โจทย์ ‘ประชาธิปไตย’ ยากขึ้น/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

โจทย์ ‘ประชาธิปไตย’ ยากขึ้น

 

หลังจากสำรวจวัดคะแนนนิยม “ประชาธิปัตย์” ในภาคใต้ “นิด้าโพล” ต่อด้วยสำรวจ “เพื่อไทย” ที่อีสาน น่าจะหมายถึงต้องการรู้ว่าพื้นที่ฐานเสียงเคยแน่นที่สุดของพรรคใดพรรคหนึ่ง ถึงวันนี้ยังแน่นอยู่อีกหรือไม่

จากภาคใต้ที่กระแส “ประชาธิปัตย์” สั่นคลอนไม่น้อย

ที่อีสานสำหรับ “เพื่อไทย”

ในคำถาม “ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง ท่านเคยเลือกพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน หรือพรคเพื่อไทยหรือไม่”

หากอธิบายด้วยคำว่า “ในวงเล็บ” คือ “เพื่อไทย พลังประชาชน ไทยรักไทย” คือพรรคเดียวกัน ที่ต้องเปลี่ยนชื่อพรรคเพราะเป็นการเมืองในประเทศที่ให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสามารถยุบพรรคการเมืองได้ ในสถานการณ์ที่เป็นพรรคที่ประชาชนเลือกผู้สมัครของพรรคนั้นเข้ามาเป็น ส.ส.มากที่สุด จนดูเหมือนว่าหากปล่อยไปเช่นนี้พรรคคู่แข่งจะไม่มีโอกาสชนะได้เลย

ทั้ง 3 พรรคโดยเนื้อแล้วคือ “พรรคเดียวกัน”

คนอีสานที่ตอบโพลนี้ ร้อยละ 81.14 เคยเลือกพรรคนี้ แปลว่าฐานเสียงอีสานสำหรับ “เพื่อไทย” นั้นท่วมท้น

ตั้งคำถามเฉพาะคนในร้อยละ 81.14 ดังกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ร้อยละ 70.59 ตอบว่าเลือกเพื่อไทย

 

ความน่าสนใจอยู่ที่คำถาม “ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ท่านจะยังลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่” แล้วร้อยละ 48.33 ตอบว่าเลือกพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 37.12 ตอบยังไม่แน่ใจ, ร้อยละ 12.35 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 0.91 จะไป Vote No ไม่เลือกใคร, ร้อยละ 0.76 ไม่ตอบ, ร้อยละ 0.53 จะไม่ไปเลือกตั้ง

ที่ว่าน่าสนใจเพราะร้อยละ 70.59 ที่เคยเลือกเพื่อไทยเมื่อคราวแล้ว เสียงแตก แม้มากที่สุดคือร้อยละ 48.33 ยังเลือกอยู่ แต่ร้อยละ 37.12 เริ่มลังเลและมีโอกาสเปลี่ยนใจ ขณะที่ร้อยละ 12.35 ตัดสินใจตีจากไปเรียบร้อย

หากการเลือกตั้งคะแนนออกมาตามผลโพล จะมีความหมายต่อการเมืองไทยอย่างมาก

หนึ่ง อีสานเป็นพื้นที่ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง เพราะมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด

สอง การเมืองไทยยังเคลื่อนในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกเข้ามามีบทบาทชี้เป็นชี้ตายคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่สูงยิ่ง

วุฒิสภาชิกที่ทำหน้าที่แบบ “ฝักถั่ว” แล้วตามคำสั่งของผู้มีอำนาจล้วนๆ ไม่เปิดโอกาสให้เหตุผลอื่นมาเกี่ยวข้องกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ดีงามต่อความเป็นไปของประเทศเพียงใดก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปสู่อำนาจที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดได้ พรรคการเมืองที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับผู้กำหนดทิศทางวุฒิสภา พรรคการเมืองที่ยืนหยัดอยู่กับอำนาจประชาชนจะต้องได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลาย

รวมกันแล้วต้องมากจนไม่ต้องอาศัย หรือเปิดทางให้วุฒิสภาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกผู้นำประเทศซึ่งโดยความชอบธรรมควรจะเป็นอำนาจที่มาจากประชาชนเท่านั้น

 

เพราะอีสานมีความสำคัญ เนื่องจากเคยเป็นฐานที่หนักแน่นของพรรคที่ไม่อาศัยกลไกนอกอำนาจประชาชนมาอำนวยชัยชนะ

ไม่เป็น ส.ส.ที่เข้ามาสมรู้ร่วมคิดกับนักการเมืองที่เสวยวาสนาจากการแต่งให้มารับใช้กลุ่มอำนาจ

การรักษาฐานเสียงอีสานไว้กับพรรคการเมืองที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับพวกที่ซูเอี๋ยกับอำนาจนอกระบบ จึงเป็นความจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

ประชาธิปไตยอันเป็นระบบการเมืองที่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ และผลประโยชน์ผูกขาดมากที่สุด

ผลสำรวจนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญ ว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะรับมือความเปลี่ยนแปลงของกระแสนในอีสานได้อย่างไร

ด้วยการผนึกกำลังกันแบบไหน