พิมพ์เขียวประเทศไทย ฉบับเศรษฐพุฒิ-วิรไท (2)/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

พิมพ์เขียวประเทศไทย

ฉบับเศรษฐพุฒิ-วิรไท (2)

 

สัปดาห์ก่อนโน้น ผมเขียนเล่าถึงที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย การที่จะสร้างอนาคตประเทศไทยวิเคราะห์ถึงจุดเปราะบางของสังคมไทย

และแนวทางที่จะแก้จุดอ่อนเหล่านั้นเพื่อทำให้ประเทศกลับสู่การพัฒนาหลังโควิด-19 ได้อย่างจริงจัง

การทำให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นและเด้งกลับจากวิกฤตได้อย่างแข็งแรง หรือ resilient นั้น จะต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในทั้ง 3 ด้าน คือ

(1) เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ

(2) เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ

(3) เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ

และมีแนวทางดังต่อไปนี้

 

1.ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้

และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย

โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูลองค์ความรู้ และมุมมองสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหา platform ในการดำเนินการ

2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต

เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ resilient ต่อสถานการณ์ climate change

รวมถึงความท้าทายในด้านอื่นๆ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมที่สูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก

ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ (formalization) มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่างๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ

5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม

6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต

ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ

โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้

7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

อีกท่านหนึ่งที่ผมติดตามข้อเสนอสำหรับอนาคตของประเทศคือ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ

ท่านไปพูดที่งานเสวนา “ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้ และได้พูดถึงการปรับรูปแบบการทำงานอย่างจริงจัง (transformation) เพื่อรับมือกับความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างหลายอย่างที่รุนแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภาพ (productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำและเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น

โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ พบว่าแรงงานส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ส่งผลให้แรงงานมีรายได้และผลิตภาพลดลง แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ รวมถึงการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (technology disruption) ซึ่งกระทบต่อวิธีการทำงาน

โดยเฉพาะวิธีการทำงานของแรงงานทั่วไป เพราะมีการใช้กลไกหุ่นยนต์แทนการทำงานมากขึ้น

และที่สำคัญคือ ภาครัฐยังมีกฎเกณฑ์ ระเบียบการดำเนินงานที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อความท้าทายและบริบทปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างคล่องตัว และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและธุรกิจได้

 

ดร.วิรไทบอกว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นด้วยวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปในรูปแบบตัว K

นั่นคือผู้ที่ร่ำรวยและมีทรัพยากรมากกว่าจะยิ่งมีโอกาสได้ประโยชน์สูงขึ้น

ในขณะที่คนยากจน หรือคนตัวเล็กตัวน้อย จะเสียเปรียบ แข่งขันได้ยากขึ้น และจะยิ่งยากจนลง

พอเกิดวิกฤตโควิด คนวัยทำงานตกงาน ต้องออกจากเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรมกลับสู่ชนบทหลายล้านคน

มีแนวโน้มว่าคนเหล่านั้นจะไม่สามารถกลับมาทำงานในเมืองได้อีกเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

เพราะหลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูง และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น

โจทย์สำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือเราจะทำอย่างไรให้คนในวัยทำงานนับล้านคนเหล่านี้สามารถมีอาชีพอยู่ในชนบทได้อย่างยั่งยืน

คนวัยทำงานที่กลับบ้านจะสามารถสร้างความเข้มแข็ง และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและสังคมชนบทได้ด้วย แก้ปัญหาผลิตภาพต่ำในภาคการเกษตร แก้ปัญหาครอบครัวโหว่กลาง และสังคมชนบทที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ในรอบนี้ คนวัยทำงานที่กลับบ้านพอเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลระดับหนึ่ง มีทักษะการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นได้

ถ้าช่วยกันสร้างโอกาส และพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เขาจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็น change agent ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชนบทไทยได้

 

ดร.วิรไทได้เสนอแนวทางการปฏิบัติงานของข้าราชการในพื้นที่เพื่อฝ่าวิกฤตโควิค-19 ไว้ดังนี้

1) ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเพียงการเยียวยาในช่วงสั้นๆ เพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะมีมากขึ้น

2) ต้องเน้นการทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนให้มากขึ้น มากกว่าการกำหนดสูตรสำเร็จจากส่วนกลาง เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน มีบริบทต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร บุคลากร สภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการ

3) ควรต้องเน้นการสร้างงานในชนบทนับล้านตำแหน่ง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะใหม่หรือ reskilling ให้ตอบโจทย์ของโลกใหม่

โดยหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง แต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ธุรกิจ ประชาสังคม และชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามประเมินผล

เมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข

ถ้าให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ลงมือทำเอง จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน

และอาจจะไม่เกิดประสิทธิผลเมื่อเทียบกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้านสูงกว่าหน่วยงานภาครัฐ

 

สรุปว่า ถ้ารัฐบาลเอาข้อเสนอของทั้งสองท่านเป็นกรอบของการร่าง “พิมพ์เขียวประเทศไทย” ใหม่ที่สอดคล้องกับโลกหลังโควิด-19

จะทำให้เราเดินหน้าได้อย่างเป็นระบบและชัดเจนยิ่งขึ้น

เพราะ “แผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี” ที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงหนักหน่วงและรุนแรงที่เห็นอยู่ทุกวันนี้แล้วแน่นอน