‘ศิริกัญญา-ชลน่าน’ ประสานเสียง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ไม่หวังพึ่ง ‘โหวตเชิงยุทธศาสตร์’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ศิริกัญญา-ชลน่าน’ ประสานเสียง

‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’

ไม่หวังพึ่ง ‘โหวตเชิงยุทธศาสตร์’

 

ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคมที่ผ่านมา รายการ “The Politics เหตุบ้านการเมือง” ที่เผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูบมติชนทีวี มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

มีคำถามร่วมชุดหนึ่งที่ทางทีมข่าวมติชนทีวีได้ซักถามกับทั้งศิริกัญญาและหมอชลน่าน นั่นคือ คำถามเรื่องความขัดแย้งของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย และแนวโน้มความเป็นไปได้ของการส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบหลบหลีกกัน เพื่อจะนำไปสู่ “การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

นี่คือคำตอบที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันของ “ดาวสภา” จากสองพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกันระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” จนนำไปสู่วิวาทะเผ็ดร้อนระหว่างเอฟซี/ติ่ง/กองเชียร์ของทั้งสองพรรค รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลตอบว่า

“มันก็เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย เพราะว่าทุกคนก็ไม่มีใครที่เห็นตรงกันหมด แล้วมันก็ต้องเกิดการจูนกัน การจูนกันก็อาจจะมีอารมณ์บ้าง มีเหตุผลบ้าง มันก็เป็นธรรมชาติ

“แต่ว่าดิฉันก็คิดว่าสิ่งที่ถกเถียงสิ่งที่พูดคุยกัน ถ้าเกิดมาดูสะเด็ดน้ำกันที่เนื้อหากันจริงๆ แล้วนำไปสู่การปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงการคัดสรรนโยบายที่ดีกว่า มันก็เป็นความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย

“แล้วก็ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ายังไงก็ตาม ทั้งสองพรรคการเมืองก็คงจะไม่มีทางเหมือนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าศัตรูเราจะมีคนเดียวกัน ก็คือตัวระบอบประยุทธ์ที่มันเกิดขึ้น แต่ว่าวิธีการที่จะจัดการกับระบอบประยุทธ์ของเราทั้งสองพรรคก็คงไม่ได้เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์

“ถ้ามีจุดไหนเป็นจุดร่วม เราก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน แต่ว่าในส่วนที่เป็นจุดต่าง เราก็คงจะต้องยืนยันความแตกต่างตรงนี้ เพราะว่าถ้าเหมือนกันทุกอย่างก็ไม่ต้องมีสองพรรคการเมือง แล้วก็มีพรรคการเมืองเดียวก็ได้

“เมื่อเราเป็นพรรคการเมืองขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องซื่อตรงกับอุดมการณ์ โหวตเตอร์ แล้วก็สมาชิกพรรค ที่เลือกเรามาด้วย ว่าเราจะต้องยืนยันตามหลักการที่เราเคยได้สัญญากับประชาชนไว้ด้วย

“ดังนั้น ก็ต้องแสดงจุดยืน ถ้าหลักการต่างกันจุดยืนต่างกัน ก็ต้องแสดงความแตกต่างให้ประชาชนได้เห็น ให้ประชาชนได้เลือก เพราะว่าสิทธิ์ในการเลือกก็เป็นของประชาชนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว”

เมื่อถามคำถามเดียวกันกับหมอชลน่านเสริมด้วยประเด็นเรื่องแนวปะทะล่าสุดของทั้งสองพรรค นั่นคือการแย่งชิงฐานคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ นี่คือคำตอบจาก ส.ส.น่าน หลายสมัย

“อย่าคิดว่าเป็นการแย่งชิง เพราะว่าการเมืองมันเป็นเรื่องของพี่น้องประชาชน ที่เขามีอำนาจอธิปไตยอยู่ใช่ไหมครับ? พวกเราพรรคการเมืองมันเป็นสถาบันการเมือง เป็นองค์กรทางการเมือง ที่จะประกาศอาสากับพี่น้องประชาชนเจ้าของอำนาจ ซึ่งทุกพรรคก็หวังว่าจะได้รับความนิยมให้มากที่สุด

“มันก็เป็นการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามปกติ แล้วแต่ว่าพี่น้องประชาชนแต่ละกลุ่ม แต่ละรุ่น แต่ละวัย จะชอบพรรคการเมืองใด อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทุกพรรคคิดเหมือนกัน

“อย่างพรรคเพื่อไทยเองเราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องไปแข่งกับก้าวไกล แต่เราก็หวังว่าเราอยากจะมีตัวแทนหรือมีคนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพการทำหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้มาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในการที่จะสร้างความฝันสร้างอนาคตให้กับคนรุ่นนี้ด้วย อันนี้ก็เป็นแนวทางที่เราคิดไว้เท่านั้นเองครับ ไม่ได้คิดว่าจะไปแย่งฐานใคร หรือว่าต้องไปช่วงชิงอะไรกับใคร

“เพราะว่าเราต้องให้เกียรติพี่น้องประชาชนนะครับ พรรคการเมืองเหมือนเป็นสินค้าครับ เราเป็นสินค้านำไปเสนอกับพี่น้องประชาชน ก็แล้วแต่พี่น้องประชาชนเขาจะมีความชอบหรือมีจริตกับสินค้าตัวไหนอย่างไร”

นพ.ชลน่านยังย้ำสาระสำคัญว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนั้นไม่ได้มีสถานภาพเป็น “ศัตรู” กัน

“เพื่อไทยกับก้าวไกลไม่ใช่ศัตรูกันแน่นอนครับ และที่สำคัญ สองพรรคก็มีอุดมการณ์อยู่ซีกเดียวกันด้วย อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย จากการประกาศเจตนารมณ์ จากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา

“แต่ว่าในมิติของทางการเมือง แน่นอน มันต้องเป็นการแข่งขันเพื่อขออำนาจจากพี่น้องประชาชนมามอบให้ เพื่อจะขับเคลื่อนในเชิงนโยบายที่เรานำเสนอ เพื่อจะคืนประโยชน์สุขให้พี่น้องประชาชน อันนี้เป็นเรื่องปกติครับ ไม่ได้กังวลอะไร ก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เป็นสินค้าที่เขาจะต้องเลือกให้ได้ไงครับ”

 

เมื่อชวนสนทนาว่าสองพรรคการเมืองหลักของฝ่ายค้านเคยพูดคุยกันเรื่องการสับรางผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งหนหน้า เพื่อนำไปสู่ “การโหวตเชิงยุทธศาสตร์” และปิดโอกาสคว้าพุงปลาของ “ตาอยู่” อย่างพรรคพลังประชารัฐ บ้างหรือไม่?

ศิริกัญญาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างทันทีทันควัน

“ไม่มีค่ะ ไม่มีการพูดคุยกันว่าเขตนี้เดี๋ยวเราหลบ หรือว่าเขตนี้เดี๋ยวเขาหลบ ไม่มีการพูดคุยกันแบบนั้นเลย ก็อาจจะเป็นการกังวลเกินจริงว่าถ้าเกิดแย่งคะแนนกันแค่สองพรรคแล้ว จะทำให้ตาอยู่หรือว่าพลังประชารัฐชนะไป

“เพราะว่าเอาเข้าจริงแล้วยังมีพรรคอีกเยอะมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยสร้างไทย พรรคกล้า ประชาธิปัตย์เขาก็ยังอยู่ แล้วก็ทางฝั่งของพลังประชารัฐเองก็มีพรรคเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมา

“ดังนั้น อย่ากังวลว่าเราจะตัดกันเอง เพราะว่าตัวเลือกในตลาดการเมืองตอนนี้มันมีเยอะมาก แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการวางกลยุทธ์ร่วมกันที่จะหลบที่จะหลีกเพื่อให้ใครได้ชนะหรอก

“ดิฉันคิดว่าให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงเสรีของเขาเองดีกว่า ว่าต้องการที่จะเลือกพรรคไหน เลือกนักการเมืองคนไหน ให้ไปเป็นผู้แทนเขาได้จริงๆ”

 

น่าสนใจว่าหมอชลน่านเองก็ยืนกรานแบบเดียวกันกับเพื่อน ส.ส.จากพรรคก้าวไกล

“เราไม่ได้คุยกันในประเด็นนี้เลย เพราะถือว่า หนึ่ง ที่เราไม่คุย มันไม่ใช่เพราะเราไปด้วยกันไม่ได้ แต่มันเป็นภาพของการให้เกียรติทางการเมืองกับพี่น้องประชาชน

“ถ้าเราไปพูดคุยกันอย่างนั้น แม้จะมีวัตถุประสงค์ว่าฝ่ายประชาธิปไตยเราร่วมกันสู้นะ เขตนี้ผมแข็งผมขอ เขตนั้นคุณแข็งคุณเอาไป มันมีวัตถุประสงค์เฉพาะทางฝ่ายการเมืองทางพรรคการเมือง แต่มันอาจจะไม่ใช่ความประสงค์ของพี่น้องประชาชน ดังนั้น การคิดมุมนี้ออกมาจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกในสิ่งที่พี่น้องประชาชนเขาคิดเป็นหลักมากกว่า…

“โอกาสที่เราจะมาคุยกันอย่างนี้ โดยหลักแล้วมันไม่ควรด้วย มันจะถูกข้อหาว่าเป็นการฮั้วทางการเมือง ซึ่งอันนี้เป็นภาพที่อาจจะทำให้อีกหลายฝ่ายอีกหลายคนบอกอย่างนี้มันเป็นการดูถูกพี่น้องประชาชน ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้น ก้าวไกลกับเพื่อไทยไม่ได้คุยกันเรื่องนี้แน่นอน ไม่เคยคุยกันด้วยครับ

“แล้วเราก็ให้เกียรติแต่ละพรรคการเมืองในการที่จะแข่งขัน เป้าหมายเราอยู่ที่พี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ… แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกใคร จะไว้วางใจให้ใคร หมายถึงพรรคการเมือง ไปทำหน้าที่แทนเขา”