ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ผีเสื้อ”

ล้านนาคำเมือง  ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผีเสื้อ”

แปลว่า อารักษ์ หรือ ผีประจำถิ่น

“ผี” คือ ผีซึ่งเป็นอมนุษย์สามารถให้คุณหรือโทษได้

“เสื้อ” หมายถึงคุ้มครอง ป้องกัน เมื่อรวบเอาคำทั้งสองมาเป็นคำเดียวกันเป็น “ผีเสื้อ” หมายถึงผีที่คุ้มครองป้องกัน ได้แก่ อารักษ์ที่เป็นผีหรืออมนุษย์จำพวกหนึ่งซึ่งอยู่ประจำสถานที่หลายแห่ง หากอยู่ดูแลรักษาประจำสถานที่แห่งใดก็ได้ชื่อตามสถานที่นั้นๆ

กล่าวคือ ถ้าอยู่รักษาป่าดงพงไพรเรียก ผีเสื้อดง

เฝ้ารักษาแหล่งน้ำเรียก ผีเสื้อน้ำ

อยู่ประจำลำห้วยเรียก ผีเสื้อห้วย

อยู่ประจำทุ่งนาเรียกว่า ผีเสื้อนา

อยู่ดูแลเมืองเรียก ผีเสื้อเมือง

อยู่ประจำหมู่บ้านเรียก ผีเสื้อบ้าน

อยู่ดูแลรักษาวัดเรียกว่า ผีเสื้อวัด

ผีเสื้อแต่ละแห่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

 

ผีเสื้อดง เป็นอารักษ์ใหญ่คอยดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งสัตว์ป่าทุกชนิด ผู้คนจะเข้าไปในเขตป่าต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมคือปฏิบัติให้ถูกจารีตธรรมเนียมของป่า ไม่ฝืนกระทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรจนเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ นานาอันเกิดจากการ “ผิดป่า” เช่น ชาวบ้านที่จะเข้าหาประโยชน์จากป่าจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวก่อนเข้าป่า นายพรานต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน หากแต่ว่าเมื่อได้สัตว์ที่ล่าได้ต้องนำส่วนหนึ่งของสัตว์ป่าเซ่นสังเวยผีเสื้อดงก่อนออกจากป่า และไม่ว่าจะเป็นใครเมื่ออยู่ในป่าอย่าได้ริกระทำสิ่งลามกอนาจาร ผิดธรรมชาติ หากฝืนหรือเผลอกระทำจะต้องเกิดเหตุเภทภัยทุกคราไป

ผีเสื้อน้ำ ได้แก่ ผีอารักษ์ที่รักษาน่านน้ำทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นแม่น้ำสายใหญ่หรือแหล่งน้ำกว้างใหญ่และลึก ในเทวธรรมชาดกกล่าวว่าผีเสื้อน้ำเป็นอมนุษย์ที่ถูกท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณสาปให้มาอยู่เฝ้าน้ำเพื่อแสวงหาเทวธรรม (หิริโอตตัปปะ)

ผีเสื้อห้วย คือผีที่ดูแลสายน้ำลำห้วย อาศัยอยู่ตามลำห้วยในป่า เล่ากันว่าเป็นผีเพศหญิงสามารถแปลงกายเป็นอสูรที่น่ากลัวหากเกิดความไม่พอใจเมื่อถูกรบกวน ขณะเดียวกันก็อาจแปลงกายเป็นสาวงามล่อชายหนุ่มที่ตนพอใจไปสมสู่ยังวิมานของตนได้

ผีเสื้อนา ได้แก่ ผีที่ดูแลรักษาท้องทุ่งนาและต้นข้าว ชาวนามักสร้างศาลเล็กๆ ไว้บริเวณหัวนาหรือดอนนา ในแต่ละปีมักมีการเซ่นสังเวยผีเสื้อนาสองครั้ง ครั้งแรกจะประกอบพิธีพร้อมกับพิธีแรกนาเมื่อเริ่มไถหว่าน ครั้งที่สองประกอบพิธีพร้อมกับการทำขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยว

ผีเสื้อเมือง หมายถึง ผีอารักษ์ที่ดูแลชุมชนระดับเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผีอารักษ์ที่นับถือสืบต่อกันมา อีกส่วนหนึ่งเป็นวิญญาณของบรรพกษัตริย์ อย่างผีเสื้อเมืองของเชียงใหม่มีหลายตน เช่น เจ้าหลวงคำแดง ขุนหลวงวิรังคะ ปู่แสะ ย่าแสะ ปู่ย่า เทวบุตรตนหลวง อารักษ์แม่ระมิงค์ เจ้าหลวงมังราย มังคราม แสนภู คำฟู ผายู กือนา แสนเมืองมา สามฝั่งแกน ท้าวลก ท้าวยอดเชียงราย พระแม่กุ พระเมืองแก้ว พระเมืองเกล้าเจ้ากาวิละ เจ้าช้างเผือก เจ้ามหาเสฏฐี เป็นต้น

ผีเสื้อบ้าน บางแห่งเรียก “ผีเจ้าบ้าน” เป็นผีอารักษ์ที่ดูแลชุมชนระดับหมู่บ้าน ผีเสื้อบ้านบางแห่งเป็นอารักษ์เดิม เช่น เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก เจ้าพ่อเสือดาว เจ้าแสงหล้า บางถิ่นเป็นวิญญาณของผีเจ้านาย และบางหมู่บ้านเป็นวิญญาณของวีรบุรุษ ชาวบ้านล้านนาจะกำหนดเอาเนื้อที่ใดเนื้อที่หนึ่งซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหัวหมู่บ้านหรือกลางหมู่บ้าน บริเวณดังกล่าวมักมีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม และมีการสร้างศาลหรือที่เรียก “หอผี” ไว้ให้เป็นที่สถิต ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา วันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวบ้านจะนำอาหาร ขนมและผลไม้ตามฤดูกาลไปเซ่นไหว้ และในเทศกาลสงกรานต์ก็จะจัดให้มีการ “เลี้ยงผีเสื้อบ้าน” คือประกอบพิธีเซ่นสังเวยประจำปีทุกปีไป

ผีเสื้อวัด คือผีที่ดูแลรักษาวัด บริเวณวัดในแถบล้านนาจะมีการสร้าง “หอผีเสื้อวัด” คือศาลสำหรับเป็นที่สถิตของผีเสื้อวัด โดยเลือกเอามุมสงบใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นที่ตั้งศาล ในวันธรรมสวนะ เมื่อชาวบ้านไปทำบุญก็จะนำอาหาร ขนมและผลไม้ตามควรไปเซ่นไหว้

และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี หรือมีงานบุญใหญ่ก็จะมีการ “เลี้ยงผีเสื้อวัด” เป็นครั้งคราวไป

 

อนึ่ง คำว่า “ผีเสื้อ” ในวรรณกรรมบางเรื่องกล่าวว่าเป็นอมนุษย์ประเภทรากษสหรือนางยักษ์ ซึ่งผีเสื้อประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ดูแล เป็นเพียงแต่ตัวละครปรากฏอยู่ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยสรุป “ผีเสื้อ” ในภาษาล้านนา หมายถึงอมนุษย์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะอารักษ์ผู้ดูแลปกป้อง

หาใช่ผีเสื้อที่หมายถึงแมลงมีปีก อย่างที่เข้าใจกันมาตลอด เพราะผีเสื้อที่เป็นแมลง คนล้านนาเรียกว่า “ก่ำเบ้อ”

 

พิธีเลี้ยงผีเสื้อวัดที่วัดศรีโขง