ฟรานเซส เฮาเกน อดีตพนักงานผู้กล้าเปิดโปง ‘เฟซบุ๊ก’/บทความต่างประเทศ

Facebook whistleblower Frances Haugen leaves the Houses of Parliament in central London on October 25, 2021 after giving evidence to members of the UK parliament on the Joint Committee on the draft Online Safety Bill. - Facebook whistleblower Frances Haugen told UK lawmakers Monday that posting content featuring anger and hate "is the easiest way to grow" on the social media platform as she urged better regulation. The ex-Facebook employee, who earlier this year shared a trove of internal documents alleging it knew its products were fueling hate and harming children's mental health, argued the platform was "unquestionably" fuelling hate. (Photo by Tolga Akmen / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

ฟรานเซส เฮาเกน

อดีตพนักงานผู้กล้าเปิดโปง ‘เฟซบุ๊ก’

 

ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งานทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยได้เห็นปรากฏการณ์ “เฟซบุ๊กล่ม” เป็นเวลายาวนานถึง 6 ชั่วโมง สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีจำนวนมากถึง 2,700 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ “ปัญหาใหญ่” ที่สุดที่เฟซบุ๊กกำลังเผชิญในช่วงเวลานั้น

เนื่องจากตั้งแต่เดือนกันยายน “ฟรานเซส เฮาเกน” อดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาเปิดเผยเอกสารภายในจำนวนหลายพันหน้า กับสื่อหลายสำนัก

พร้อมกับกล่าวหาสื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ว่า ปล่อยปละละเลยที่จะจัดการกับปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน การสร้างความเกลียดชัง และความรุนแรง แม้จะรู้ดีว่ามีปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ตาม

เฮาเกนถึงกับกล่าวหาเฟซบุ๊กอย่างดุเดือดว่า ให้ความสำคัญกับ “ผลกำไรมากกว่าสังคม”

 

ฟรานเซส เฮาเกน ทำงานกับเฟซบุ๊กเป็นเวลาเกือบ 2 ปีในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ โดยถูกมอบหมายให้ทำงานในทีม Civic integrity ทีมงานที่มีบทบาทในการตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนในเฟซบุ๊ก และทำให้แน่ใจว่าเฟซบุ๊กจะไม่ถูกใช้เป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้น เฮาเกนวิศวกรหญิงวัย 37 ปี นับได้ว่าประสบความสำเร็จและผ่านสายงานด้านเทคโนโลยีมาอย่างโชกโชน เคยผ่านงานผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายบริษัท ในจำนวนนั้นรวมไปถึง Google, Pinterest และ Yelp และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น “หาคู่” ที่ปัจจุบันพัฒนามาเป็นแอพพ์หาคู่ชื่อดังอย่าง Hinge ด้วย

เฮาเกนสนใจในเรื่องจัดการกับข้อมูลบิดเบือนในโลกออนไลน์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเอง โดยเฮาเกนเล่าย้อนไปในปี 2014 ที่เธอเคยเห็นคนใกล้ตัวตกเป็นเหยื่อหมกมุ่นอยู่กับ “กระทู้” ในโลกออนไลน์ที่เผยแพร่ “ทฤษฎีสมคบคิดชาตินิยมคลั่งคนขาว” มาแล้ว

“มันเป็นเรื่องของการศึกษาเรื่องข้อมูลบิดเบือน และอีกเรื่องก็คือการที่ต้องสูญเสียใครบางคนไปกับมัน” เฮาเกนให้สัมภาษณ์กับเดอะวอลสตรีตเจอร์นัล

และว่า “มีคนอีกมากที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้แต่กลับมองเห็นแต่ด้านดีของมัน”

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เฮาเกนไม่ลังเลที่จะตอบรับเฟซบุ๊กที่ยื่นข้อเสนอให้เธอไปร่วมงานในปี 2018 โดยเธอยืนยันที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “ประชาธิปไตย” และการจัดการกับ “การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” ให้กับเฟซบุ๊ก

 

ในปี 2019 เฮาเกนได้รับมอบหมายให้ร่วมทีม Civic integrity โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบการแทรกแซงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ทีมงานของเฮาเกนก็ถูกยุบลงไม่นาน หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2020 สิ้นสุดลง

เฮาเกนเปิดเผยผ่านรายการ ’60 Minute’ ว่า เธอเริ่มหมดศรัทธากับเฟซบุ๊กไม่นานหลังจากทีมงานของเธอถูกยุบลงไป แม้เฟซบุ๊กจะออกมาชี้แจงภายหลังว่า จริงๆ แล้วทีมงานถูกกระจายไปตามแผนกต่างๆ แต่เฮาเกนก็ยืนยันว่า เฟซบุ๊กปล่อยปละละเลยในการจัดการกับข้อมูลบิดเบือนที่ถูกเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง

“มันมีการทับซ้อนกันระหว่างอะไรที่ดีสำหรับสังคม และอะไรที่ดีกับเฟซบุ๊ก” เฮาเกนระบุ และว่า “หลายต่อหลายครั้งเฟซบุ๊กเลือกผลประโยชน์ของตัวเองก่อน อย่างเช่น การกอบโกยเงิน”

เฮาเกนยังกล่าวหาด้วยว่า เฟซบุ๊กโกหกเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดการกับเนื้อหาสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์

นอกจากนี้ ยังกล่าวหาเฟซบุ๊กด้วยว่า เฟซบุ๊กเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อจลาจลที่ “อาคารรัฐสภาสหรัฐ” ในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมาด้วย หลังจากเฟซบุ๊กเลือกที่จะปิดระบบความปลอดภัยหลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง

 

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฮาเกนยื่นเรื่องร้องเรียน 8 เรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐ โดยกล่าวหาเฟซบุ๊กว่าไม่ได้รายงานถึงความบกพร่องดังกล่าวต่อนักลงทุนและสาธารณชน

เฮาเกนไม่หยุดแค่นั้น ยังเดินหน้าเผยแพร่เอกสารภายในของบริษัทเฟซบุ๊กอีกนับพันหน้าให้กับ “เดอะวอลสตรีตเจอร์นัล” ตามมาด้วยความร่วมมือกับอีกหลายสื่อทั้งเล็กและใหญ่ที่ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารดังกล่าวและรายงานข้อมูลที่ค้นพบตามมาอีกหลายกรณี

เอกสารหลุดดังกล่าวถูกเรียกรวมๆ ว่า “เฟซบุ๊กเปเปอร์” ที่เผยให้เห็นว่า เฟซบุ๊กรับรู้ถึงผลกระทบต่อสังคม เช่น “อินสตาแกรม” ที่ส่งผลเสียต่อเด็กหญิงจำนวนมาก, อัลกอริธึ่มของเฟซบุ๊กที่หวังจะให้ผู้ใช้ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นแต่กลับส่งผลให้สร้าง “ความโกรธเกรี้ยว” กับผู้ใช้งาน

เอกสารดังกล่าวเปิดเผยด้วยว่า เฟซบุ๊กไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสมหรือถึงขั้นไม่ทำอะไรเลยกับการที่พนักงานชี้เป้าเครือข่ายค้ามนุษย์ กลุ่มยุยงปลุกปั่นให้ก่อความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อย กลุ่มค้าอวัยวะ สื่อลามกอนาจาร

หรือแม้แต่การที่รัฐจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น

 

แม้เฟซบุ๊กจะออกมาชี้แจงในข้อกล่าวหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าวิกฤตด้านการประชาสัมพันธ์ของเฟซบุ๊กในเวลานี้จะยังคงดำเนินต่อไป

ท่ามกลางความกังขาของรัฐบาลหลายๆ ชาติที่มีต่อเหล่าสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น และกำลังหาวิธีออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการสร้างความเกลียดชัง ข้อมูลบิดเบือน การเหยียดผิว รวมไปถึงสื่อที่ส่งผลกระทบกับเด็ก

เฮาเกนที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวยังคงเดินหน้าต่อ โดยหลังจากเข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐแล้ว เฮาเกนยังมีกำหนดการทัวร์ยุโรป โดยจะเข้าให้ข้อมูลกับรัฐสภาอังกฤษ มีแผนที่จะร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ของทางการเบลเยียม ฝรั่งเศส และเยอรมนี รวมไปถึงเข้าร่วมการประชุมในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสด้วย

การเดินหน้าท้าชนกับเฟซบุ๊กของเฮาเกนจะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เฮาเกนเคยบอกใบ้ถึงเป้าหมายในภารกิจของเธอในครั้งนี้เอาไว้ในข้อความที่เธอเคยฝากเอาไว้ในระบบภายในก่อนที่จะก้าวเท้าออกมาจากเฟซบุ๊ก

“ฉันไม่ได้เกลียดเฟซบุ๊ก ฉันรักเฟซบุ๊ก ฉันจึงอยากที่จะปกป้องมันไว้” เฮาเกนระบุ