หลังเลนส์ในดงลึก : ‘เกาะติด’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ค่างมีหน้าที่แพร่กระจายพันธุ์ไม้ เช่นเดียวกับชะนี พวกมันเดินทางไปตามเรือนยอดไม้ และมีวิถีการเลี้ยงดูลูกแบบเดียวกัน

 

‘เกาะติด’

 

ช่วงเวลาที่ผมใช้เวลาหลายปีอยู่แถบ “พื้นที่สีแดง” เชิงทิวบูโด ผ่านมานานพอสมควรแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่นั่น ดูเหมือนเหตุการณ์จะรุนแรง อาจเป็นธรรมดาของการรับฟังข่าวอยู่ไกลๆ

ขณะอยู่ที่นั่น ใช่ว่าจะไม่พบเจอเหตุร้ายต่างๆ แต่เมื่ออยู่ในหมู่บ้าน บนภูเขา ผมรู้สึกได้ว่า อยู่ท่ามกลางความอบอุ่น ห่างไกลอันตราย

กอแซ ที่ผมเรียกเขาว่า บาบอ อันหมายถึงครู เขาเป็น “ครู” ผมจริงๆ สอนให้ผมนุ่งโสร่ง พาไปร่วมการละหมาดที่มัสยิด ให้ผมอยู่ในวงเสื่อที่กั้นคนภายนอกเข้ามาในวันทำพิธีสุหนัดของลูกชาย เขาปฏิบัติกับผมราวกับญาติคนหนึ่ง

บนภูเขาเราใช้เวลาหลายวันเฝ้ารอลูกนกชนหิน ตอนโผล่ออกจากโพรง ถึงวันศุกร์ ผู้ชายทุกคนต้องหยุดทำงานเพื่อไปมัสยิด อาแซไม่ลงจากภูเขา เพราะห่วง ไม่อยากให้ผมอยู่บนเขาคนเดียว

“เราขาดละหมาดได้สามครั้ง ถ้ากอแซเป็นอะไรไปเราจะบาปมากกว่า” กอแซคือชื่อที่พวกเขาตั้งให้ผม มีที่มาจากเอาชื่อหลายคนมารวมกัน

เวลาผ่านมานาน ผมคิดถึงเพื่อนๆ เชิงทิวเขาบูโดบ่อย

บางช่วงเวลาก็คล้ายจะฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ

 

สําหรับผม กอแซเป็นครู

ส่วนมัสบูด ชายหนุ่มล่ำสันผิวคล้ำ พูดน้อย ทักษะการปีนป่ายต้นไม้คล่อง เปรียบเสมือนน้องชาย

วันหนึ่ง เขาอุ้มลูกค่างตัวสีทองซึ่งพลาดตกจากอกแม่มาให้ผมดู

เรานำลูกค่างไปไว้ที่โคนต้นไม้ แอบดูจนกระทั่งแม่ไต่ลงมารับไป

ลูกค่างตัวสีทอง ยังไม่ถึงเวลาที่จะไปพ้นอกแม่

 

ในป่าด้านตะวันตก ผมพบเจอชะนีบ่อยกว่าพบค่าง

พวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือนยอดไม้เหมือนกัน วิธีการเลี้ยงดูลูกๆ เป็นแบบเดียวกัน ตั้งแต่เกิด ลูกจะเกาะติดอยู่กับอกแม่ราวๆ สองปี พอได้เวลาเหมาะสม ลูกจะค่อยๆ ผละจากอกแม่ เริ่มฝึกฝนโหน หรือไต่ไปตามกิ่งไม้ โดยมีแม่เฝ้าดูใกล้ๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่ลูกๆ ต้องเรียนรู้วิถีของตนให้ถ่องแท้

ไม่เพียงเพื่อเติบโต ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งเอาชีวิตให้รอด

สิ่งสำคัญกว่าคือ ต้องถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้กับรุ่นต่อๆ ไป

 

ชะนีอยู่กันเพียงครอบครัวของตัวเอง พ่อ-แม่-ลูก มีอาณาเขตของตัวเอง ต่างกับค่างที่อยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่

ในป่า ตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงชะนีดังก้องกังวานไปทั่ว เสียงอันแสดงถึงความมีชีวิต เป็นป่าที่มีวิญญาณ ไม่ใช่มีเพียงต้นไม้ เสียงชะนีตัวผู้มีทำนองสูงๆ ต่ำๆ พวกมันมักส่งเสียงโต้ตอบกัน ระหว่างตัวผู้สองครอบครัวที่มีอาณาเขตใกล้ๆ

เสียงเป็นการประกาศให้อีกฝ่ายรู้ว่า อย่ารุกล้ำเขต โดยไม่ต้องเข้ามาเผชิญหน้าหรือปะทะ

 

เมื่อถึงเวลาเหมาะสม และมั่นใจว่าลูกๆ ได้รับการถ่ายทอดทักษะต่างๆ กระทั่งแข็งแรงดีแล้ว บรรยากาศของการจากลาจากอกเริ่มต้น

เป็นเวลาที่ลูกต้องออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง

การจากอ้อมอกอันอบอุ่น ปลอดภัย ไม่ง่ายดาย ไม่มีลูกๆ ตัวไหนยินดี แต่ที่สุดก็ต้องยอม

ดูเหมือนว่า การออกไปสร้างครอบครัวนั่นเรื่องหนึ่ง แต่การที่รู้ว่าเติบโตเกินกว่าจะกลับไปเกาะอยู่กับอกแม่

นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องน่ายินดี

ลูกค่าง ลูกชะนี จะอยู่กับอกแม่ราวสองปี

มีบางตัวมีโอกาสอยู่จนครบเวลา มีไม่น้อยถูกพรากจากอกแม่

โดน “พราก” ในวันที่แม่ถูกยิงตาย

 

“พวกค่าง พวกชะนีนี่ มันห่วงลูกมากกว่าตัวเอง” อาแซเล่าให้ฟัง

“เราเคยยิงแม่ค่างที่มีลูกอยู่ที่อก ก่อนจะตกจากกิ่งไม้ มันส่งลูกให้อีกตัวรับไว้ ส่งไปเป็นทอดๆ และรีบหนีไป” อาแซเล่าอย่างเห็นภาพ

ภาพความห่วงใยของพ่อ-แม่และลูกสัตว์ ทำให้ใจอ่อนได้เสมอ

ใจอ่อน แม้ว่าจะถือปืนอยู่ในมือ

“เราเห็นอย่างนั้น ก็สัญญากับตัวเองว่า จะไม่ยิงค่างอีก จริงๆ ก็เลิกยิงสัตว์ทั้งหมดนั่นแหละ”

บางคน เรื่องราวบางเรื่องก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนัก เรื่องเล็กๆ บางเรื่องก็ทำให้ชีวิตบางคนเปลี่ยนวิถี

 

อยู่ในป่า บนดอย ในวันที่สายลมหนาวเดินทางมาถึง ผมนึกถึงทิวเขาบูโด นี่จะเป็นช่วงเวลาที่สายฝนจริงจังกระหน่ำ

ผมติดต่อถามข่าวคราวกับมัสบูดบ้าง

เขาถามผมบ่อยๆ ว่า เมื่อไหร่จะมา พวกเราคิดถึง เราอยู่ห่างไกลนับพันกิโลเมตร

ช่วงเวลาที่ร่วมงานกันที่นั่น มัสบูดแสดงให้ผมเห็นถึงทักษะการใช้ชีวิตในป่าที่ได้รับถ่ายทอดมาอย่างเชี่ยวชาญ

เป็นเด็กหนุ่มที่พ้นจากอกแม่ เพื่อดำเนินวิถีชีวิตของตัวเองแล้ว เหมือนๆ กับลูกค่าง ลูกชะนี ซึ่งผ่านช่วงเวลาสองปีที่เกาะติดกับอกแม่แล้ว

 

ผมนึกถึงลูกชะนี ลูกค่าง คิดถึงมัสบูดที่พ้นจากอกแม่

ผมนึกถึงคนจำนวนไม่น้อย ที่ดูเหมือนยัง “เกาะติด” อยู่กับอกแม่

ทั้งๆ ที่เลยช่วงเวลานั้นมาเนิ่นนานแล้ว…