คำ ผกา | งานปอยงานแห่

คำ ผกา

ดราม่าเรื่องเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ นั้นมีหลายมิติที่น่าสนใจมากสำหรับตัวฉันเอง

ยกตัวอย่างเช่น คนอย่างฉันซึ่งไม่ใช่คนกรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่เชียงใหม่ และเมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีความ “รัก” ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีแคมปัสสวยงามราววนอุทยาน (ในยุคที่ฉันเรียน)

ความทรงจำแรกเมื่อขับรถเข้าไปทางประตูใหญ่ฝั่งถนนห้วยแก้ว ซ้ายมือจะเป็นสนามรักบี้ ที่ถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่พร้อมทางเดินเล็กๆ อันแสนร่มรื่น

ทัศนียภาพนี้แหละที่ทำให้ฉันบอกตัวเองว่า “ฉันอยากมาเรียนที่นี่”

และพอเข้ามาเรียนฉันก็ชอบที่ มช. มีอ่างแก้ว และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า วิวและลานตรงอ่างแก้วนั้นสวยและโรแมนติกมากๆ ไหนจะมีฝายหิน มีถนนเล็กๆ ในแคมปัสที่ร่มรื่น เงียบสงบ

ไม่เพียงเท่านั้น ในสมัยที่ฉันเรียนอีกนั่นแหละ จาก มช. เราสามารถหาที่ปลีกวิเวก ดื่มด่ำกับธรรมชาติได้ทุกเมื่อ จะขี่รถขึ้นดอยปุย จะปลีกไปทางวัดป่าแดง วัดอุโมงค์ หรือจะทะลุไปทางดอยช่างเคี่ยน ก็ล้วนแต่ได้ “ฟีล” บ้านเล็กในป่าใหญ่

นอกจากการออกแบบภูมิทัศน์ที่สวยเหลือเกินของแคมปัส สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยคือ “เสรีภาพ” เราจะแต่งตัวอย่างไรไปเรียนก็ได้

เรามีครูบาอาจารย์ที่พาเราหลุดพ้นจากโลกโรงเรียนมัธยมมาสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ องค์ความรู้ของตัวเอง

เรามีอาจารย์ที่คอยแต่จะท้าทายให้เราแหก ให้เรากบฏ ให้เราคิดทะลุกะลา ความคุ้นชิน หรือความรู้ใดๆ ที่เรามองว่ามันคือ “สัจธรรม” โดยอัตโนมัติ โดยปริยาย

เหล่านี้ถูกล้าง ถูกถอดรื้ออกมาทั้งหมดเมื่อได้เรียนในระดับอุดมศึกษา

ในขณะที่ฉันอิ่มเอมและภูมิใจกับ มช.ในด้านการออกแบบแลนด์สเคปของแคมปัส ฉันไม่เคยรู้จักการรับน้อง การเข้าห้องเชียร์ ไม่รู้ว่ามีประกวดดาวคณะ ดาวมหาวิทยาลัย

ไม่แม้แต่จะรู้จักการรับน้องขึ้นดอย และตลอดสี่ปีที่เรียน มช.ก็ไม่เคยขึ้นดอยแม้แต่ครั้งเดียว และสารภาพว่า เพิ่งรู้ว่าการขึ้นดอยเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ใครๆ ก็พูดถึง หรือใครๆ ก็ต้องมีความหลังเรื่องนี้ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปร่วมรับน้องขึ้นดอยในปีใดปีหนึ่ง และเป็นข่าวนี่แหละ

และเหตุผลที่ฉันไม่อินกับกิจกรรมเหล่านี้เลยก็เพราะไม่เข้าใจว่าเราหลุดออกจากการเป็นเด็กมัธยมแล้วทำไมต้องพยายามเอาตัวเองกลับไปมีชีวิตแบบเด็กมัธยมที่ไม่เป็นตัวของตัวเองอีก

ทำไมต้องร้องเพลงเชียร์ที่มีเนื้อร้องประหลาดๆ ที่สำหรับฉันไม่เห็นตลกตรงไหน ที่สำคัญทำไมต้องไปนั่งร้องเพลงพร้อมๆ กันเหมือนเข้าค่ายยุวกาชาดอีก

แล้วพวกขบวนแห่ นู้น นั้น นี้ ฉันก็ไม่อิน ตลอดชีวิตโตมากับขบวนแห่กฐิน ผ้าป่า แห่ลูกแก้ว ขบวนนางงามบุปผชาติ แห่พระ แห่ศพ แห่ปราสาท แห่งานปอยหลวง ก็งงว่า ทำไมต้องแห่อะไรกันเยอะแยะที่ในมหาวิทยาลัยอีก

อยากแห่ เดี๋ยวงานยี่เป็งของจังหวัด หรืองานสงกรานต์วันแห่พระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ของจังหวัดก็มีให้แห่ให้ดูกันอีกตั้งเยอะ

พูดง่ายๆ แค่ไม่รู้สึกว่า งานแห่ งานปอย เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษา

 

แต่ในความไม่อินก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรที่คนอื่นจะอิน ก็เข้าใจว่าคนอื่นๆ อาจจะไม่เคยเห็นงานแห่เยอะมากขนาดนั้น เท่ากับที่ฉันเคยเห็นจนเบื่อก็เลยชอบ ตื่นเต้น หรือคนอื่นๆ ที่เห่อเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องก็อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกอบอุ่น มีสังคม มีเครือข่ายเพื่อนที่ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กต่างจังหวัด

เพราะฉันที่เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิดนั้นไม่มีความรู้สึกว่าต้องไปพึ่งพาอะไรใครเลย รู้สึกเป็นเจ้าถิ่นและมีแนวโน้มจะสถาปนาตัวเองเป็นเจ้าแม่ไปบูลลี่คนอื่นมากกว่า

และในทั้งหมดของความ “ภูธร” และไม่รู้จักรับน้องขึ้นดอยนี้ ฉันก็ไม่รู้จักงานฟุตบอลประเพณี และแยกไม่ออกว่า อะไรคืองานบอล อะไรคืองานฟุตบอล นึกว่ามันคือสิ่งเดียวกัน

แน่นอน เราจะได้อ่านข่าวเรื่องขบวนแห่ ล้อการเมืองของสองมหาวิทยาลัยนี้ และด้วยความเป็นคนสันดานเสีย ก็จะดูไอ้เรื่องล้อการเมืองก็รู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นน่าตื่นเต้น หรือมีอะไรแหลมคม เชยๆ นักการเมือง รัฐบาลคอร์รัปชั่น วนๆ ไป แล้วก็งงว่า ทำไมสังคมไทยต้องสนใจเหรอว่า นักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เขาคิดยังไงเกี่ยวกับการเมืองไทย

นักศึกษาคิดมันสำคัญกว่าชาวบ้านคิดตรงไหนเหรอ – งง ไม่อิน

ส่วนเรื่องเชิญพระเกี้ยว แห่พระเกี้ยว รู้จักจากการอ่านนิยายของโบตั๋นบ้าง ของทมยันดี ของ ว.วินิจฉัยกุล อะไรบ้าง

มีความทรงจำประปรายว่า ชอบมีเรื่องราวนางเอก หรือตัวละครหลัก มีเกียรติยศเกียรติศักดิ์ เคยอัญเชิญพระเกี้ยว

และเมื่อได้ออกมาใช้ชีวิตนอกจังหวัดเชียงใหม่ ได้เจอผู้คนหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะผู้คนจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ก็เลยเพิ่งรู้ว่า พวกคนกรุงเทพฯ เขาซีเรียสกับเรื่องพวกนี้มากจริงๆ

เพราะคำว่า ลีดจุฬาฯ ลีดธรรมศาสตร์ หรือการเชิญกระเกี้ยวนั้นจะถูกนำมาเป็นอัตลักษณ์อธิบายถึงคนคนนั้นว่า “เริ่ด” ขนาดไหน

เช่น แฟนน้องแป๊ะน่ะเค้าลีดธรรมศาสตร์เลยนะ หรือน้องบีที่ได้ทุนมาน่ะ เค้าได้เชิญพระเกี้ยวเลยนะ หรืออาจารย์วัยเกษียณบางคนยังชอบให้คนต่างๆ พูดถึงตัวเองในฐานะอดีตนิสิตที่ได้เชิญพระเกี้ยวเลยนะยู

ซึ่งฉันฟังแล้วก็งงๆ ว่า ถ้าเป็นคนนอกวงการเนี่ย ใครจะเขาจะอินกับอภินิหารอันนี้กับพวกยูวะ

จะว่าสวยก็ดารา นางแบบก็มีสวยกว่าไหม

จะว่าเก่ง ในโลกภายนอกกะลาไทยนั้นก็มีคนเก่งๆ กว่านี้เยอะแยะปะ?

สิ่งเดียวที่พอจะทำให้เราเข้าใจในคุณค่าที่หลายๆ คนกอดไว้จนวันตายคือมันเป็นสักขีพยานแห่งความเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมด้อยพัฒนานี้ต่างหากเล่า ว่า ฉันสวย ฉันมาจากครอบครัวที่ดี และฉันก็ยังเรียนเก่งอีกด้วย เห็นไหมล่ะว่าพวกฉันสมบูรณ์แบบขนาดไหน

อีพวกไพร่ บ้านนอก ดูเอาไว้เป็นแบบอย่าง คนเราสามารถสวยด้วย รวยด้วย และเรียนเก่งสุดๆ ไปเลยได้ด้วยไปพร้อมๆ กันนะ

วินัยเริ่มต้นที่บ้าน ประชากรคุณภาพเริ่มต้นที่ครอบครัว ถ้าพวกแกเรียนไม่เก่ง ไม่มีปัญญาเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นเพราะพวกแกไม่ขยัน ไม่มีความมานะพยายามไง แถมยังจะไปทำตัวเหลวแหลก ดูฉันสิ ขนาดบ้านฉันรวย ตระกูลดี ฉันตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีของพ่อ-แม่ มีนิสิตที่แสนจะปราดเปรื่องของครูบาอาจารย์ เป็นกุลสตรีที่งดงามในทุกท่วงท่า กิริยา พูดจาไพเราะ จิตใจดี รักสัตว์ รักธรรมชาติ อ่อนโยน เปราะบาง และเข้มแข็งได้เมื่อภัยมา

แล้วแน่นอน อนาคตของฉันก็จะเป็นด๊อกเตอร์สวยๆ รวยๆ มาสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เหมือนเดิม แล้วก็จะมีผัวดีๆ รวยๆ สืบไป เพราะใครๆ ก็อยากมีเมียที่เพอร์เฟ็กต์แบบนี้แหละ

ถ้าฉันมีลูก ลูกก็บอกใครต่อใครได้ว่า “ขุ่มแม่เคยเชิญพระเกี้ยว”

แต่นั่นมันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ทมยันตีก็ตายแล้ว นิยายแบบ ว.วินิจฉัยกุล ก็ไม่มีคนอ่านสักเท่าไหร่แล้ว นิตยสารสกุลไทยก็ปิดกิจการแล้ว

คุณค่าไอ้แบบที่ฉันเล่ามามันไม่เหลืออยู่แล้ว

การเป็นลีดจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มันก็แค่ “แล้วไง?” สมัยนี้เด็กเขานับถือคนแบบมายด์ คนแบบรุ้ง คนแบบเพนกวิน คนแบบเนติวิทย์มากกว่าไง

และปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า การรัฐประหารสองครั้ง ทั้งปี 2549 และปี 2557 มันช่วยลอกคราบ ปอกเปลือก ภาพลวงตาของประวัติศาสตร์ชาติไทยออกไปจนหมดสิ้นสำหรับคนไทยเกินครึ่งประเทศและรวมไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วย

ภาวะล้มหายตายจากของสื่อกระแสหลัก การเกิดขึ้นของสื่อทางเลือก อินเตอร์เน็ต ทำให้คนไทยในปัจจุบันเสพข้อมูลที่หลากหลายขึ้น

เราได้เห็น “โลก” และเราได้รู้ว่า “โลก” ภายนอก นั้นเขาอยู่กันอย่างไร เขาคิดอย่างไร เขาเรียนหนังสือกันอย่างไร เขาอภิปรายถกเถียงกันเรื่องอะไร เขามีปัญหาอะไร เขาแก้ปัญหากันอย่างไร นักศึกษาบนโลกใบนี้เขาทำอะไรกันอยู่

ภาพแห่พระเกี้ยวมีนิสิตชายในเครื่องแบบพิธีการเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ห้าสิบหกสิบคนไปแบกไปหามเสลี่ยงที่เพื่อนร่วมรุ่นหนึ่งคนนั่งนิ่งๆ กับสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่สามารถเอาไปอธิบายให้ “โลก” เข้าใจได้เลยว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังทำอะไรอยู่

เพราะโลกเข้าใจขบวนแห่เหล่านี้จากมุมมองทางมานุษยวิทยาเรื่องพิธีกรรมโบราณของชนเผ่าในโลกยุคก่อนสมัยใหม่ หรือมัทสึริญี่ปุ่นที่จำลองประเพณีโบราณอายุพันปี

ทว่าไม่มีอะไรที่เราสามารถเชื่อมโยงมันได้กับการเป็น “มหาวิทยาลัย” อันหมายถึงสถานที่แห่งการท้าทาย วิเคราะห์ วิพากษ์ และแสวงหาความรู้ ความจริง

หรืออย่างเลวที่สุดก็ในฐานะที่เป็น “ตลาดวิชา”

นิสิต นักศึกษาสมัยนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนออนไลน์

ชีวิตนักศึกษาในแคมปัสของพวกเขาหายไปสองปี โดยไม่มีใครดูดำดูดีอะไรทั้งนั้น

ทั้งยังเผชิญกับปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจ หลายครอบครัวเคยรวยก็จนลง

หลายครอบครัวจนอยู่แล้วก็จนลงไปอีก

หลายนิสิตเผชิญกับความเครียด ความกดดันในชีวิต ความไม่แน่นอนของอนาคต

ประเทศชาติภายใต้รัฐบาลแบบนี้ไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่เรืองรอง หรือแม้แต่ความหวังที่รอคอยอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกใจที่พวกเขาอยากอยากจะโฟกัสกับ “ชีวิตจริง” มากกว่าพิธีกรรม

แถมยังเป็นพิธีกรรมอธิบายต่อโลกใบนี้ไม่ได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนี้

แถมยังมีประเด็นที่ค่อนข้าง practical เช่น หาคนมาอาสาแบกไม่ได้ จนต้องไปใช้คะแนนกิจกรรมมาเรียกค่าไถ่ เป็นเงื่อนไขให้เด็กหอในต้องมาแบก

ซึ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก ระหว่างคนที่นั่งอยู่บนนั้น กับคนที่แบกอยู่ข้างล่าง

 

สุดท้ายนี่เป็นเรื่องภายในของจุฬาฯ และเป็นเรื่องระหว่างนิสิตปัจจุบันที่เขาใช้กระบวนการประชาธิปไตยตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และในเมื่อเขามีฉันทามติออกมาเช่นนั้น เราคนนอกก็ควรเคารพ และศิษย์เก่าทั้งหลายก็ควรจะวางอุเบกขาไม่ไปก้าวก่าย

เพราะทั้งหมดนี้เป็นกิจธุระความรับผิดชอบของนิสิตปัจจุบัน

ถ้าอยากจะแห่ อยากจะแบกอะไร ศิษย์เก่าทั้งหลายก็แค่แห่เอง แบกเอง ไม่มีใครคัดค้าน ขัดขวาง

แต่การเที่ยวไประรานการตัดสินใจของนิสิตปัจจุบัน มันชวนให้เด็กอยากจะบอกพวกคุณว่า ช่วยมูฟออนกับชีวิตด้วยนะลุงๆ ป้าๆ ทั้งหลาย

อย่าให้ความเป็นนิสิตจุฬาฯ มานิยามชีวิตตนเองทั้งชีวิตเลย

ใจคอจะไม่มีความสำเร็จอะไรอื่นนอกจากนี้หรือลุง