มขาวเป็นโยคีอยู่ที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง และที่ภูกระดึง จ.เลย รวมทั้งเดินทางไปยังอินเดียและเนปาล

จนกระทั่ง พ.ศ.2517 จึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดรัตนาราม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาได้สร้างชื่อเสียงมีลูกศิษย์ลูกหามาก ด้วยความเป็นพระสงฆ์ที่หน้าตาหล่อเหลา พูดภาษาอังกฤษได้ แสดงตนเป็นพระปฏิบัติเคร่งครัด ธุดงค์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ถึงขั้นพาคณะศิษย์ทั้งอุบาสกและอุบาสิกาออกทัวร์รอบโลก อ้างเป็นการปฏิบัติธรรม

โด่งดังในร่มกาสาวพัสตร์อยู่ได้ 20 ปี ก็มีเรื่องขึ้นในปี 2537 เมื่อ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร พาแม่ชีแก้วตา หม่องจินดา ร้องเรียนอธิบดีกรมการศาสนาในขณะนั้นว่าถูกพระยันตระเสพเมถุน และยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับสีกาชาวต่างประเทศ คือ น.ส.อีวา คาลเดน นักดนตรีชาวเดนมาร์ก และ น.ส.ซูซาน วอร์นิเก้ นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน

หนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” เป็นสื่อที่เปิดข่าวชิ้นนี้สร้างความอือฮาไปทั่ว เพราะเป็นพระที่มีศิษย์สาวกมากมายกว้างขวาง จากนั้นข่าวสดเดินหน้าขุดคุ้ยข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อยืนยันความจริงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการปล่อยข่าวว่าเป็นขบวนการนารีพิฆาต และถึงขั้น รมช.ศึกษาธิการสมัยนั้นโจมตีแม่ชีแก้วตาว่าวิกลจริต

แต่ด้วยการเปิดโปงข้อมูลและหลักฐานอันชัดแจ้ง ก็พบกับความไม่ชอบมาพากล ทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในสมณรูป ทั้งการเล่นตู้เกม แต่งตัวเป็นเจงกิสข่าน จนเริ่มสร้างความหวั่นไหวให้ลูกศิษย์และฝ่ายบ้านเมืองที่ต้องตรวจสอบ

ก่อนมาเจอทีเด็ด เมื่อเปิดตัวนางจันทิมา หรือเทียมจันทร์ มายะรังสี ที่ระบุว่ามีสัมพันธ์กับยันตระ ถึงขั้นมีบุตรสาวด้วยกันชื่อ “น้องกระต่าย” ที่ถือกำเนิดที่ประเทศยูโกสลาเวียในสมัยนั้น

รวมทั้งหลักฐานทางการเงิน สลิปบัตรเครดิตในการท่องเที่ยวอาบอบนวดไดมอนเอสคอร์ต ที่นิวซีแลนด์ ด้วยบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส ที่ญาติโยมถวายให้เพื่อใช้เผยแผ่ธรรมะ แต่กลับเอามาใช้เสพสุข

ตรวจสอบลายเซ็นตรงกับพาสปอร์ตอย่างดิ้นไม่หลุด

จนกระทั่งมหาเถรสมาคมมีคำสั่งให้พระยันตระเจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอ ว่าเป็นพ่อลูกกับ ด.ญ.กระต่ายจริงหรือไม่ ขีดเส้นในวันที่ 31 มีนาคม 2538

โดยที่พระยันตระในขณะนั้นก็บ่ายเบี่ยงอ้างถึงขั้นเป็นอนันตริยธรรมที่ทำให้พระอรหันต์หลั่งเลือด

ในที่สุดเมื่อถึงเดตไลน์ พระยันตระก็ไม่ยอมเจาะเลือด แต่กลับเข้ากุฏิผลัดเปลี่ยนเป็นห่มผ้าเขียว และระบุว่าไม่ได้เปล่งคำลาสิกขา จนได้รับขนานนามว่าจิ้งเขียว ต่อมาเพื่อหลบเลี่ยงคดีความที่เกิดขึ้นจำนวนมาก จึงตัดสินใจลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา และกลับไทยอีกครั้งเมื่อปี 2557 เมื่อคดีหมดอายุความ

มาโด่งดังอีกครั้งเมื่อปรากฏตัวและมีพระสงฆ์กราบไหว้ และยืนยันว่ามีความเป็นสงฆ์ครบถ้วน

ขณะที่มหาเถรสมาคมก็ยืนยันว่าอาบัติปาราชิกไปเรียบร้อย!!!