คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก…ฟินแลนด์ (ตอน 2)

 

คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ

จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก

…ฟินแลนด์ (ตอน 2)

 

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศต่างๆ มีการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยการส่งทูตหรือคณะบุคคลเดินทางไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์และดําเนินกิจกรรมร่วมกัน

ไม่มีรัฐใดชาติใดที่จะดํารงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลําพังโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับรัฐอื่นๆ หรือสังคมอื่นๆ ได้อีกต่อไป

ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นความสัมพันธ์ในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายด้านนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน และเนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เล่าถึงภารกิจ ขอบเขต และเป้าหมายในการทำงาน

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

“เราทำงานกันในหลากหลายด้านเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรชาวไทยของเราโดยมีบันทึกความเข้าใจบางส่วน (MOU) ที่ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการ หรือพร้อมที่จะลงนาม”

อันดับแรก เราได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยเราหาวิธีต่างๆ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย เช่น การหมุนเวียนของเสีย โครงการเพิ่มมูลค่าของเสีย การปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียนจากแบตเตอรี่ และอื่นๆ อีกมากมาย”

“เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตของเรา สังคมและบริษัทต่างๆ ของฟินแลนด์มีความกระตือรือร้นที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับแนวหน้า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบถึงแผนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่ก้าวหน้าของรัฐบาลไทย โดยคิดว่าเราสามารถช่วยเสริมแผนเหล่านี้ได้จากความร่วมมืออันดีระหว่างกัน”

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรของเสีย การปล่อยมลพิษ และการรั่วไหลของพลังงานจะลดลงโดยการลดการผลิตและการบริโภค ซึ่งเกี่ยวกับการออกแบบที่ยั่งยืน, การบำรุงรักษา, การซ่อมแซม, การนำกลับมาใช้ใหม่, การผลิตซ้ำและการประกอบใช้ใหม่ จนสุดท้าย คือการรีไซเคิล

เมื่อไปเยี่ยมชมกิจการ บริษัท Valmet ที่แหลมฉบัง

อันดับที่สอง เราหวังว่าจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการของไทย เพราะมีหลายพื้นที่ในด้านการศึกษาที่เราสามารถร่วมมือกัน เช่น การฝึกอบรมครู การพัฒนาหลักสูตร การจัดการโรงเรียน การฝึกอาชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเพิ่มทักษะ”

อันดับที่สาม เราจะเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีในด้านเศรษฐกิจดิจิตอล นวัตกรรม และการเริ่มต้น (startup) ผมคิดว่าบริษัทไฮเทคของฟินแลนด์สามารถจัดหาสมาร์ตโซลูชั่นและดิจิตอลโซลูชั่น ซึ่งเป็นโซลูชั่นอัจฉริยะเพื่อประโยชน์สำหรับคู่ค้าชาวไทย และเรายังริเริ่มที่จะนำบริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติฟินแลนด์ที่มีนวัตกรรมเข้ามาในประเทศไทยด้วย”

อันดับสุดท้าย คือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและแรงงานระหว่างประเทศไทยและฟินแลนด์ ซึ่งสถานทูตมีผู้ประสานงานคนใหม่ในด้านนี้ โดยเราหวังว่านักศึกษาไทยจะมองเห็นโอกาสของการศึกษาในมหาวิทยาลัยและโพลีเทคนิคของฟินแลนด์ ซึ่งมีหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษมากกว่า 400 หลักสูตร”

“ส่วนการแลกเปลี่ยนแรงงาน ในทุกๆ ปีจะมีคนงานไทยเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลในฟินแลนด์ และเราต้องการขยายความร่วมมือนี้ไปสู่สาขาอื่นๆ เช่น ภาคการดูแลสุขภาพ การผลิต พนักงานบริการ และอื่นๆ”

คนงานไทยทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์- ภาพ-scanasia.com

 

คนงานไทยทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ภาพ-scanasia.com

 

คนงานไทยทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ภาพ- Euro.com

 

การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อฟินแลนด์

“ในฐานะเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก การค้าต่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของฟินแลนด์ การส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และเช่นเดียวกันกับการนำเข้าประมาณ 40% ของ GDP”

แผนที่จะช่วยให้บริษัทฟินแลนด์มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

“เราจะติดตามโครงการของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และอื่นๆ โดยจะแจ้งให้บริษัทฟินแลนด์ต่างๆ ทราบเกี่ยวกับโอกาสดังกล่าว”

“ประเทศไทยมักถูกมองว่าเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านคือ ลาว กัมพูชา และเมียนมา และไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดอาเซียนที่มีประชากรเกือบ 700 ล้านคน แล้วยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเขตการค้าเสรีอื่นๆ อีกมากมายกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจ”

หน้าที่หลักอีกหน้าที่หนึ่งของสถานเอกอัครราชทูต คือการสนับสนุนธุรกิจของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับชาวฟินแลนด์ และเป็นประเทศคู่ค้าของฟินแลนด์อันดับที่สองในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เรามีบริษัทฟินแลนด์ที่ยอดเยี่ยมหลายแห่งที่ทำธุรกิจในตลาดไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่าง Finnair (สายการบิน), Nokia (เครือข่าย 5 G), Kone (ลิฟต์และบันไดเลื่อน), Konecranes (ลิฟต์อุตสาหกรรม), Valmet (กระดาษและเยื่อกระดาษ, เทคโนโลยีกระบวนการผลิต, ระบบอัตโนมัติและบริการ), Wärtsilä (โซลูชั่นทางทะเลและพลังงาน), ST1 (โซลูชั่นเชื้อเพลิงชีวภาพ), Fiskars (การผลิตเครื่องเคลือบดินเผา), Huhtamäki (บรรจุภัณฑ์) และ Marimekko (แฟชั่น) เป็นต้น”

ประเทศไทยสร้างโอกาสที่สำคัญอย่างมาก เช่น ในด้านพลังงานทดแทน, เศรษฐกิจหมุนเวียน, การศึกษา, บริการด้านดิจิตอล, เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และ อุตสาหกรรมอาหาร

สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการก่อตั้ง Team Finland – เครือข่ายท้องถิ่น ร่วมกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์, Business Finland และหอการค้าไทย-ฟินแลนด์ โดยเอกอัครราชทูตทำหน้าที่เป็นประธานของเครือข่าย – Team Finland และผู้ทำหน้าที่แทนเอกอัครราชทูต จะเป็นผู้ประสานงานของ Team Finland

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

 

สภาพแวดล้อมของการลงทุนในประเทศไทย

“ผมเห็นว่ามีความคิดริเริ่มที่ดีบางอย่าง เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งมีแรงจูงใจด้านการลงทุนที่หลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยจะต้องทำงานเพื่อลดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างชาติสามารถเติบโตในตลาดไทยได้ คนไทยและตลาดก็จะได้รับประโยชน์เมื่อตลาดเปิดและมีการแข่งขันที่ดีในระดับโลก”

“สิ่งสำคัญคือสภาพแวดล้อมทางการบริหารและเศรษฐกิจที่สามารถคาดการณ์ได้และมีเสถียรภาพ เพื่อให้บริษัทต่างชาติสามารถไว้วางใจได้ว่าการลงทุนของพวกเขาจะไม่สูญเปล่า”

“ใน 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีช่วงเวลาที่วุ่นวายทางการเมืองเป็นระยะๆ ก็นับว่าโชคดีที่ทุกรัฐบาลที่มาและจากไปต่างเป็นมิตรกับการลงทุนจากต่างประเทศ”

 

 

ท่านทูตกล่าวเปิดงานที่ HEI Schools โรงเรียนนานาชาติระดับอนุบาลที่กรุงเทพฯ โดยผู้ร่วมก่อตั้งและวางหลักสูตรคือ University of Helsinki ในประเทศฟินแลนด์

 

ความรู้ความเชี่ยวชาญของฟินแลนด์สามารถเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย

“ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชาวฟินแลนด์เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ BCG ซึ่งชาวฟินแลนด์ไม่เพียงรู้วิธีในการแก้ปัญหาให้เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังรวมถึงแผน Thailand 4.0 และระบบดิจิตอล รวมถึงโซลูชั่น 5 G หรือ 6 G โซลูชั่นอัจฉริยะของเมืองแห่งอนาคต ฯลฯ ผมมั่นใจว่าภาคการศึกษาของฟินแลนด์จะสามารถช่วยได้ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของไทย”

สถาบันที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย กล่าวถึงโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG โมเดล ว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน

ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B ย่อมาจาก Bio Economy คือ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า

C ย่อมาจาก Circular Economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

และ G ย่อมาจาก Green Economy คือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

‘Winter Book Fest – เทศกาลหนังสือฤดูหนาว’ ที่กรุงเทพฯ
งาน ‘Winter Book Fest เทศกาลหนังสือฤดูหนาว

 

ท่านทูตเปิดการเสวนา ในงาน ‘Winter Book Fest เทศกาลหนังสือฤดูหนาว-

 

ประเทศไทยในมุมมองของนักการทูต

“สำหรับผม ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยม ทั้งผู้คน ธรรมชาติ และรีสอร์ต ที่น่าตื่นตาตื่นใจ คิดว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้มาอยู่ที่นี่และทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์และไทยในฐานะเอกอัครราชทูต ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโน้มน้าวและเปิดช่องทางใหม่ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือกัน และผมสนุกกับงานนี้”

 

ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้จากการทำงานครบรอบหนึ่งปีในประเทศไทย

“ผมเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีปัญหากับสถานการณ์โควิด เพราะเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วผมเดินทางมาถึงประเทศไทย ต้องไปพักที่โรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) เป็นเวลาทั้งหมด 6 สัปดาห์ การทำงานประจำที่สถานทูต จึงต้องเลื่อนหรือยกเลิกงานและการประชุมต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม นายยูริ ยาร์วียาโฮ สรุปว่า

“ถึงแม้การประชุมในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบเสมือนจริง (virtual form) ซึ่งบางอย่างได้ผลชัดเจนและมีประโยชน์มากก็ตาม แต่ผมก็ยังตั้งตารอคอยการได้ติดต่อกับมนุษย์จริงๆ ในช่วงเวลาที่โควิดไม่ได้ขัดขวางการทำงานและความสัมพันธ์ของเรามากนัก”

 

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย