POLL ไม่ต้อง พี่ ‘เชือด’ เอง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

POLL ไม่ต้อง

พี่ ‘เชือด’ เอง

 

ต้องถือว่า ปรากฏการณ์ในห้วงสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคม

ทำให้เกิดความพลิกผันอย่างมากในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ปรากฏการณ์แรก ก็คือภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เสร็จสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ “เรียก” หรือบางกระแสระบุ “เป็นการขอเข้าพบ” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

แม้ว่านายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพยายามอธิบายว่า การหารือนี้เป็นการคุยเรื่องงาน ไม่ได้เกี่ยวการเมือง

ที่นายธนกรช่วยออกตัวไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูกย้อนเกล็ด “ครอบงำ” พรรค พปชร.ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

แต่กระนั้นบรรดารัฐมนตรีที่เข้าพบ ล้วนถือเป็น “สายตรง” ของนายกรัฐมนตรี

การ “หารือ” จึงไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องการทำงานเท่านั้น

แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกี่ยวพันกับเรื่องภายในพรรค พปชร.

 

ปรากฏการณ์ที่สอง คือคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันเดียวกัน

ปฏิเสธกระแสข่าวการทำโพลเพื่อประเมินการทำงานของ ส.ส.

โดยระบุว่า “ไม่ทำ ใครทำ ผมไม่ได้สั่งใครจะทำ”

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตรดังกล่าวดูเหมือนจะสวนกับกระแสข่าวการจัดทำ “โพล” ที่ออกมาจากฝั่งฟากของเลขาธิการพรรคอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

โดยก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสระบุอย่างชัดเจนว่า การทำโพลของพรรค พปชร.เป็นดำริของ พล.อ.ประวิตร

เพื่อเป็นการประเมินการทำงานของ ส.ส. ถือเป็นการหาจุดอ่อนของพรรคเพื่อนำไปแก้ไขให้พรรคเข้มแข็ง

 

ขณะเดียวกันยังมี “ข่าวปล่อย” ออกจาก พปชร. บอกเล่าถึงเบื้องหลังการทำโพล พปชร. ว่าสืบเนื่องจากการประชุมระดับหัวหน้าภาค 10 ภาค ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งมีการหยิบยกการทำงานของ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้มาพูดค่อนข้างมาก

ซึ่งแกนนำบางคนระบุมีเสียงสะท้อนถึงการลงพื้นที่ของ ส.ส.ที่บางคนเพิ่งจะมาลงพื้นที่ก่อนช่วงโควิดระบาดไม่นาน

พร้อมกับมีการอ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประวิตรว่า “รักจะเป็นนักการเมือง แต่ไม่รักที่จะทำพื้นที่ ไม่ทำงานในสภา แล้วจะเป็นไปทำไม”

นั่นจึงมีการเสนอให้ประเมินการทำงานของ ส.ส.เพื่อส่งสัญญาณว่าจะต้องปรับปรุงการทำงานลบจุดอ่อนของตัวเอง

โดยมอบหมายหน่วยงานของรัฐแต่ละพื้นที่ดำเนินการ อาทิ หน่วยงานด้านการศึกษา และหน่วยงานความมั่นคง เป็นต้น เป็นผู้ทำโพล

แสดงว่า พล.อ.ประวิตรรับรู้เรื่องโพลตั้งแต่ต้น

 

ยิ่งกว่านั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่าการทำโพลนั้น แกนนำในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสให้น้ำหนักกับพื้นที่ภาคใต้เป็นพิเศษ

เนื่องจากมองว่า ส.ส.ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับเลือกมาเพราะกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์

จึงให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มากเป็นพิเศษ มิใคร่จะมาขึ้นตรงกับฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ มีการอ้างผลโพลที่ภาคใต้ปรากฏว่า พปชร.มี ส.ส.ทั้งหมด 14 คน แต่มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์เพียง 4 คนเท่านั้น

ข่าวนี้ทำให้ ส.ส.กลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นกับ ร.อ.ธรรมนัส ต่างตั้งข้อสังเกตว่าโพลถูกใช้เป็นเงื่อนไขกดดันให้ ส.ส.มาขึ้นตรงกับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส แลกกับการถูกส่งลงสมัครในครั้งต่อไปหรือเปล่า

กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสรีบปฏิเสธกระแสข่าวนี้ โดยชี้ว่า การทำโพลมีจุดประสงค์เพื่อให้ ส.ส.ทุกคนแอ๊กทีฟทำงานเท่านั้น มิได้เป็นเรื่องของ ร.อ.ธรรมนัส

และเมื่อผล “โพล” ออกมาอย่างไรคนที่จะชี้ขาดก็คือ พล.อ.ประวิตร

 

สังเกตว่า ทางฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสแอบอิง พล.อ.ประวิตร เพื่อความชอบธรรมในการทำโพลมาโดยตลอด

และมองว่าฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสใช้ประเด็นนี้ “รุก” ทางการเมืองภายในพรรค

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประวิตรออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ทำ ใครทำ ผมไม่ได้สั่งใครจะทำ”

จึงทำให้เกิดมีคำถามขึ้นมาว่าเช่นนี้ มีใครแอบอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตรหรือไม่

และที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน

แต่จู่ๆ ไฉน พล.อ.ประวิตรมาพลิกท่าทีไปอีกข้าง

ไม่ได้เอออวยกับฝ่ายของ ร.อ.ธรรมนัสเช่นเดิม

 

นี่ย่อมถือเป็น “สัญญาณ” อันแหลมคมในพรรค พปชร.

แหลมคมว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว กลุ่มพี่น้อง 3 ป. คือ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ว่าขัดแย้งกัน

ที่สุดได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ พล.อ.ประวิตรในกรณีโพล เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า บทบาทของ ร.อ.ธรรมนัสในพรรค พปชร.ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

โดยมีปรากฏการณ์อื่นมาร่วมยืนยัน

นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่ 6 รัฐมนตรีเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วนำมาสู่กระแสข่าวว่าเพื่อยุติปัญหาความแตกแยกจะต้องปรับโครงสร้างพรรค พปชร.อีกครั้ง

โดยจะให้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่มีอยู่ 26 คน ลาออกให้เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางเลือก กก.บห.ชุดใหม่

นั่นหมายความว่า ร.อ.ธรรมนัสจะต้องพ้นจากเลขาธิการพรรคไปโดยปริยาย

ถือเป็นการขจัดหอกข้างแคร่ของ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป

 

ในเบื้องต้นมีกรรมการบริหารพรรค พปชร.ที่เซ็นใบลาออกเรียบร้อยแล้ว 9 คน ได้แก่ นายสุริยะ นายสมศักดิ์ นายอนุชา นายชัยวุฒิ นายสุชาติ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และนายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช

ซึ่งล้วนไม่ได้เป็นสายตรง ร.อ.ธรรมนัส

ทั้งนี้ มีการระบุว่าหากการปรับโครงสร้างพรรคสำเร็จ คนใดคนหนึ่งระหว่างนายสุชาติ ชมกลิ่น และนายสันติ พร้อมพัฒน์ จะเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค

เพื่อให้โครงสร้างใหม่เป็นเนื้อเดียวกับพี่น้อง 3 ป.

การันตีว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องมีพรรค พปชร.สนับสนุน

มิใช่ก้ำกึ่งหรือถูกนำมาต่อรองในเกมอำนาจอย่างที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสทำอย่างที่ผ่านมา

ต้องไม่ลืมว่า สภากำลังเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้

และรัฐบาลต้องนำกฎหมายสำคัญเข้าสภาอยู่หลายฉบับ จำเป็นจะต้องได้ความมั่นใจจากสภาว่าจะต้องสนับสนุน มิฉะนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะหากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ไม่สุกงอมกับ พล.อ.ประยุทธ์

และไม่ยอม “จบ” ยังเปิดเกมรุกเพื่อกระชับอำนาจอยู่ตลอดเวลา

ความเป็นเอกภาพก็จะไม่เกิด นี่เองทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องชิงเผด็จศึก

 

ซึ่งการที่สามารถดึงให้ “พี่ป้อม” กลับมายืนเคียงข้าง

ทำให้เกมในพรรคเปลี่ยน และนั่นทำให้ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ ร.อ.ธรรมนัส

ซึ่งหากสามารถขจัด ร.อ.ธรรมนัสจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้สำเร็จ

นั่นย่อมหมายถึงเส้นทางและความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ประสบผลสำเร็จ และมั่นคงต่อไป

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสก็ต้องชอกช้ำซ้ำสอง

หลังจากครั้งแรกเจ็บปวดกับการถูก “ปลด” จากรัฐมนตรี พร้อมนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

ตอนนี้ต้องถูกทำให้พ้นจากเลขาธิการพรรคอีก

ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับยาก

ยิ่งช่วงที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสได้พยายามรุกกลับโดยเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรพร้อมจะยืนเคียงข้าง

ขณะเดียวกันก็งัดกลยุทธ์ทางการเมือง ไม่ว่าการวัดกำลังในพรรคกับคนในทำเนียบ

การสกัดคนที่ตกเป็นข่าวว่าจะเป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาถ่วงดุลในพรรค ไม่ว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายฉัตรชัย พรหมเลิศ

ขณะเดียวกันก็ถูกจับตาว่าใช้เกมโพลเป็นเครื่องมือในการดึงให้ ส.ส.เข้ามาในสังกัด

 

การรุกอย่างต่อเนื่องดังกล่าวย่อมทำให้ ร.อ.ธรรมนัสมั่นใจว่า จะมีบทบาทสำคัญใน พปชร.ได้ต่อไป

อาจไม่นึกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะฉวยโอกาสโต้กลับ โดยมิต้องพึ่งโพลใดๆ

แต่อาศัยการต่อสายเข้าไปยังกลุ่มต่างๆ ในพรรค พปชร. เช่น กลุ่มสามมิตร เข้ามาถ่วงดุล

และที่สำคัญ สามารถสามัคคีได้ในเหล่าพี่น้อง 3 ป. ทำให้ พล.อ.ประวิตรกลายเป็นอื่นกับ ร.อ.ธรรมนัส

พร้อมกับไฟเขียวให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.ใหม่

แม้จะมีบางกระแสระบุว่า พล.อ.ประวิตรยังไม่สุกงอมถึงขนาดจะตัดขาดกับ ร.อ.ธรรมนัส

โดยเฉพาะหลังจาก ร.อ.ธรรมนัสได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร

ทำให้ พล.อ.ประวิตรโทรศัพท์ไปยังกรรมการบริหารพรรคทุกคนด้วยตัวเอง ขอให้ยับยั้งเซ็นใบลาออก ให้มาคุยกันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรควันที่ 28 ตุลาคมก่อน

ดูแล้วอาจเป็นถนอมน้ำใจฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสที่ทำงานร่วมกับ พล.อ.ประวิตมาตลอด

แต่จะถึงขนาดยุติการปรับโครงสร้างพรรคใหม่เลยคงยาก

เพราะเกมปลดหอกข้างแคร่ เปิดขึ้นแล้ว

เปิดโดยไม่ต้องพึ่งโพลใดๆ แต่เหล่าพี่ๆ โดยเฉพาะ ป.ประยุทธ์ ดึงเอา ป.ประวิตร และ ป.ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาร่วมลงมือเชือดเอง

ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสยากจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้

 

ร.อ.ธรรมนัสก็ดูจะทำใจระดับหนึ่ง โดยบอกว่า คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคตัดสินใจ

ไม่ได้รู้สึกบั่นทอนอะไร

และจะไม่ดำเนินการอะไรเพื่อตอบโต้

อย่างไรก็ตาม ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์คงประมาทไม่ได้ เพราะคนอย่าง ร.อ.ธรรมนัสก็ใช่ตะเกียงที่ไร้น้ำมัน

ด้วยยังมี ส.ส.ในสังกัดไม่น้อย

และอาจใช้สภาเป็นเวทีเพื่อตอบโต้อีกฝั่งฟากได้

ปฏิกิริยาของนายวิรัช รัตนเศรษฐ คนในฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส และเป็นประธานวิปที่คุมเสียงในสภา ได้พูดในเชิงปริศนาไว้แล้วว่า “ถ้าแก้ไขแล้วเดินได้ดีควรแก้ไข แต่ถ้าแก้แล้วยิ่งวุ่นวายก็ไม่ควร ยิ่งใกล้เปิดประชุมสภา อะไรที่ขัดแย้ง งดได้ก็ดี”

ถือเป็นการเตือนล่วงหน้า

นั่นคือ แม้ 3 ป.จะปลด ร.อ.ธรรมนัสพ้นเลขาธิการพรรคได้

แต่ก็ใช่เกมจะจบ!!