อ่านความเป็นไทย Thailand Pavilion ใน World Expo 2020 (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

อ่านความเป็นไทย

Thailand Pavilion

ใน World Expo 2020 (จบ)

การเล่นกับ “ความเป็นไทย” ในการออกแบบไม่ใช่เรื่องเชยหรือน่าเบื่อ

แต่เล่นอย่างไรถึงจะไม่ถลำลงไปสู่ความหมกหมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องของตัวเอง และเล่นแค่ไหนถึงจะสามารถสนทนากับประเด็นสากลร่วมสมัยไปพร้อมๆ กับการแสดงความเป็นตัวเองได้ไปพร้อมกัน

นี่คือประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากทดลองเสนอสำหรับการออกแบบศาลาไทยในครั้งหน้า

 

คําถามนี้คือปัญหาโลกแตกนะครับ ในวงการสถาปัตยกรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาต่างถกเถียงกันตลอด

มีนักวิชาการบางท่านพยายามที่จะจำแนกแยกประเภทระดับของการเล่นกับความเป็นไทยจากมากไปสู่น้อย ด้วยคำนิยามต่างๆ เช่น สถาปัตยกรรมไทยประเพณี, สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์, สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ฯลฯ

แต่คำเหล่านี้ก็มีความหมายที่เลื่อนไหลเกินไปจนหลายครั้งกลับสร้างปัญหาในการทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นไปเสียอีก

เพื่อความชัดเจนในการจำแนก ผมเลยอยากจะชวนมองวิธีการออกแบบความเป็นไทยโดยประยุกต์เทียบเคียงกับแนวคิดว่าด้วย “สัญญะศาสตร์” (Semiotics) ของ Charles Sanders Peirce

โดยย่อที่สุด สัญญะศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษากระบวนการสื่อความหมายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมิใช่การสื่อความหมายผ่านการพูดเพียงอย่างเดียวนะครับ

การแสดงท่าทาง การเดิน ยืน นั่ง การแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ อาหารที่เรากิน รถที่เราขับ บ้านที่เราอยู่ ฯลฯ ทุกอย่างล้วนทำหน้าที่สื่อสารความหมายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ทั้งสิ้น

ซึ่งทั้งหมดจะถูกเรียกว่าเป็น “สัญญะ” (Sign)

ที่มาภาพ : https://artsnobs.wordpress.com/2016/08/25/semiotics-wk-4/

ในแต่ละสัญญะจะมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น “ตัวหมาย” หรือ “รูปสัญญะ” (Signifier) และ “ตัวหมายถึง” หรือ “ความหมายสัญญะ” (Signified)

ตัวอย่างเช่น การมอบคลานคือการแสดงความหมายของสถานะที่ต่ำต้อยกว่าของผู้มอบคลาน ในกรณีนี้ การแสดงท่าทางมอบคลานคือ “รูปสัญญะ” ส่วนสถานะที่ต่ำต้อยคือ “ความหมายสัญญะ”

ซึ่งตามทัศนะของ Peirce การสร้าง “สัญญะ” ต่างๆ สามารถจำแนกรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง “รูปสัญญะ” กับ “ความหมายสัญญะ” ออกได้เป็น 3 ประเภท คือ Icon, Index, และ Symbol

Icon คือ “สัญญะ” ที่ “รูปสัญญะ” กับ “ความหมายสัญญะ” สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นด้วยคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก เช่น ภาพวาด portrait บุคคล หรืออนุสาวรีย์รูปบุคคล

Index คือ “สัญญะ” ที่ “รูปสัญญะ” กับ “ความหมายสัญญะ” มีลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผลกันผ่านตัวชี้นำบางอย่าง เช่น ควันชี้นำเราไปสู่ไฟ หรือรอยเท้าสัตว์ที่ชี้นำเราให้รู้ว่าคือสัตว์ชนิดไหน

Symbol คือ “สัญญะ” ที่ “รูปสัญญะ” กับ “ความหมายสัญญะ” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลกันเลย (arbitrariness) เราจะเข้าใจความหมายของสัญญะประเภทนี้ได้ต้องอาศัยการเรียนรู้จดจำเท่านั้น เช่น ภาษา หรือการให้ดอกกุหลาบที่สื่อความหมายถึงความรัก

 

สัญลักษณ์ห้องน้ำหญิงและชายในภาพ คือตัวอย่างของการออกแบบสัญญะทั้ง 3 ประเภท

ภาพซ้ายคือ Icon คือการใช้รูปทรงของมนุษย์ผู้หญิงและผู้ชายแบบตรงไปตรงมาเพื่อแสดงความหมายของห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย

ภาพกลางคือ Index ที่เลือกใช้หนวดเป็น “ตัวชี้นำ” ไปสู่ความเป็นผู้ชายและห้องน้ำชาย ส่วนเสื้อชั้นในเป็น “ตัวชี้นำ” ไปสู่ความเป็นผู้หญิงและห้องน้ำหญิง

ส่วนภาพขวาคือ Symbol ซึ่งเราจะมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องอะไรเลยระหว่างความเป็นชายกับรูปวงกลมที่มีลูกศรชี้ออกมา และไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยระหว่างความเป็นหญิงกับรูปวงกลมที่มีกากบาทยื่นออกมา

เรารับรู้ได้ว่ามันคือสัญญะของห้องน้ำชายและหญิงผ่านการบอกและจดจำเท่านั้น

 

ทั้งหมดที่อธิบายมาเกี่ยวข้องอย่างไรกับข้อเสนอแนะเรื่องการเล่นกับ “ความเป็นไทย” ในศาลาไทย หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยใช่ไหมครับ

ที่ยกมายืดยาวข้างต้น ผมกำลังจะบอกว่า การสร้างความเป็นไทยในศาลาไทยในงาน World Expo ทุกครั้งซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดด้วย คือการสร้างสัญญะแบบ Icon ที่แทบจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา

ในปีล่าสุดนี้ สถาปนิกเลือกที่จะใช้ “ม่านมาลัยดอกรัก” และ “หลังคาจั่วทรงสูง” ในการสื่อความหมายของความเป็นไทย ซึ่งการเลือกตรงนี้ไม่มีผิดหรือถูกนะครับ เป็นเรื่องของมุมมอง เพียงแต่การเลือกของสถาปนิก มิใช่การลงไปตีความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” ด้วยตัวเองโดยตรง แต่เป็นเพียงการเลือกใช้ “สัญญะ” ที่คนในอดีตเคยสร้างขึ้นมาแล้ว มาใช้อย่างตรงไปตรงมาจนเกินไป

ที่สำคัญคือ การหยิบ “สัญญะ”เก่ามาใช้ยังเลือกวิธีการแบบ Icon อีกด้วย กล่าวคือ การออกแบบของสถาปนิกใช้รูปแบบของม่านมาลัยดอกรักอย่างตรงไปตรงมาแทบจะ 100 % โดยความแตกต่างมีเพียงอย่างเดียวคือขนาดที่ใหญ่กว่าอย่างมหาศาลจากต้นแบบ ส่วนการเลือกหลังคาจั่วทรงสูงก็เช่นกัน แทบจะจำลองรูปทรงของหลังคาวัดมาแปะไว้ตรงๆ ทื่อๆ หน้าอาคาร

แน่นอน วิธีการดังกล่าวไม่เสียหายอะไร เพียงแต่มหกรรม World Expo คืองานระดับโลกที่เรียกร้องความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่

ดังนั้น สิ่งที่ศาลาไทยแสดงออกมามันจึงขัดแย้งกับเป้าหมายที่ควรจะเป็นและทำลายความคาดหวังของวงการออกแบบสร้างสรรค์ไทย

 

ข้อเสนอของผมคือ ในงานครั้งหน้า ผู้เกี่ยวข้องกับการออกแบบศาลาไทยควรวางทิศทางการออกแบบให้ชัดเจนเลยว่าจะไม่ใช้แนวทางแบบ Icon แต่จะกำหนดให้ใช้แนวทางแบบ Index (ที่ไม่ได้หมายถึงชื่อบริษัทที่รับผิดชอบการสร้างศาลาไทยที่ดูไบปีนี้นะครับ) ในการสร้างความเป็นไทยแทน

ที่สำคัญ สถาปนิกควรพุ่งตรงไปที่การตีความความเป็นไทยโดยตรงด้วยตัวของตัวเอง อย่าอาศัยเพียงสัญญะเดิมมาใช้อย่างมักง่าย หรือถ้าคิดไม่ออกจริงๆ การเลือกสัญญะเดิม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะโบราณ สถาปัตยกรรมประเพณี ดอกบัว งอบ ชะลอม ฯลฯ ก็ไม่ควรออกแบบที่เถรตรงจนเกินไปด้วยวิธีแบบ Icon

แต่ควรมองหาบางสิ่งบางอย่างที่ “ชี้นำ” (Index) โดยอ้อมแทน สถาปนิกต้องพยายามที่จะสร้างความเชื่อมโยงทางรูปแบบในลักษณะที่สัมผัสกันอย่างเบาบางมากกว่าตรงตัวชัดเจน

เป็นการออกแบบที่เมื่อมองดูแล้วจะรู้สึกได้เพียงกลิ่นอายบางอย่างของสัญญะเดิม แต่ก็ไม่ชัดเจนว่ามันคืออะไร เป็นความคลุมเครือที่จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ได้ แต่จะว่าใช่เป๊ะๆ ก็ไม่ได้เช่นกัน

ขอยกตัวอย่าง Philippines Pavilion ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อขยายความ

 

ผู้ออกแบบตีความ “ความเป็นฟิลิปปินส์” โยงเข้ากับแนวปะการัง โดยยกความสัมพันธ์อันแนบแน่นหลายพันปีระหว่างคนฟิลิปปินส์กับธรรมชาติ นี่คือการตีความอัตลักษณ์ขึ้นใหม่ โดยไม่ผ่านการใช้สัญญะเดิม

เมื่อเลือกใช้แนวปะการัง ผู้ออกแบบก็มิได้ขยายขนาดปะการังให้ใหญ่ขึ้นจนเสมือนเดินเล่นอยู่ในตู้ปลายักษ์แต่อย่างใด

แต่กลับเลือกใช้เส้นโค้งเลื่อนไหลเสมือนคลื่นน้ำ และใช้แสงสีฟ้า (ในยามค่ำ) เพื่อสร้างบรรยากาศแบบท้องทะเลให้เกิดขึ้น

เมื่อเรามองอาคารนี้ แน่นอนว่าเราไม่เห็นแนวปะการังใต้ท้องทะเลอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อฟังแนวคิดของผู้ออกแบบแล้ว ผู้ชมจะพบความเชื่อมโยงบางๆ ระหว่างโครงเหล็กโค้งไปมาของ Philippines Pavilion โดยเฉพาะหากมาเยี่ยมชมในตอนค่ำ กับแนวปะการังอย่างไม่ต้องสงสัย

วิธีการนี้คือการสร้างสัญญะแบบ Index ที่อยากจะให้ศาลาไทยทดลองทำดูสักครั้ง

และเมื่อการออกแบบไม่เถรตรงจนเกินไป มันย่อมเหลือพื้นที่ให้กับการใส่ความหมายใหม่ๆ เข้ามาด้วยไปพร้อมกัน ซึ่งความหมายใหม่ดังว่าก็คือการเปิดบทสนทนากับประเด็นสาธารณะสากล ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน, สภาวะโลกร้อน, ความยั่งยืน ฯลฯ ให้เข้ามาผนวกรวมกับความเป็นไทยนั่นเอง

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ผมไม่คิดว่าเราควรเล่นกับการสร้างสัญญะในแบบ Symbol ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกหลายระดับ เพราะวิธีนี้คือการสร้างความหมายใหม่ที่ตัดขาดจากสัญญะเดิมทั้งหมด ซึ่งอาจจะยังไม่เหมาะนักกับวงการสถาปนิกไทย

(ตัวอย่างของงานที่อาจจะเรียกได้ว่าคือการสร้าง Symbol ที่ประสบความสำเร็จก็คือ หอไอเฟลในงาน World Expo ปี 1889)

 

ย้อนกลับมาที่ข้อเสนอในบทความนี้ ผมคิดว่ามันไม่ยากเกินความสามารถของสถาปนิกไทยแน่นอน

มีเพียงเงื่อนไขเดียวที่คอยฉุดรั้งความสามารถของสถาปนิกไทยเอาไว้ก็คือ ระบบราชการที่ยังคงมองหาความเป็นไทยแบบ Icon ต่างหาก

คำกล่าวประเภทที่ว่า “คุณจะออกแบบอาคารเป็นอะไรก็ได้ รูปแบบอย่างไรก็ได้ แต่สุดท้าย คนต้องดูออกว่านี่เป็น Pavilion ของประเทศไทย” สะท้อนทัศนะแบบ Icon ที่ล้าหลังนี้อย่างชัดเจน

หากวงการสถาปนิกไทยมีความกล้ามากพอที่จะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการนิยามความเป็นไทยที่หลากหลายขึ้นด้วยวิธีใหม่ๆ

ลดความเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย และยื่นหยัดในหลักการสำคัญของวิชาชีพนี้ที่ต้องการอิสระในการสร้างสรรค์

ผมเชื่อว่า ศาลาไทยใน World Expo ครั้งหน้าจะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของไทยในเวทีระดับโลกอย่างแน่นอน

ใต้ภาพ

ที่มาภาพ : https://artsnobs.wordpress.com/2016/08/25/semiotics-wk-4/