โพล กับการเมืองไทย/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

โพล กับการเมืองไทย

 

การทำโพล (Poll) เป็นศาสตร์หนึ่งของวิชาวิจัยที่ต้องมีกระบวนการศึกษาดำเนินการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ต้องการ

ในประเทศไทยนั้น คนไทยน่าจะรู้จักเรื่องราวการทำโพลมามากกว่า 40 ปี โดยสถาบันการศึกษาที่ทำโพลซึ่งระบุว่าเป็นสถาบันแรกที่ทำโพลเพื่อสำรวจความเห็นทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 เพื่อสำรวจความเห็นประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปีนั้น

จากนั้นกลายเป็นประเพณีและความนิยมที่เมื่อมีการเลือกตั้ง หรือเมื่อต้องการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การทำโพลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการทุกครั้ง โดยมีสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสำรวจและกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ดำเนินการไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม คำถามใหญ่ที่มักเกิดขึ้นหลังจากนำเสนอผลการสำรวจ คือ การสำรวจดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร ขนาดตัวอย่างและวิธีการสำรวจนั้นเป็นที่ยอมรับทางวิชาการได้หรือไม่ ไปจนถึงการตั้งข้อกังขาว่า ผู้จัดทำโพลมีจิตใจเอนเอียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือได้รับทุนสนับสนุนมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

หรือว่าวันนี้ โพลคือส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองไปแล้ว

 

1.ความเชื่อใน Bandwagon Effect

ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่คนมักจะตัดสินใจตามคนหมู่มาก หรือที่เรียกว่า Bandwagon Effect คือสิ่งที่ฝ่ายการเมืองเชื่อว่าสามารถสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อการเสนอผลการทำโพลที่ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนตนเอง

เหมือนกับจิตวิทยาหมู่ ที่คนอื่นเฮ เราก็เฮตาม

ดังนั้น ในด้านของฝ่ายการเมือง ผู้ว่าจ้างจึงประสงค์เห็นผลโพลออกมาที่สนับสนุนตนเองมากกว่าผลที่เป็นจริง เพราะเชื่อว่าการนำเสนอผลต่อสาธารณะนั้นสามารถนำไปสู่จิตวิทยาหมู่ที่เพิ่มคะแนนนิยมให้แก่ฝ่ายตนเองได้

ในด้านกรรมการการเลือกตั้งในหลายประเทศก็มีความกังวลในเรื่องกระแสทางจิตวิทยา ถึงขนาดมีการออกกฎกติกาห้ามเผยแพร่ผลของการสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนในช่วงเลือกตั้ง เช่น ก่อนปิดหีบเลือกตั้ง 7 วัน หรือ 15 วันก็มี เพราะเกรงว่าผลโพลจะนำไปสู่การโน้มน้าวจูงใจให้เลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง

 

2.การตั้งคำถามที่เอนเอียง

ความน่าเชื่อถือของการทำโพลการเมือง เริ่มต้นจากคำถามที่ใช้ในการทำโพลว่าเป็นคำถามที่เป็นกลาง หรือเอนเอียง (Bias) ไปในทางใดหรือไม่ ผู้ทำโพลแบบมือปืนรับจ้างจะมีวิธีการตั้งคำถามที่โน้มเอียงไปในทางซึ่งมุ่งคำตอบที่ผู้ว่าจ้างต้องการ เช่น การมีคำถามนำ (Leading question) โดยมีเนื้อหาข้อความนำเบื้องต้นในทางที่ชักจูงไปในทิศทางที่อยากให้ตอบ

ตัวอย่างเช่น หากตั้งคำถามว่า จากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงรายวัน ท่านเห็นว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่ในเรื่องการป้องกันโรคระบาดได้ดีหรือไม่

ข้อความในประโยคแรกก็จะเป็นการชักจูงไปสู่การตอบว่าทำได้ดี เป็นต้น

 

3.การกำหนดขนาดตัวอย่างที่พอเพียง

แม้ว่านักวิจัยหลายสำนักมักจะชอบอ้างตารางสำเร็จรูปในการกำหนดขนาดตัวอย่าง (Sample size) ของนักสถิติมีชื่อ ที่ระบุว่าไม่ว่าประชากรจะมีเท่าไร ขนาดตัวอย่างก็จะไม่เกิน 400 ตัวอย่าง แต่หลักการคิดดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้องในกรณีที่ประชากรมีความหลากหลายและกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ดังนั้น หากแบ่งประเทศไทยเป็น 4 หรือ 5 ภูมิภาค จำนวนตัวอย่างควรคูณด้วย 4 หรือ 5 หรือประมาณอย่าง 2,000 ตัวอย่างขึ้นไป และให้มีการกระจายในแต่ละภูมิภาคอย่างเหมาะสม

เช่นเดียวกับในทางสถิติที่คำนวณ หากประชากร คือ 50 ล้านคน (จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยประมาณ) หากต้องการความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ (Margin of error) ร้อยละ 3 ด้วยระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 จำนวนตัวอย่างที่ต้องการ คือ 1,068 คน แต่หากลดความคลาดเคลื่อนเหลือร้อยละ 2 จำนวนตัวอย่างที่ต้องเก็บจะขยับขึ้นไปเป็น 2,401 คน

จำนวนตัวอย่างที่สูงกว่านี้ อาจไม่เป็นประโยชน์ในด้านความคุ้มค่า คือ แม้จะมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นแต่ไม่คุ้มกับการลงทุนที่ใช้ในการเก็บข้อมูล

ดังนั้น หากเห็นโพลใดนำเสนอขนาดตัวอย่างตั้งแต่ 1,000-2,000 ตัวอย่าง ก็พอทำใจถึงความเพียงพอของขนาดตัวอย่างได้

 

4.การเลือกตัวอย่างที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและกระจายทั่วถึง

ขนาดตัวอย่างยังไม่สำคัญเท่าการกระจายของตัวอย่าง ตัวอย่างที่เก็บหากเก็บกระจุกในกลุ่มคนที่มีความนิยมชมชอบทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ผลของการทำโพลที่แม้จะมีขนาดตัวอย่างมากก็อาจบิดเบี้ยวไปในทางใดทางหนึ่งได้

ยิ่งผู้ทำโพลมีเจตนาเก็บข้อมูลในกลุ่มที่มีมีทัศนคติเอนเอียง เช่น สำรวจจากผู้ชมรายการของช่องทีวีที่นิยมรัฐบาลหรือช่องที่ต่อต้านรัฐบาล ผลการสำรวจแม้จะออกมาเทไปทางใดทางหนึ่ง นั่นไม่ใช่ความเห็นของสาธารณะที่พึงรับฟัง

การกระจายนั้นเป็นการมุ่งกระจายตามคุณลักษณะพื้นฐานของประชากร เช่น เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา ภูมิลำเนา การออกแบบการสุ่มที่ดีจึงเป็นฝีมือของคนทำโพลที่จะทำให้ตัวอย่างมีการกระจายตามคุณลักษณะทั่วไปดังกล่าวได้มากที่สุด

ดังนั้น รายการโพลใดที่น่าเชื่อถือ ต้องดูเรื่องการกระจายของตัวอย่างในการเก็บข้อมูล หากมาจากพิธีกรถามในช่องที่ไม่เป็นกลางก็จบกัน

 

5.การใช้ประโยชน์ของการทำโพล

โพลทางการเมืองสามารถแยกเป็น 2 ประเภท คือ โพลสาธารณะ และโพลภายใน โดยประเภทแรกมุ่งนำเสนอผลต่อสาธารณะ ดังนั้น ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการการแยกแยะว่าเป็นโพลวิชาการที่เป็นกลาง หรือเป็นโพลที่มีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของฝ่ายการเมืองที่ว่าจ้างผ่านสถาบันทำโพลต่างๆ ซึ่งดูได้ไม่ยากจากคำถาม การกระจายตัวอย่างและวิธีการนำเสนอ ซึ่งจะเชื่อทั้งหมดหรือฟังหูไว้หู หรือโยนทิ้งไปแล้วพร้อมทำ Black list สถาบันโพล ก็แล้วแต่วิจารณญาณของผู้อ่าน

ส่วนโพลภายในนั้น เป็นโพลที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจทางการเมือง หากพรรคการเมืองผู้ว่าจ้างรู้จักใช้ประโยชน์จริง เช่น เมื่อรู้ว่าคะแนนนิยมของพรรคตนตกต่ำในพื้นที่ใด การเร่งแก้ไขเพื่อสร้างคะแนนนิยมคืนมาจะได้ดำเนินการได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ พรรคการเมืองบางพรรค ยังใช้การทำโพลภายในเพื่อการจัดเกรดผู้สมัครของพรรค เป็นเกรด A B C หรือ D เพื่อใช้ในการพิจารณาตัวผู้สมัคร หรือกำหนดวงเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการหาเสียงซึ่งมักจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

ยิ่งหากรู้จักแนวทางการวิเคราะห์แบบสองมิติ (Two dimensions analysis) ที่รู้จักแยกแยะตามตัวแปรต้นที่น่าสนใจ เช่น เพศใดมีความนิยมพรรคมากกว่า อายุช่วงใดที่เป็นจุดแข็งจุดอ่อน พรรคได้คะแนนนิยมในกลุ่มอาชีพใด หรือวิเคราะห์แยกย่อยลงในระดับพื้นที่ได้

ผลการทำโพลภายในจะมีประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

 

โดยสรุป

การทำโพลจึงเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการเมือง

โดยเฉพาะสำหรับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ประสงค์จะทราบถึงทัศนคติที่แท้ของประชาชน

เพียงแต่ผู้ทำโพลต้องมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพและฝ่ายการเมืองต้องกล้ายอมรับความจริงเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข

หากจะเอาแต่อวยเพื่อสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้นำประเทศแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ต้องเสียค่าจ้างทำโพลหรอกครับ

เทียนไขหนึ่งเล่มราคาเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น