ประเมินความยุติธรรม…ผ่านคดี …ผ่านการชุมนุม 31 ตุลา/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ประเมินความยุติธรรม…ผ่านคดี

…ผ่านการชุมนุม 31 ตุลา

 

ฝ่ายหนุนรัฐประหารติดคุกยากมากๆ

คดี กปปส.มีแกนนำคนไหนถูกจำคุกไปแล้วบ้าง

เมื่อ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการตัดสินคดีที่กระตุ้นความทรงจำของสังคมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คือคดีขัดขวางการเลือกตั้ง จำเลยทั้ง 4 คือ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม แกนนำ กปปส. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า และนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการ เดินทางมาศาล เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีการชุมนุมของ กปปส. สำนวนแรก

คดีนี้ อัยการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2557 กรณีสืบเนื่องจากการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง โดยท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี

จำเลยทั้ง 4 คนก็ได้ประกันตัว คดีเริ่มสืบพยานตั้งแต่ปี 2558-2562 ใช้เวลา 4 ปี

คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พิพากษายกฟ้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กปปส. สืบเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา

ใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก “สนธิญาณ” ไม่รอลงอาญา 1 ปี ฐานขัดขวางการเลือกตั้งเขตดุสิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ข้อหาอื่นยกฟ้อง จำเลย 2-4 ไม่ปรากฏร่วมก่อเหตุ ตัดสินยกฟ้อง

สรุปว่าถึงขณะนี้ 7 ปีผ่านไปไม่มีใครถูกจำคุก เพราะได้ประกันตัว และยังต้องรอการฎีกาอีก

 

12 ปีผ่านไป…

คดีอาญา ยึดสนามบิน

ไม่มีรันเวย์ให้ลง

คดียึดทำเนียบ ลงโทษติดคุก 8 เดือน ติดจริง 3 เดือน แต่คดียึดสนามบิน ตัดสินได้แต่คดีแพ่ง

คดีนี้สืบเนื่องจากการเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิของจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์ปิดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งให้หยุดให้บริการ เพื่อยกระดับการกดดันรัฐบาลนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เป็นผลให้ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสาร ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง

…การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหาย… คำนวณความเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ

ส่วนคดีอาญายึดสนามบิน ขยับช้ามาก

มีจำเลยเป็นแกนนำ พธม. กับพวกแนวร่วม พธม. รวม 98 คน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งอาจจะสืบพยานทุกปากเสร็จได้ภายใน 1-2 ปี คดีนี้จะหาทางลงไม่ง่ายเพราะ เกี่ยวข้องกับกฎหมายสากล ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

แต่เป็นเพราะไทยเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศ 4 ฉบับ คือ

1. อนุสัญญาว่าด้วยความผิดและการกระทำอื่นๆ บางประการ ซึ่งกระทำบนอากาศยาน

2. อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการยึดอากาศยานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ.1970

3. อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน ค.ศ.1971

4. พิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำอันรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ อนุสัญญาและพิธีสารทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวข้างต้นจัดทำขึ้นในกรอบของ International Civil Aviation Organization โดยประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 เป็นกฎหมายรองรับแล้ว

คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างเพราะกระทบกับสายการบินและนักธุรกิจทั่วโลก ค่าเสียหายจริงไม่มีใครรู้ก็เดากันไปว่า 2-3 แสนล้าน ทุกประเทศจับตามองคดีนี้

แต่ที่หนักหนาสาหัส คือคดีปราบประชาชนปี 2553 จนมีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน ตอนนี้ไม่มีใครเป็นผู้ต้องหา และไม่มีศาลไหนรับฟ้อง นี่ก็ 10 ปีผ่านไปแล้ว หรือจะตายฟรีแบบ 6 ตุลาคม 2519

 

ฝ่ายต้านรัฐประหาร…ติดคุกง่าย

น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ แค่ขึ้นเวทีปราศรัยก็มีคนติดคุก เพราะม็อบรุ่นใหม่ใจถึง ทะลุทุกปัญหา ไม่ประนีประนอม ไม่ต้องไปยึดสถานที่ราชการ ยึดสนามบิน ขัดขวางการเลือกตั้งก็ติดคุกได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2563-24 ตุลาคม 2564 นับจาก 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด

ปรากฏว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 153 คน ใน 157 คดี

พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 34 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 38 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 72 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 13 คดี

ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 12 ราย

คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 52 คดี

แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้

– พริษฐ์ ชิวารักษ์ 21 คดี

– อานนท์ นำภา 14 คดี

– ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี

– ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 8 คดี

– เบนจา อะปัญ 6 คดี

– ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี

– พรหมศร วีระธรรมจารี 4 คดี

– ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4 คดี

– ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี

– วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี

– ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี

ทีมงานวิเคราะห์ว่า การใช้กฎหมายนำการเมือง จะทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการประท้วงรัฐบาลปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1,000 คดี เพราะไม่ใช่คดี 112 อย่างเดียว ยังมี ม.116

(มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย 2.เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ 3.เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”)

นอกจากนี้ ยังโดนข้อหาจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การฝ่าฝืนภาวะฉุกเฉินโรคระบาด การใช้เครื่องเสียง ฯลฯ ทั้งคดีเล็กและคดีใหญ่

ถ้าแกนนำถูกตัดสินให้ผิดหลายคดีรวมกัน บางคนคงจะถูกตัดสินจำคุกเป็นร้อยปี เพราะกฎหมายนี้กำหนดว่าแม้ว่าข้อความวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ยังเป็นความผิด และยังมีบทลงโทษรุนแรง จำคุกได้สูงสุดถึงคดีละ 15 ปี

ที่น่าทึ่งที่สุดคือ พวกเยาวชนเหล่านี้ไม่มีกลัว 31 ตุลาคมนี้นัดชุมนุมกันอีกแล้ว ครั้งนี้ยังมีเป้าหมายแก้ไขกฎหมายมาตรา 112

ประเมินแนวรบจาก 31 ตุลาคม 2564 ต่อไป ไม่เพียงเปิดใส่การบริหารของรัฐบาล แต่จะเป็นเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

การปะทะต้องเกิดประกายไฟ จะลุกลามแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะรู้วิธีดับไฟหรือไม่ รัฐบาลนี้อาจทำสถิติใหม่ในการจับกุมนักศึกษาและเด็กนักเรียนที่พูดความจริง แข่งกับพม่า