อาเซียน จุดเปลี่ยนและผลประโยชน์/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อาเซียน

จุดเปลี่ยนและผลประโยชน์

 

การที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย นายกรัฐมนตรีตั้งเองของเมียนมาถูกอาเซียนปฏิเสธเข้าร่วมประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ทางออนไลน์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก่อตั้งอาเซียนที่ไม่เชิญประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม

ไม่เพียงเท่านั้น ยังแสดงถึงผลประโยชน์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันในกรณีรัฐประหารเมียนมา

น่าสนใจทิศทางใหม่ทิศทางไหนจะเกิดขึ้นได้บ้างทั้งภายในประเทศสมาชิกและภูมิภาค

 

รัฐประหารเมียนมา

อาเซียนที่ไม่เหมือนเดิม

เมื่อเกิดรัฐประหารเมียนมาเมื่อต้นกุมภาพันธ์ปีนี้ ทั่วโลกและบ้านเราเองต่างสรุปว่า กฎเหล็กแห่งอาเซียนยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ อาเซียนต้องมีฉันทานุมัติ และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ซึ่งกฎเหล็กทั้ง 2 แห่ง อาเซียนยังเหนียวแน่นในช่วงแรกเมื่อเกิดการรัฐประหาร

แต่โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดและผลประโยชน์อันคล้อยตามความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้กฎเหล็กแห่งอาเซียนกระทบกระเทือน

ด้วยที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนตัดสินใจไม่เชิญนายกรัฐมนตรีตั้งเอง มิน อ่อง ลาย เป็นตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมประชุมซัมมิตทางออนไลน์ 28-29 ตุลาคมนี้

โดยให้เหตุผลว่า เมียนมาไม่ได้ปฏิบัติตามฉันทานุมัติ 5 ประการตามที่อาเซียนตกลงให้รัฐบาลเมียนมาปฏิบัติตามหลังเกิดรัฐประหารกุมภาพันธ์

อันก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน ผู้คนล้มตายจำนวนมาก มีการจับกุมฝ่ายรัฐบาลเดิมและฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

ที่จริงหมายความว่า เกิดสงครามกลางเมืองในเมียนมา ซึ่งอาเซียนเกรงว่าจะเกิดการปราบปรามประชาชน จะเกิดความทุกข์จากโรคระบาดโควิด-19 ความอดอยากและโศกนาฏกรรม อันก่อผลสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค

แน่นอน นายกรัฐมนตรีตั้งเองเมียนมาโกรธมากๆ รัฐมนตรีต่างประเทศคู่กายท่านก็โกรธมากๆ และออกแถลงการณ์ประณามมติประวัติศาสตร์อาเซียน เรื่องไม่เชิญตัวแทนรัฐบาลเมียนมาซึ่งก็คือนายสูงสุดของพวกเขาเข้าประชุมซัมมิต เราควรดูว่า

อะไรคือสาเหตุสำคัญของมติประวัติศาสตร์ที่ว่านี้

 

เครดิตและผลประโยชน์

ความจริง มติประวัติศาสตร์ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โครงสร้างและพัฒนาการของอาเซียนนับเป็นอุปสรรคพื้นฐานต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ

กล่าวคือ โครงสร้างการเมือง อาเซียนยังปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวคือ สปป.ลาวและเวียดนามยังปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ บรูไนปกครองด้วยระบอบสุลต่าน กัมพูชาปกครองด้วยระบบผู้นำเดี่ยว ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ครอบงำอย่างเหนียวแน่น

ในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จะมีที่กระบวนการประชาธิปไตยต่อเนื่องก็แค่อินโดนีเซีย

แต่อินโดนีเซียยังมีโครงสร้างและพัฒนาการของศาสนา ชาติพันธุ์ เกาะนิยม เจ้าพ่อเจ้าแม่ อันยังเป็นฐานรองรับระบอบอำนาจนิยมให้เฟื่องฟูต่อเนื่อง ยังไม่รวมการแทรกแซงและแข่งขันของชาติมหาอำนาจภายนอกได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ที่มีผลประโยชน์ทางทหารและเศรษฐกิจในภูมิภาคและพอใจสนับสนุน กองทัพและกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งคือส่วนสำคัญของระบอบอำนาจนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ดังนั้น มติแห่งประวัติศาสตร์อาเซียนนี้ มิได้บ่งบอกถึงแนวคิดหัวก้าวหน้าของชนชั้นนำทางนโยบายของอาเซียนเลย

ชนชั้นนำทางนโยบายอาเซียนเพียงปกป้องผลประโยชน์ของตนเองที่อาจได้รับการกระทบกระเทือนจากรัฐประหารเมียมมา

 

ผลประโยชน์ร่วมชั่วคราว

ชนชั้นนำทางนโยบายของอาเซียนเกือบทุกประเทศ ยังเว้นเมียนมา เห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมากำลังก่อผลกระทบแล้วต่อความมั่นคงภูมิภาค รวมทั้งเอกภาพ (unity) เครดิต (credibility) และความอยู่ตรงกลาง (centrality) ของอาเซียน

ด้วยว่า หากอาเซียนปล่อยเหตุการณ์ดำเนินไป อันเท่ากับยอมรับรัฐประหารเมียนมา ซึ่งคือยอมรับการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร การจับกุม คุมขัง ทรมาน ฝ่ายต่อต้านซึ่งก็คือนักการเมืองและรวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย

ประชาคมโลกและแม้แต่ประชาคมประชาชนอาเซียนย่อมวิจารณ์ความด้อยประสิทธิภาพ และย้ำอีกว่า อาเซียนคือองค์กรระหว่างประเทศของชนชั้นนำต่อไป

ด้วยผลประโยชน์ร่วมดังกล่าว ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึง ไม่เชิญมิน อ่อง ลาย เข้าประชุมซัมมิต ด้วยเสนอฝ่ายที่ไม่ใช่การเมือง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าคือใคร เข้าร่วมแทน

อินโดนีเซียและมาเลเซีย นอกจากบุคลิกความเป็นผู้นำและความสามารถส่วนตัวของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียแล้ว ความกระตือรือร้นและการทูตเคลื่อนที่ของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียต่อประเด็นเมียนมา จึงแจ่มแจ้งและชัดเจนในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมียนมา รวมทั้งสิงคโปร์ด้วย

การเดินทางปรึกษา พูดคุยทั้งกับประเทศสมาชิกอาเซียนและชาติมหาอำนาจต่างๆ ของสองรัฐมนตรีต่างประเทศจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และกลายเป็นความโดดเด่นแห่งวงการทูตในระดับโลก

จำกันได้ไหมที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียพยายามเดินทางเข้าเมียนมา แต่ถูกปฏิเสธ

จำได้ไหมที่มีการพูดคุยที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียและไทย

แม้ระยะทางห่างไกลกันระหว่างเมียนมากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผลจากรัฐประหารเมียนมาต่อมาเลเซียและอินโดนีเซียคือ คลื่นผู้อพยพซึ่งมีชาวโรฮิงญาอยู่ด้วย ออกมามาเลเซียและอินโดนีเซียก็มากมายอยู่แล้ว

นี่ยิ่งมีทั้งชาวโรฮิงญา แรงงานอพยพ ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและพวกก่อกวนทางการเมือง แล้วทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียจะรับสภาพความวุ่นวายนี้ต่อไปได้หรือ

 

ธุรกิจภายในอาเซียนสั่นสะเทือน

การรัฐประหารเมียนมาครั้งนี้ได้เปลี่ยนเมียนมาจาก ทำเลทอง การลงทุนของอาเซียนไปเป็นนรกชั่วข้ามคืน

สิงคโปร์ซึ่งเคยส่งออกไปเมียนมามูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ถ่านหิน น้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร ถึงกลับชะงักงันด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในเมียนมา ค่าเงินจ๊าตลดลงอย่างฮวบฮาบ

หากปล่อยไปเช่นนี้ เศรษฐกิจส่งออกของสิงคโปร์ย่ำแย่ไปด้วย

ในเวลาเดียวกัน หากปล่อยรัฐประหารครองเมืองเมียนมาต่อไป การบอยคอตและแซงก์ชั่นสินค้าและบริการเมียนมาอาจกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การทำธุรกรรมสิงคโปร์ที่สัมพันธ์กับเมียนมาไปด้วย

เมียนมากลับเป็น นรก มีจริงแม้แต่กับเวียดนาม

ก่อนการรัฐประหาร การค้าเวียดนามกับเมียนมาบูมมากๆ ในภาคการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ในเมืองย่างกุ้ง รวมทั้งการลงทุนในภาคโทรคมนาคม ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจทหารเหมือนกัน

การร่วมทุนระหว่าง Viettel ของเวียดนาม และ Mytel ซึ่งเป็นของ Myanmar Economic Corporation-MEC รัฐวิสาหกิจสำคัญของรัฐบาลเมียนมา ย่อมได้รับผลกระทบด้วยการต่อต้านของประชาชนเมียนมาต่อรัฐวิสาหกิจทหาร

แท้จริงแล้ว เวียดนามเองซึ่งไม่ได้บริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยปกติไม่ได้ห่วงใยการรัฐประหารของทหารในประเทศอื่นๆ แต่เป็นการยากที่ทางการเวียดนามจะชื่นชมและพอใจการยึดอำนาจในสถานการณ์จริง

ตึกต่างๆ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของทั้งเวียดนามและเมียนมาถูกขว้างปาโดยผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

และการลงทุนอื่นๆ ของเวียดนามในเมียนมากำลังยุ่งยากเพราะเหตุรัฐประหาร

 

พี่ไทย

ในระยะแรก เราพอได้ยินภาคเอกชนไทยร้องออกมาเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจของบริษัทในเมียนมาหลังการรัฐประหาร แต่เสียงร้องยังดังต่อไป ท่ามกลางความเงียบงันของภาครัฐ

เข้าใจว่า โลกทัศน์รัฐไทยยังย่ำอยู่กับที่ เรารักเมียนมา เราเป็นเพื่อนบ้านกัน ก็เรามีพรมแดนติดต่อกันหลายพันกิโล ยิ่งฝ่ายความมั่นคงไทยทั้งรักและชื่นชอบกับฝ่ายความมั่นคงเมียนมาด้วยแล้ว โลกทัศน์โบราณนานร้อยๆ ปีจึงครอบงำความเห็นอื่นๆ ไปหมด

ดังนั้น เราจึงเห็นข่าวผู้ใหญ่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ออกอาการตกใจ ฉันทานุมัติแห่งอาเซียนเรื่องไม่เชิญผู้ยิ่งใหญ่เมียนมาร่วมประชุมซัมมิต แล้วแสดงอาการงง งงอะไรครับ เราจึงมองไม่เห็นและไม่ได้ยินอะไรเลยถึงแนวทางที่ควรจะเป็นในการปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยจากวิกฤตการณ์นองเลือดในเมียนมา

อย่าหวังอะไรมากนักว่า เราจะมีส่วนกำหนดทิศทางและความเป็นไปของเมียนมาและภูมิภาค คนไทยใจดี คนไทยอดทนและอดกลั้น แค่ระบอบประยุทธ์ยั่งยืนและคงทนไปอีกนานแสนนาน คนไทยก็ทนได้

ไม่ว่าอาเซียนจะวางประเด็นไม่ใช่ฝ่ายการเมือง เข้าร่วมประชุมซัมมิตปลายเดือนตุลาคมนี้ ชนชั้นนำไทยไม่คิดอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางของไทยและอาเซียนบ้างหรือ

ให้สมกับที่ไทยเราเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนบ้าง