วีรบุรุษท้องถิ่นใต้อำนาจรวมศูนย์/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วีรบุรุษท้องถิ่นใต้อำนาจรวมศูนย์

 

เมืองพะเยาผิดหูผิดตาไปเลย

ไม่ได้ผิดหูผิดตาสำหรับคนที่คุ้นกับพะเยาเท่านั้น แต่น่าจะผิดหูผิดตาแก่นักท่องเที่ยวที่ช่างสังเกตด้วย เพราะแตกต่างจากเมืองในภาคเหนือตอนบนทั่วไป ที่มักพยายามสร้างและจัดเมืองสำหรับนักท่องเที่ยว แต่พะเยาสร้างและจัดเมืองไว้สำหรับชาวเมืองของตัวเองก่อน ถึงกระนั้น ก็ไม่มีอะไรขัดขวางมิให้นักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์

ระหว่างการขยายถนน “ชายกว๊าน” ซึ่งแคบและแออัด กับการกันพื้นที่ริมกว๊านไว้ให้ชาวเมืองใช้ร่วมกัน เขาเลือกอย่างหลัง

พื้นที่ซึ่งกันไว้กว้างทีเดียว มีแนวรั้วกันมิให้รถยนต์หรือมอ’ไซค์เข้าไป เพื่อความปลอดภัย ทำเลนจักรยานด้วยสี แต่เป็นเลน ไม่ใช่ลู่ ผู้คนอาจเดินหรือวิ่งเข้ามาบนทางสีนี้ได้ โดยไม่สะดุด เป็นการแบ่งพื้นที่กันใช้อย่างพอเหมาะ

ส่วนที่ชิดกว๊านมีม้านั่งยาวเป็นระยะ รวมทั้งก้อนหินประดับใต้ไม้ใหญ่ที่อาจนั่งพักผ่อนได้ ทุกเช้า-เย็นจะเห็นชาวเมืองพะเยาจำนวนมาก ออกมาใช้พื้นที่ซึ่งจัดไว้นี้ บ้างวิ่ง, บ้างเดินเร็ว, บ้างเดินทอดน่อง, บ้างขี่จักรยาน และอีกจำนวนไม่น้อยนั่งตกปลา

ขึ้นชื่อว่าเมือง ทรัพยากรย่อมถูกใช้หลายทาง จะจัดให้ทุกคนได้ใช้โดยไม่รบกวนกันได้อย่างไร ปลาในกว๊านเป็นทรัพยากรร่วมกันของทุกคน รวมทั้งชาวบ้านในตำบลริมกว๊านอื่นๆ ด้วย แต่การตกปลาริมกว๊านดูจะเป็นการแบ่งทรัพยากรกันใช้คนละทางได้อย่างดี บางคนตกเอาไปกิน อีกบางคนตกเล่น เมื่อได้ปลาแล้วก็ปล่อยกลับลงกว๊านไป แม้แต่คนที่ตกเอาไปกินหรือขาย หากได้ปลาเล็กก็มักปล่อยกลับคืน เพราะทรัพยากรปลาเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติของเขา จึงไม่คิดใช้อย่างพล่าผลาญ และอีกจำนวนไม่น้อย (รวมนักท่องเที่ยวด้วย) ที่มักซื้อปลาปล่อยลงกว๊านเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือความเชื่ออื่นๆ เพิ่มจำนวนปลาตามธรรมชาติในกว๊านให้มีอยู่

บนพื้นที่นี้ มีคนขายของในหลายลักษณะ นับตั้งแต่เร่ขายไปจนถึงตั้งแผงเล็กๆ รวมทั้งในช่วงที่มีลานกว้างอีกฝั่งหนึ่งของถนน ก็อาจมีรถเปิดท้ายขายขนมหรืออื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ไม่นับร้านค้าของอีกฝั่งถนนซึ่งเปิดมานานแล้ว และดูจะมุ่งบริการนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

การทำเมืองให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างที่มักทำกันในเมืองทั่วไป คือการทำให้เมืองกลายเป็นฉากละครยิ่งใหญ่วิบวับตระการตา (เช่น ประดับเสาไฟฟ้าด้วยลวดลายตุ้งแช่ไปทั้งเมือง) ก็คงได้ผลเหมือนกัน คือดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนุกตื่นเต้นสักพักหนึ่ง อย่างที่ฉากละครประเภทนี้มักทำได้เช่นกัน แต่แล้วก็เบื่อ ต้องไปเที่ยวหาฉากใหญ่ๆ อย่างเดียวกันในที่อื่นดูบ้าง

ตรงกันข้ามกับฉากละคร การแทรกเข้าไปร่วมใช้ชีวิตจริงกับผู้คนพื้นถิ่น กลับมีเสน่ห์ดึงดูดได้นานกว่า ทุกวันของชีวิตได้เข้าไปร่วมใน “ประสบการณ์” อะไรบางอย่าง ไม่ใช่เพียงได้ “เห็น” สิ่งแปลกๆ เท่านั้น

เจ้าของโรงแรมโฮมสเตย์ที่เราไปพักบอกว่า เมื่อก่อนโควิด คนต่างชาติที่มาเช่าห้องของเขามักเช่าอยู่เป็นเวลานานๆ เสมอ เป็นเดือนบ้าง เดือนหลายเดือนบ้าง

อนุสาวรีย์พญางำเมืองที่ตั้งในสวนสาธารณะเปลี่ยนไปมาก แต่เดิมมีแต่รูปพญางำเมืองประทับยืนอยู่อย่างเดียว ปัจจุบันเขาสร้างฉากหลังเพื่อเพิ่มความอลังการของอนุสาวรีย์ แต่เป็นฉากที่ใหญ่เกินไปไม่ได้สัดส่วน จนครอบพญางำเมืองให้เล็กลง และกลายเป็นเครื่องประดับของฉาก แทนที่ฉากควรเป็นเครื่องประดับของอนุสาวรีย์

เข้าใจว่าราชการ “จังหวัด” เป็นผู้สร้างและปรับปรุงอนุสาวรีย์และลาน มีงานพิธีกรรมสักการะพญางำเมืองทุกปี โดยมีท่านผู้ว่าฯ เป็นประธาน

 

ปรากฏการณ์สร้าง “อัตลักษณ์” ของจังหวัด เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดทั่วประเทศ แต่ผมคิดว่ามี “อัตลักษณ์” ที่แย้งกันเองในจังหวัดต่างๆ เสมอ ฝ่ายหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ราชการส่วนกลางมองเห็นและมอบให้ อีกส่วนหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ชาวบ้านในจังหวัดนั้นๆ ให้ความสำคัญ

เช่น กว๊านพะเยาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองพะเยาในสายตาของประชาชน (อันที่จริงกว๊านเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อก่อน “ญี่ปุ่นขึ้น” นี่เอง กว๊านจึงไม่เกี่ยวอะไรกับพญางำเมืองหรือเมืองภูกามยาว) เทศบาลจึงลงทุนทำพื้นที่ริมกว๊านให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่พญางำเมืองเป็นสัญลักษณ์ที่ประวัติศาสตร์ฉบับราชการเลือกให้เป็นอัตลักษณ์ของเมืองพะเยา ดังนั้น “จังหวัด” จึงสร้างอนุสาวรีย์และพิธีกรรมขึ้นเพื่อตอกย้ำ

จะว่าแย้งกันโดยตรงก็คงไม่ใช่นะครับ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้หน้าศาลากลาง แต่สร้างขึ้นในสวนสาธารณะของเทศบาล ซึ่งอยู่หน้ากว๊านนั้นเอง เท่ากับรวมอัตลักษณ์สองอย่างเข้าด้วยกัน

แต่เนื่องจากราชการย่อมมีกำลังมากกว่า ทั้งกำลังเงินและกำลังการบริหารจัดการ นับวันอัตลักษณ์ของจังหวัดต่างๆ จึงตกอยู่ในกำกับของฝ่ายราชการมากขึ้นทุกที อย่างน้อยก็ยอมรับสัญลักษณ์ที่ราชการมอบให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์

 

ที่น่าสนใจก็คือ สัญลักษณ์ที่ราชการสร้างขึ้นเหล่านี้ เข้าไปพัวพันกับชีวิตผู้คนไม่สู้จะมากนัก แม้พิธีกรรมงานฉลองอาจเป็นข่าวในสื่อมากกว่าก็ตาม เช่นในเชียงใหม่ ระหว่างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กับอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผู้คนสักการะบูชารูปประติมากรรมหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวถึงครูบาฯ มากกว่าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์อย่างเทียบกันไม่ได้

อันที่จริงพญามังรายก็เคยเป็นผีหรือเทพประจำเมืองมาก่อน เคยมีพิธีกรรมประจำปีเพื่อสักการะพระสถูปที่กล่าวกันว่าเป็นที่เก็บอัฐิของพญามังรายที่ข่วงกลางเวียง และในตำนานที่กล่าวกันว่าท่านสวรรคตเพราะต้องอสนีบาต จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่สื่อความการเสด็จกลับไป “ฟ้า” อันเป็นที่มาของ “เจ้า” ในประเพณีไทยได้ดี ชื่อ “มังราย” ก็เหมือนชื่อ “อู่ทอง” ของอยุธยา จะมีคนจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ตาม แต่เป็นที่มาของความชอบธรรมแห่งระเบียบแบบแผนของบ้านเมือง เช่น กฎหมาย เป็นต้น

แต่ความนับถือ “วีรบุรุษ” ท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีอะไรที่ราชการจะสามารถดึงมาใช้เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดได้ เพราะพญามังรายก็ตาม ครูบาศรีวิชัยก็ตาม ล้วนชี้ไปทางที่แสดงความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น เมื่อราชการจะสร้างอนุสาวรีย์ จึงต้องสร้าง “สามกษัตริย์” ตรงตามท้องเรื่องในตำนาน ที่กษัตริย์รัฐแว่นแคว้นสามแห่งมาร่วมมือกันสร้างเมืองเชียงใหม่ หนึ่งในกษัตริย์สามองค์นั้นคือพระเจ้ารามคำแหงถูกผนวกเข้ามาเป็นกษัตริย์ของไทยสยาม จึงทำหน้าที่ดึงเอารัฐแว่นแคว้นของสองกษัตริย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยสยามในอนุสาวรีย์ไปด้วย

หากไม่นับพิธีกรรมของราชการแล้ว ลานสามกษัตริย์ในเชียงใหม่แทบไม่มี “หน้าที่” อะไรเกี่ยวกับประชาชนชาวเชียงใหม่เอาเลย (นอกจากใช้ยืนประท้วงการขังลืมผู้ต้องหาคดี ม.112)

เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์พระไชยบูรณ์ที่เมืองแพร่ ซึ่งถูกพวกกบฏสังหารในระหว่างประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านกรุงเทพฯ ที่เรียกกันว่า “กบฏเงี้ยว” ก็ไม่ได้รับความใส่ใจจากชาวแพร่มากนัก แม้ว่าจะมีพิธีกรรมวางพวงมาลาของราชการทุกปีก็ตาม

ผมไม่ทราบว่า เจ้าหมื่นด้งนครเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวลำปางหรือไม่เพียงไร แต่ไม่มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ในลำปาง ทั้งๆ ที่ในฐานะเจ้าเมืองลำปาง และเป็นนักรบฝีมือฉกาจที่สามารถขับไล่อิทธิพลของอยุธยาออกไปจากส่วนใหญ่ของภาคเหนือตอนล่าง อาจกล่าวว่าเป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าติโลกราชที่แทบจะชิงเอาแว่นแคว้นสุโขทัยจากอยุธยามาได้ ถ้าจะมีวีรบุรษแห่งเมืองลำปาง ก็หาใครอื่นมาเทียบกับหมื่นด้งนครได้ยาก

เสียอยู่อย่างเดียว ถึงท่านจะเป็นวีรบุรุษ แต่ก็เป็นศัตรูตัวฉกาจของไทยสยามไปพร้อมกัน

 

อํานาจครอบงำอัตลักษณ์ของราชการส่วนกลางเหนือจังหวัดต่างๆ นั้น สะท้อนอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ วีรบุรุษ-สตรีท้องถิ่นต้องมีความเกาะเกี่ยวกับรัฐส่วนกลางให้ได้ในทางใดทางหนึ่ง หากไม่สามารถทำให้เกาะเกี่ยวได้เลยแล้ว ก็กลายเป็นผีหรือเทพ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ในท้องถิ่น อาจมีพิธีกรรมของชาวบ้านในการเคารพบูชา แต่ก็เป็นประเพณีที่ไร้ความหมายลงไปทุกที จนกว่าจะหาหรือสร้างความเกาะเกี่ยวกับรัฐส่วนกลางให้ได้

ดังกรณีของพญามังราย จะเกาะเกี่ยวกับรัฐส่วนกลางได้ก็ต่อเมื่อเชื่อมโยงกับพระเจ้ารามคำแหงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ท่านเป็นเหมือนพระเสื้อเมืองของเชียงใหม่ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่นั่นคือเชียงใหม่ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไทยสยาม (พระเสื้อเมืองคือผีบรรพบุรุษของ “เจ้า” ซึ่งคอยปกปักรักษาลูกหลานและประชาชนสืบมา และคอยกำกับให้ลูกหลานประพฤติให้ถูกต้องตามจารีตประเพณี)

อันที่จริง เราก็อาจใช้ตำนานเดียวกันโยงพญางำเมืองเข้ากับพระเจ้ารามคำแหงได้เช่นกัน แต่ตำนานนั้นกลับไปเล่าความในตอนท้ายให้พญางำเมืองผิดใจกับพระเจ้ารามคำแหง จึงยากที่จะใช้ตำนานนั้นสำหรับสร้างอัตลักษณ์ของพะเยา

การสร้างฉากหลังให้อนุสาวรีย์อย่างใหญ่โตและอลังการ จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำให้ความหมายของพญางำเมืองสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐส่วนกลาง ก็เป็นได้ แต่ผมก็อธิบายไม่ได้ว่าเชื่อมโยงอย่างไร

ในขณะที่แรงกดดันให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองมีเพิ่มขึ้น จนส่วนกลางต้องเปิดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งหลายระดับ แต่วัฒนธรรมที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองในท้องถิ่นก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดนัก มีประเพณีใหม่ๆ ของท้องถิ่นที่ถูกสร้างขึ้นไม่น้อยก็จริง แต่ล้วนเป็นประเพณีเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อันเป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะ “รวมศูนย์” อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะดูจากทุน, การจัดการ และ “สินค้า” ที่ขายแก่ตลาดท่องเที่ยว

ถ้าสักวันหนึ่ง อิสรภาพในการปกครองและจัดการตนเองของท้องถิ่นสมบูรณ์กว่าปัจจุบัน เช่น ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นได้เอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบสังคม, การศึกษา, สาธารณสุข และทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ผมก็หวังว่า แต่ละท้องถิ่นจะแสดงอัตลักษณ์เฉพาะของตนเองได้จริง เกิดความหลากหลายของทางเลือกในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยวได้มากกว่าการเสนอจุดน่าสนใจจากส่วนกลางเพียงด้านเดียว