5 เทคโนโลยี ลดรอยเท้าทางคาร์บอน/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Athletic woman using her smartphone

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

5 เทคโนโลยี

ลดรอยเท้าทางคาร์บอน

 

ทุกกระบวนการที่ทำให้เราสามารถใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้แบบทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทางอย่างการผลิตสมาร์ตโฟนไปจนถึงปลายทางอย่างการกดส่งอีเมลสักฉบับล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น

ดังนั้น นิสัยการใช้งานเทคโนโลยีของเราอย่างการติดอินเตอร์เน็ตงอมแงมก็ล้วนมีราคาทางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องจ่ายทั้งนั้น

เรื่องนี้ฉันว่าเราก็รู้กันดีอยู่แล้ว ดังนั้น วันนี้เราจะไม่คุยกันว่าการใช้เทคโนโลยีของเราส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง

แต่เราลองมาปรับมุมมองนิดหน่อย แล้วคุยกันว่าถ้าอย่างนั้นเราสามารถใช้เทคโนโลยีอะไรในการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดบ้างดีกว่า

สำนักข่าว AFP รวบรวม 5 เทคโนโลยีที่น่าจะพอช่วยให้มนุษย์เราจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปได้บ้าง

เรามาดูกันทีละอย่างค่ะ

 

อย่างแรกก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพาการคำนวณที่สลับซับซ้อนโดยคอมพิวเตอร์พลังสูง แน่นอนว่าก็จะต้องใช้พลังงานสูงไปด้วย

นักวิจัยจาก University of Massachusetts บอกว่าการจะฝึกอัลกอริธึ่มของ AI สักอัลกอริธึ่มอาจจะต้องใช้พลังงานเทียบเท่ากับคาร์บอนที่รถยนต์สักคันจะปล่อยออกมาตลอดอายุการใช้งานเลยทีเดียว

ถ้ามองในแง่ของการปล่อยคาร์บอนอย่างเดียวก็อาจจะน่าหวั่นใจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นเทคโนโลยีศักยภาพสูงที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรมเพราะมันสามารถคำนวณในสิ่งที่สมองมนุษย์ไม่มีวันจะทำเองได้

ดังนั้น AI ที่ถึงแม้จะใช้พลังงานสูง แต่ตัวเทคโนโลยีเองก็สามารถนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกได้โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและคมนาคม

วิธีใช้งาน AI เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็อย่างเช่นการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าและข้อมูลการละลายของน้ำแข็งในทะเลเพื่อคาดการณ์ว่าพื้นที่ไหนจะได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ต่อไปเพื่อที่เราจะรับมือได้ดีขึ้น

น่าจะเรียกว่ายอมใช้พลังงานในระดับสูงเพื่อไปจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าอาจจะพอได้

 

เทคโนโลยีที่สองจะเป็นภาพที่เล็กลงมาจากข้อแรกแต่เราเข้าถึงได้มากขึ้นก็คือแอพพลิเคชั่นและเสิร์ชเอนจิ้น

ในท้องตลาดแอพพลิเคชั่นมีแอพพ์มากมายให้เราสามารถเลือกใช้งานเพื่อปรับให้ไลฟ์สไตล์ของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดสิ่งแรกก็คือเราจะต้องรู้ก่อนว่ารูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีของเราก่อให้เกิดรอยเท้าทางคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งแอพพ์เหล่านี้จะช่วยทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ากิจกรรมในแต่ละวันของเราก่อให้เกิดรอยเท้าทางคาร์บอนแค่ไหน อย่างการเดินทางโดยรถยนต์ เครื่องบิน หรือสินค้าต่างๆ ที่เราหยิบใส่ตะกร้า

ล่าสุด Google ก็ประกาศว่าจะปรับการออกแบบเครื่องมือต่างๆ ของบริษัทเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถลดรอยเท้าทางคาร์บอนของตัวเองลงได้ เช่น แทนที่จะมุ่งเน้นเสนอแต่เส้นทางการเดินทางที่เร็วที่สุดเพียงอย่างเดียว บริษัทก็จะปรับเปลี่ยนให้ระบบเสนอเส้นทางที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วย และหากว่าสองเส้นทางนี้ใช้เวลาไม่แตกต่างกันมาก แผนที่ก็จะเลือกเส้นทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดให้โดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ Google ก็จะใช้ AI ช่วยคำนวณการจราจรในเมืองเพื่อลดจำนวนยานพาหนะที่จะต้องไปจอดนิ่งๆ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่บนถนน และจะเพิ่มข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเครื่องบินแต่ละไฟลต์ในบริการช่วยจองไฟลต์บินเพื่อให้คนตัดสินใจได้ดีขึ้น ไฟลต์ไหนปล่อยคาร์บอนน้อยก็จะได้รับแบดจ์สีเขียวจาก Google ไปเลย

ใครที่บินบิสสิเนสหรือเฟิร์สต์คลาสก็จะได้เห็นตัวเลขด้วยว่าการเลือกนั่งเครื่องบินแบบได้พื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้นหมายถึงการปล่อยคาร์บอนมากกว่าผู้โดยสารคนอื่นๆ แค่ไหน

ยังไม่พอแค่นั้น ลำดับต่อไป Google จะใส่ข้อมูลความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปให้กับโรงแรมต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าจะจองห้องพักกับโรงแรมไหนถึงจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ที่ผ่านมาการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากเพราะเราไม่เคยมีข้อมูลให้ใช้พิจารณาได้ชัดๆ แต่หลังจากนี้ไปข้อมูลเหล่านี้จะมีเหลือเฟือ

 

เทคโนโลยีที่สามก็คือการทำงานระยะไกลที่คนทั่วโลกต้องปรับใช้กันแบบไม่มีทางเลือกตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา

ฉันเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากการที่มนุษย์หยุดเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานเป็นสิ่งที่เราทุกคนมองเห็นและสัมผัสได้ด้วยตัวเอง เราสัมผัสได้ถึงมลพิษในอากาศที่น้อยลงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานที่บ้านทุกวันตลอดไปอาจจะไม่ใช่คำตอบ

เพราะการทำงานที่บ้านก็ยังคงต้องใช้พลังงาน แถมพลังงานหลายๆ อย่าง เช่น แอร์หรือฮีตเตอร์ จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าหากว่าพนักงานมารวมตัวกันอยู่ที่เดียว

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เลยเสนอว่ารูปแบบที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการที่พนักงานออฟฟิศทำงานที่บ้านหนึ่งวันต่อสัปดาห์

แค่นี้ก็ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกไปได้ถึง 24 ล้านตันแล้ว

 

เทคโนโลยีที่สี่ คลาวด์คอมพิวติ้ง

หลายปีที่ผ่านมามีความกังวลมาโดยตลอดว่าบรรดาดาต้าเซ็นเตอร์ที่หิวกระหายพลังงานทั้งหลายจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง

แต่ผลการศึกษาหนึ่งเมื่อปีที่แล้วก็พบว่าความกลัวนี้ไม่ได้กลายเป็นความจริงเสียทีเดียว

เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้มีการจัดการที่ทันสมัยและทำได้อย่างมีประสิทธิผลมาก

อย่างการใช้ AI เข้ามาช่วยในด้านต่างๆ ที่แม้ว่าหลักๆ จะทำไปเพื่อลดต้นทุน

แต่ท้ายที่สุดก็ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยเป็นเงาตามตัว

 

และเทคโนโลยีสุดท้าย สมาร์ตซิตี้

สมาร์ตซิตี้มักจะมาควบคู่กับเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ที่เชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ด้วยเซ็นเซอร์ทำให้มันสามารถสื่อสารกันเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและช่วยให้เราเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ ก็จะช่วยให้เมืองโดยรวมนั้นปล่อยคาร์บอนน้อยลงด้วย ยกตัวอย่างในอัมสเตอร์ดัมที่ใช้ IoT เพื่อช่วยนำทางรถไปยังที่จอดที่ว่างอยู่ทำให้คนขับรถไม่ต้องคอยขับเพื่อวนหาที่จอดและปล่อยก๊าซทิ้งไปโดยไม่จำเป็น

ถ้าหากเราไม่สามารถลดการใช้งานเทคโนโลยีได้จริงๆ อย่างน้อยเราก็ใช้มันเป็นเครื่องมือในการช่วยลดผลกระทบอีกทีก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เมื่อเริ่มทำใหม่ๆ เราอาจจะรู้สึกว่าฉันทำคนเดียวจะช่วยอะไรได้ แต่เมื่อทุกคนต่างคนต่างทำกันคนละไม้คนละมือ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็จะใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ

แม้ว่าการเริ่มที่ตัวเราจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันควรหยุดอยู่แค่ตัวเราในฐานะผู้บริโภคหนึ่งคนและไม่ขยายวงออกไปไกลกว่านั้นะคะ แต่ควรต้องมีการตอบสนองจากทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย ถ้าปล่อยให้ผู้บริโภคทำกันเองแบบตัวใครตัวมันตลอดไป ถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง

แต่ก็อาจจะไม่กว้างและไม่เร็วพอก็ได้